ไม่พบผลการค้นหา
เทคโนโลยีล้ำสมัยที่แทรกซึมอยู่ในทุกมิติของชีวิต กำลังทำให้ประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กๆ ที่เกิดหลังปี 2018 เป็นต้นไป แตกต่างจากประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าสิ้นเชิง และสถานการณ์น่าสนใจที่อาจจะเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง ไปดูกัน

1. ความล่าช้า และน่าเบื่อ เวลาเดินทาง

หากย้อนเวลากลับไปราวๆ 40 ปีก่อน การเดินทางทางอากาศเป็นสิ่งที่มีราคาแพงแสนแพง เวลาใครสักคนจะบินออกนอกประเทศช่างดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ซึ่งภาพประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่า โลกการเดินทางทางอากาศก้าวล้ำไปไกลขนาดไหน เพราะปัจจุบันความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมการบินทำให้เส้นขอบฟ้าเต็มไปด้วยนวัตกรรมทันสมัย บวกกับระบบความบันเทิงภายในเที่ยวบินที่พัฒนาต่อเนื่อง ทำให้การเดินทางไกลกลายเป็นเรื่องง่าย สะดวกสบาย และดับความฟุ้งซ่านได้ดี

อย่างไรก็ตาม หลังจากเครื่องบินคองคอร์ด (Concorde) ถูกปลดประจำการ และหายเข้าไปในประวัติศาสตร์การบินไปเมื่อ 15 ปีก่อน มนุษยชาติไม่ใกล้ความสำเร็จเรื่องการความเร็วในการเดินทางอีกเลย หรือแม้กระทั่งความเร็วของการคมนาคมภาคพื้นดินก็ค่อนข้างจำกัด หลายคนต่างเฝ้ารอการกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งของบริการซูเปอร์โซนิค ซึ่งนับเป็นความท้าทายทางวิศวกรรมการบินมาก

แต่กระนั้น ล่าสุด การพัฒนาเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง (Supersonic Planes) กำลังทำให้การบินเชิงพาณิชย์ด้วยเครื่องบินเจ็ทประสิทธิภาพสูงกลับมาปฏิวัติวงการเดินทางทางอากาศอีกครั้ง หรือนวัตกรรมไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ของบริษัทเทสล่า มอเตอร์ อิงค์ อาจพิสูจน์ได้ว่า รถไฟความเร็วสูงรูปร่างคล้ายแคปซูลอะลูมิเนียม สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 1,280 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นอกจากนั้น ประเด็นความสะดวกสบายของนักเดินทาง ส่งผลให้สายการบินในสหรัฐฯ มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ กำลังมองหาไอเดียสร้างสรรค์ที่นั่งที่มาพร้อมความเป็นส่วนตัว ระบบความบันเทิง และมุมมองแบบ 360 องศา โดยทางแอร์บัสเริ่มเสนอให้ที่นั่งมาตรฐานสำหรับเครื่องบินชั้นประหยัดระยะไกลต้องมีขนาดความกว้าง 18 นิ้ว ซึ่งช่วยทำให้คุณภาพในการนอนหลับของผู้โดยสารดีขึ้นถึง 53 เปอร์เซ็น นั่นความหมายว่า ในอนาคตเด็กๆ ที่เกิดหลังปี 2018 อาจจะหมดโอกาสสัมผัสกับความเจ็บปวดจากเที่ยวบินแออัดยัดเยียดอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลานาน พร้อมกับสนุกสนานกับพื้นที่อันกว้างขวางประหนึ่งห้องนั่งเล่นแทน

2. การสอบใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล

ปัจจุบันการขอใบอนุญาตขับขี่เป็นเหมือนพิธีกรรมทางการเดินทางของคนรุ่นใหม่ คล้ายๆ กับสัญลักษณ์การเปลี่ยนผ่านที่เด็กคนหนึ่งจะได้รับการยอมรับว่า ‘เป็นผู้ใหญ่’ ทว่าเด็กเกิดใหม่ในปี 2018 ต้องรอให้ตัวเองอายุครบ 18 ปีก่อนไปสอบใบขับขี่ ขณะเดียวกันการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองกำลังถูกนำมาใช้ และอาจส่งผลให้พิธีกรรมการขอใบอนุญาตขับขี่ถูกยกเลิกไปก่อนที่พวกเขาจะเป็นวัยรุ่น

นอกจากนั้น ตามรายงานของศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐฯ (Centers for Disease Control – CDC) ระบุว่า เมื่อปี 2015 วัยรุ่นอายุ 16-19 เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ประมาณ 6 รายต่อวัน และสาหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่มาจากความผิดพลาดของมนุษย์ ดังนั้น หากแก้ปัญหาด้วยการเอามนุษย์ออกจากสมการ ดูเหมือนจะเป็นทางออกของการช่วยชีวิตผู้คนทุกเพศทุกวัย จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองจึงมีความสำคัญมากสำหรับหลายๆ คน

3. ธนบัตรกับการจับจ่าย

แม้การเกิดขึ้นของบัตรเครดิตจะเป็นระเบิดครั้งใหญ่ ครั้งแรก ที่มาทำลายสังคมเงินสด แต่นั่นไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะปัจจุบันธนบัตร หรือเงินกระดาษ กำลังถูกถล่มหลักด้วยเพล์พอล (PayPal) เวนโม (Venmo) แอปเปิ้ล เพล (Apple Pay) และตัวเลือกการชำระเงินอื่นๆ

ที่สำคัญ รัฐบาลของหลายๆ ประเทศเริ่มนำนโยบายการจับจ่ายด้วยช่องทางดิจิทัลมาใช้กันแล้ว อย่างประเทศสวีเดน การชำระเงินค่ารถประจำทางก็หันมาใช้รูปแบบดิจิทัล เพื่อป้องกันการปล้นเงินสดคนขับรถประจำทาง อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังรู้สึกปลอดภัย และสะดวกรวดเร็วอีกด้วย โดยมีการคาดการณ์กันว่า สวีเดนจะไม่ใช้เงิดสดเลยภายในปี 2030

ดังนั้น หากนับตามเวลาที่เด็กเกิดในปี 2018 จะเติบโตขึ้นจนมีเงินเดือนเป็นของตัวเอง พวกเขาจะมีตัวเลือกการชำระเงินที่เพิ่มมากขึ้น และการลงทุนในตลาดเงินดิจิตัลใหม่ๆ (Crypto Currency) กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก ทำให้อีกไม่นานเกิดรอ การใช้เงินสดน่าจะถูกปลดระวางลงถาวร อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความปลอดภัยจะกลายเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกรรม

4. พื้นที่เงียบๆ ในเมือง

จำนวนพลเมืองโลกที่มากเกินไป เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญมักเอ่ยขึ้นมา เมื่อเปิดการสนทนาเกี่ยวกับความจำเป็นที่มนุษยชาติต้องเดินทางออกไปสู่จักรวาล และการเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบก็เป็นปัญหาของโลกมานานหลายทศวรรษแล้ว เพราะมันทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า พื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลง และยังเพิ่มปัญหามลพิษทางเสียงด้วย ดังนั้น ในอนาคตประชากรเกือบครึ่งโลกต้องทนทุกข์กับเสียงแตร เสียงไซเรน เสียงกรีดร้อง และเสียงขุดเจาะแบบไม่เคยเป็นมาก่อน

ทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า เสียงดังรบกวนกำลังจะกลายเป็นวิกฤติสุขภาพหนักสุดในโลกอนาคต โดยข้อมูลจากสหประชาชาติประมาณการว่า ภายในปี 2100 ประชากรโลก 84 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 10.8 พันล้านคนจะอาศัยอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษทางเสียง ทำให้ทารกหลายคนที่เกิดมาในปี 2018 ไม่มีวันได้ทำความรู้จักกับเสียงของความเงียบอีกเลย

5. กำแพงภาษา

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแปล การพัฒนาแอปพลิเคชัน และซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์รูปแบบใหม่ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ปูทางให้การสื่อสารราบรื่น อย่างวิดีโอคอลล์ยอดนิยม สไกด์ (Skype) หันมาเพิ่มคุณสมบัติแปลภาษาแบบเรียลไทม์ เพื่อเปิดโลกการสื่อสารยุคใหม่ ส่วนกูเกิลก็เพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ชื่อ กูเกิล พิกเซล บัดส์ (Google Pixel Buds) หูฟังอัจฉริยะที่แปลได้ 40 ภาษาแบบเรียลไทม์เช่นกัน ด้านแบรนด์ชิเซโด (Shiseido) กลุ่มบริษัทข้ามชาติของญี่ปุ่น กำหนดให้ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2018 ภาษาอังกฤษต้องเป็นภาษาหลักขององค์กร เพื่อให้พนักงงานทุกคนสามารถสื่อสารระหว่างประเทศกันได้

ดังนั้น เด็กที่เกิดในปี 2018 อาจพบว่า ตัวเองโตขึ้นมาในโลกที่ปราศจากอุปสรรคด้านภาษา เพราะทุกคนสามารถพูดคุยกับทุกคนได้สบายๆ ความคิดเกี่ยวกับภาษาต่างชาติอาจหมดไปในไม่ช้า จนในที่สุดเทคโนโลยีอาจยุติอุปสรรคด้านภาษาบนโลกได้