พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ ออนไลน์" และ "ไทยรัฐ ออนไลน์" ว่า นโยบายการเสริมสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ มีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะกับประเทศจีน และได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยและจีน เพื่อพิจารณาแนวทางจัดตั้งโรงงานซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ และแนวทางดำเนินการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ขณะนี้ ได้ตกลงเรื่องการซ่อมบำรุงขั้นต้น และจัดตั้งคลังสะสมชิ้นส่วนซ่อมที่สำคัญ สำหรับรถถัง VT-4 รถสายพานลำเลียงพล VN-1 รวมทั้งซ่อมบำรุงสายพานลำเลียงพล T-85 ที่มีใช้ในกองทัพบท ซึ่งหลังจากหารือกับกระทรวงกลาโหมจีนแล้ว ก็เหลือแต่เสนอแผนที่ต้องการให้ฝ่ายจีนสนับสนุน โดยในปลายเดือน ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา ได้กำหนดรูปแบบการจัดตั้งโรงงานขึ้นมา โดยมีผู้แทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เข้าร่วมให้ข้อมูล
เนื่องจากการดำเนินการต้องทำตาม พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ถือหุ้น 51% สำหรับเงินที่จะใช้ในการจัดตั้งจะจัดสรรจากงบประมาณที่จัดสรรจากรัฐบาล หรือ จากงบฯ ที่ภาคเอกชนระดมทุนร่วมกัน ส่วนอีก 49 % จะเป็นของจีน ซึ่งอาจจะเป็นบริษัท โนรินโก้ หรือ บริษัทที่เป็นผู้แทนของรัฐบาลจีนกำหนดขึ้นมา
นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหม ยังได้กำหนดแผนงานไว้ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้นคือ ปี 2560 - 2564 จะจัดตั้งโรงงานซ่อมบำรุงสนับสนุนโดยตรง ให้กับรถถัง ม.พัน 6 ที่จังหวัดขอนแก่น และ จัดตั้งคลังสะสมชิ้นส่วนซ่อมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และ ซ่อมบำรุงรถสายพานลำเลียง T-85 ของกองทัพบก อีก 80 คัน โดยจะดำเนินการให้เสร็จในปี 2562 สำหรับระยะกลางคือปี 2565 - 2569 จะจัดตั้งโรงซ่อมยุทโธปกรณ์ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีตามแผนการลงทุนไทย – จีน และในระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2570 จะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนในการร่วมดำเนินการมากขึ้น
ดังนั้น ในภาพรวมของงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาโครงการที่ผ่านการวิจัย เช่น กล้องตรวจการณ์เวลากลางคืน อากาศยานไร้คนขับ เสื้อเกราะกันกระสุน การผลิตกระสุนปืนใหญ่ ที่ผ่านการวิจัยเพื่อมาพัฒนาผลิตสู่การใช้งานจริง
อีกด้านหนึ่ง สมาคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นมีภาคเอกชนเป็นสมาชิกได้ทำงานร่วมกับภาครัฐมานาน และพร้อมจะเข้ามาระดมทุนร่วมผลิต หรือเป็นตัวแทนให้กับภาครัฐ นำไปสู่การดำเนินการในระยะสุดท้าย ที่ต้องการให้ พ.ร.บ.อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่กำลังร่างอยู่ ทำให้ภาคเอกชนแข็งแรงและยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง จากกฎหมายตัวเดิมที่ไม่สามารถตอบสนองในเรื่องการผลิตไปสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยกระทรวงกลาโหม ได้รับคำแนะนำจากกระทรวงการคลัง ว่าต้องปรับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. เป็นองค์กรมหาชน
"จะเห็นได้ว่าเฟสแรกเป็นการขอต่อรองเพิ่มเติมจากการจัดหาทั้งศูนย์ซ่อมที่ขอนแก่น และ คลังสะสมอะไหล่ที่โคราชของรถถังจีน วีที-4 จะเห็นได้ว่าในอดีตเราซื้ออะไรมา เราซื้ออย่างเดียว ไม่ได้กำหนดอะไร พอมารัฐบาลปัจจุบันก็บอกว่าซื้ออย่างเดียวไม่ได้แล้ว เช่น ประกอบจากข้างนอกมาก่อน 30% ที่เหลืออีก 40% ต้องมาประกอบข้างใน และที่เหลือต้องมาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเรา ไม่ใช้ซื้อแล้วยกมาทั้งหมด นอกจากนั้น ในส่วนประเทศอื่นก็มีความร่วมมือทางเทคนิคทางทหารกับ รัสเซีย ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ สำหรับยูเครน ก็อยากมาลงทุนร่วมกับเรา แต่เขายังไม่มีความพร้อม เนื่องจากมีปัญหาสงครามของเขา ทำให้สายการผลิตกับต่างประเทศไม่ได้ ในส่วนของตะวันออกกลาง อยากลงทุนเรื่องรถยนต์บรรทุกทางทหาร ขณะนี้ความสัมพันธ์เรากับประเทศต่างๆ ค่อนข้างดี “โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ไปศึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ในการลงทุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เหมือนการลงทุนในเชิงพาณิชย์ด้วย เราก็จะผลักดันตรงนี้ไปควบคู่กับเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ด้วย ดังนั้น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทางบีโอไอก็จะต้องไปคุยเรื่องสิทธิประโยชน์กับคนที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งเชื่อว่าแนวทางที่ทำอยู่นี้น่าจะทำให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเดินต่อไปได้ เพราะไทยมีความได้เปรียบเรื่องภูมิยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางทางบกในอาเซียน และ ประเทศรอบบ้านก็จะมีส่วนที่มีอาวุธจีนเข้าประจำการ การลงทุนครั้งนี้อาจจะพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมในอาเซียนได้
ผู้สื่อข่าวยังสอบถามด้วยว่า จะถือว่าเป็นการหมดยุคของค่าคอมมิชชั่นจัดซื้ออาวุธ พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า จะใช้คำว่าหมดยุคคอมมิชชั่น หมดยุคนายหน้า คงไม่ได้ เพราะตนไม่ทราบ แต่ พล.อ.ประวิตร ต้องการให้การจัดหาอาวุธผูกเรื่องผลประโยชน์ที่กองทัพได้รับ ต่อไปจะเป็นการซื้อตรงแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล มีการต่อรองเพื่อขอให้เข้ามาประกอบในไทย ถ่ายทอดเทคโนโลยี ตั้งโรงงานซ่อมบำรุงร่วมกัน พัฒนาไปสู่ในเรื่องการร่วมผลิต
อ่านเพิ่มเติม :