ไม่พบผลการค้นหา
ชาวนาในพื้นที่รับน้ำจากถ้ำหลวง รอผลการประเมินเยียวยา ชี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกระทบทำนาบ้างแต่ไม่มาก หวังรัฐบาลให้ชดเชยมากกว่าไร่ละ 1,00 บาท

นายไทร ทองไทย อายุ 48 ปี ชาวนาพื้นที่บ้านสันปูเลย ต.บ้านด้าย อ.แม่สาย จ.เลย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำเข้าสู่นา จากปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเมี แม่สาย เปิดเผยว่า น้ำท่วมมานานหลายวันแล้ว ต้นข้าวที่ปลูกก่อนหน้านี้ได้รับความเสียหายประมาณ 10 ไร่ จากทั้งหมด 26 ไร่ ถือว่าไม่มาก ซึ่งการชดเชยของภาครัฐประมาณ 1,000 บาท พอบรรเทาความเดือดร้อนได้ แต่หากได้มากกว่านี้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการลงทุนทำนาข้าวแต่ละไร่หลายพันบาท 

เช่นเดียวกับ นายถนอม ติป้อ อายุ 54 ปี ชาวนาบ้านสันปูเลย ต.บ้านด้าย อ.แม่สาย จ.เชียงราย เปิดเผยว่า มีที่นาอยู่ 15 ไร่ เริ่มปลูกข้าวมา 15 วัน จากนั้นน้ำท่วม ทำให้ต้นกล้าบางส่วนได้รับความเสียหายเน่าตาย ทั้งนี้ยอมรับถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ช่วยทีมหมูป่าให้สำเร็จ จึงคิดว่ารัฐชดเชยให้เท่าไหร่ก็ยอมรับ เนื่องจากปกติที่นาอยู่บนที่สูงไม่เคยท่วม อย่างไรก็ตามกังวลว่านาที่ปลูกเป็นนาหว่าน ไม่ใช่นาดำ อาจจะไม่เข้าเกณฑ์การชดเชย 

ด้านนายสุขชัย เจรียงประเสริฐ เกษตรจังหวัดเชียงราย ระบุว่า มีเกษตรกรที่มาลงทะเบียนได้รับผลกระทบเป็นพื้นที่รับน้ำ 1,397 ไร่ ประกอบด้วยเกษตรกรใน 3 ตำบล คือ ต.ศรีเมืองชุม ต.โป่งผา และต.บ้านด้าย คิดเป็นร้อยละ 8 ของพื้นที่ทำนาทั้งหมด สำหรับขั้นตอนการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ชดเชยไร่ละ 1,113 บาท ซึ่งนาต้องเสียหายอย่างสิ้นเชิง 

โดยวันที่ 9 ก.ค.นี้ คณะกรรมการตรวจระดับหมู่บ้านตรวจสอบจะลงพื้นที่เพื่อดูสภาพความเสียหายหลังน้ำท่วมมาแล้ว 10 วัน จากนั้นจะถ่ายรูปล่าสุดและสรุปความเสียหายที่แท้จริง ปิดประกาศ 3 วัน ส่งให้คณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาต่อไป คาดว่าทั้งกระบวนการจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ทั้งนี้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายมีเพียงพื้นที่นา ยังไม่มีการเกษตรด้านอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ดังนี้

1. หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ไว้ก่อนเกิดภัย และช่วยเหลือเกษตรกรตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ รายละไม่เกิน 30 ไร่

2. อัตราการช่วยเหลือ

  • ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท
  • พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท
  • พืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท

3.ขั้นตอนและวิธีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ

  • เมื่อเกิดภัยพิบัติ และผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ
  • ผู้ว่าราชการจังหวัด/นายอำเภอประกาศให้เกษตรกรยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) และมีการรับรองโดยผู้นำท้องถิ่น
  • การตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย มีการตรวจสอบกับทะเบียนเกษตรกร รวมถึงคณะกรรมการตรวจสอบระดับหมู่บ้านตรวจสอบพื้นที่เสียจริงและรับรอง หลังจากนั้นทำการบันทึกและประมวลข้อมูล ติดประกาศคัดค้านไม่น้อยกว่า 3 วัน
  • เสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอ/จังหวัด (ก.ช.ภ.อ./ก.ช.ภ.จ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยใช้เงินทดรองในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด วงเงิน 20 ล้านบาท ซึ่งหากไม่เพียงพอ นำเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อขอใช้เงินทดรองราชการในอำนาจปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 50 ล้านบาท

จิตอาสายืนยันร่วมทำหน้าที่จนกว่าภารกิจการนำตัวทีมหมูป่าออกจากถ้ำให้สำเร็จ

ที่วนอุทยานถ้ำหลวง -ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ตลอดทั้งวันเจ้าหน้าที่ยังคงปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเดินตามแผนให้การช่วยเหลือทีมหมูป่า อะคาเดมี ทั้งการสูบน้ำออกจากถ้ำ การปรับพื้นที่แฉะ และการค้นหาโพรงถ้ำที่มีความเป็นไปได้ว่าจะตรงกับจุดที่ทั้ง 13 คนอยู่ภายในถ้ำ

ขณะที่นายเอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ หรือ ไทด์ หัวหน้าอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู เปิดเผยว่า ทีมกู้ภัยได้รับมอบหมายให้ช่วยสกัดโพรงจากโถง3 เข้าไปด้านใน เนื่องจากว่าเป็นโพรงขนาดเล็กมาก หากขยายใหญ่ได้จะเพิ่มความสะดวกในการลากสายเคเบิ้ลและท่อจ่ายออกซิเจน เข้าไปให้ถึงจุดที่สมาชิกหมูป่าอยู่ที่เนินนมสาว ทั้งนี้อุปสรรคใหญ่อยู่ที่ปริมาณน้ำที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าลดได้ต่ำกว่านี้ประมาณ 1 เมตร คาดว่าจะออกมาได้ 

ส่วนการทำงานของจิตอาสาตลอดทั้งวันมีประชาชนเดินทางมาช่วยงานอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ความชำนาญทางวิชาชีพของแต่ละคน เช่น นางอัศฐาพร ณ นคร ศรีวิชัย จิตอาสานวดหน้าผ่อนคลาย เดินทางมาจากจ.นครศรีธรรมราช บอกว่า เดินทางมาจากบ้านที่นครศรีธรรมราช หลังดูข่าวมาอย่างต่อเนื่องเห็นความเหนื่อยล้าของผู้ที่มาทำงาน จึงอยากเดินทางมาช่วยโดยใช้การความรู้ด้านการนวดเส้นผ่อนคลาย เช่นเดียวกับ น.ส.กนกวรรณ เตชะชื่น ชาว จ.เลย เพิ่งมาจากประเทศญี่ปุ่น อาสามาช่วยนวดผ่อนคลาย โดยจะอาสามานวดต่อเนื่องจนกว่าจะเดินทางกลับวันที่ 20 ก.ค.นี้ และอีกหนึ่งจิตอาสา คือ นายพันธ์พงษ์ พรมแดง ช่างตัดผม เดินทางจาก กทม. ทิ้งรายได้วันละ 1,000-2,000 บาท มาอาสาบริการตัดผมฟรีให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชนที่มาทำงานในครั้งนี้ โดยยังไม่มีกำหนดกลับ เพราะอยากอยู่ถึงวันที่ทีมหมูป่าได้ออกมาจากถ้ำหลวง

ตร.ตชด.เร่งสำรวจโพรงถ้ำช่วยทีมหมูป่า

ขณะที่ เจ้าหน้าที่จากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 32 ตำรวจพล ทีมกู้ภัย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ขึ้น เฮลิคอปเตอร์ เบล 412 จากลานกีฬาอำเภอแม่สาย ขึ้นไปไป สำรวจโพรงที่อยู่ เหนือบริเวณ พัทยาบีช โดยจากการสอบถามเบื้องต้น กับ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ ผอ. ศปก.ตร. ระบุว่า ทางทหาร และ ชาวบ้านในพื้นที่พ่อหลวง ซาเจ๊ะ ได้กำหนดจุดพิกัด ในการเข้าไป สำรวจโพรง โดยที่ผ่านมามีการสำรวจไป หลาย 10 จุด แต่ก็พบอุปสรรค ทั้งเป็นโพรงตัน และ อยู่ไกลจากจุดที่ตัวเด็กอยู่ 

ซึ่งการขึ้นไปสำรวจโพรงนั้น ถือว่าเป็นอีก แนวทางในการ นำตัวเด็กออกมาจากถ้ำ ถ้าหากปริมาณน้ำไม่ลดลง และหากเมื่อเจอโพรง ที่เชื่อมถึงจุดเนินนมสาว ก็จะใช้ มัลติพอตในการชักลอก ตัวเด็กขึ้นไป เพราะจะมีความปลอดภัย ต่อให้สุขภาพเด็กไม่แข็งแรงก็สามารถที่จะนำขึ้นมาได้ แต่เมื่อนำออกมาได้ จะบินไปส่งยังโรงพยาบาลเลยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกองอำนวยการร่วม ว่าจะดำเนินการอย่างไร 

อีกทั้งการสำรวจนั้นจะดำเนินการตลอด 24 ชม. ในการค้นหา และหากพบก็จะนำเด็กขึ้นมาทันทีโดยจะประเมินจากความเสี่ยง