ไม่พบผลการค้นหา
กรมการแพทย์ เตือนคนทำงานกลางแจ้งเสี่ยงโรคลมแดด แนะหากมีสัญญาณเตือน เพลียหน้ามืด หรือเริ่มเป็นตะคริว ควรพาหลบแดดเข้าที่ร่มและปฐมพยาบาล หากปล่อยทิ้งไว้อาจหมดสติและเสียชีวิต

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อน และมีอากาศร้อนจัด บางพื้นที่อุณหภูมิสูงสุดอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประชาชนอาจเป็นโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้ คนทำงานกลางแจ้งที่เสี่ยงต่อโรคลมแดด เช่น กรรมกรก่อสร้าง, เกษตรกร, ทหาร, นักกีฬา, ผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ไทรอยด์เป็นพิษ, คนอ้วน, ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ, และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

โรคจากความร้อนมีอาการหลายอย่างตามลำดับขั้นของอุณหภูมิที่สูงขึ้น เช่น การมีผื่นขึ้นตามตัว, ตัวบวม, อาการอ่อนเพลีย หรือที่เรียกว่าเพลียแดด, เป็นตะคริว, คลื่นไส้อาเจียน, ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ, ความดันโลหิตต่ำ, หัวใจเต้นเร็ว, ชัก, มึนงง, หน้ามืด, หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ 

ด้าน นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันโรคลมแดด ขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด ดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้าน และพยายามดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย สีอ่อน ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดรูป สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาโลชั่นกันแดด หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

หากพบเห็นผู้เป็นลมแดดให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นน้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว