ผู้เชี่ยวชาญหลายร้อยคนจากทั่วโลกได้ร่วมกันเขียนรายงานประเมินว่าสิ่งมีชีวิตจำนวนมากบนโลกกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังลดลงในอัตราที่เร็วมาก โดยเซอร์ โรเบิร์ต วัตสัน ประธาน IPBES กล่าวว่า สุขภาพของระบบนิเวศที่เราและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาศัยอยู่ กำลังถดถอยลงอย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เรากำลังทำลายรากฐานของเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพและคุณภาพชีวิตของเราทั่วโลก
รายงานฉบับนี้ถูกนำเสนอเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา บนเวทีแนวนโยบายวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลว่าด้วยบริการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ หรือ IPBES ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ รายงานฉบับนี้เป็นการสรุปผลที่ผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันตรวจสอบสถานะของสิ่งมีชีวิตบนโลกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลมากกว่า 15,000 แห่งเพื่อประเมินอย่างเป็นระบบว่า มนุษย์ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างไร และจะกระทบต่ออนาคตของมนุษยชาติอย่างไรบ้าง
การล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศของโลกไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็มีรายงานที่แสดงให้เห็นว่า เรากำลังอาศัยอยู่ในยุคแห่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ตั้งแต่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นบนโลกนี้ แต่รายงานฉบับนี้ได้นำข้อมูลมาสนับสนุนเรื่องการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ให้ชัดเจนขึ้น
รายงานฉบับนี้สรุปว่าอย่างไร?
รายงานฉบับนี้ยังระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์มาจากการที่มนุษย์ปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ทั้งทางบกและน้ำอย่างรวดเร็ว และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์รุกรานต่างถิ่นก็ทำให้สายพันธุ์ดั้งเดิมสูญพันธุ์ด้วย
ผู้เชี่ยวชาญได้เสนอว่า เป้าหมายตอนนี้ในการปกป้องโลก ป้องกันหรือฟื้นฟูความเสียหายอาจสำเร็จได้ด้วยการจัดระบบระเบียบกันใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ปัจจัยด้านเทคนิค เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงกระบวนทัศน์ เป้าหมายและค่านิยมทั้งหมด
สัตว์ 4 สายพันธุ์ที่พ้นความเสี่ยงสูญพันธ์แล้ว
Global Citizen องค์กรไม่แสวงหากำไรที่เคลื่อนไหวเพื่อยุติความยากจนสุดขีดได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับสัตว์ 4 สายพันธุ์ที่พ้นความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์แล้ว และทำให้นักอนุรักษ์มีความหวังว่า จำนวนประชากรสัตว์โลกใกล้สูญพันธุ์จะเพิ่มขึ้น
1. วาฬหลังค่อม
ช่วงปี 1980 วาฬหลังค่อมถูกล่าเหลือเพียงร้อยละ 10 จากจำนวนประชากรที่พวกมันเคยมี จนกระทั่งมีประกาศแบนการล่าวาฬหลังค่อมเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์
ปัจจุบัน ประชากรวาฬหลังค่อมเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับปลอดภัยแล้ว โดยวาฬหลังค่อมบริเวณเกาะฮาวายมีจำนวนเพิ่มจาก 800 ตัวในปี 1979 ขึ้นมาเป็น 10,000 ตัวในปี 2015 หลังสหรัฐฯ ออกกฎหมายปกป้องสายพันธุ์เสี่ยงสูญพันธุ์หรือ ESA
2. เต่าตนุแอตแลนติกเหนือ
เต่าตนุแอตแลนติกเหนือก็เป็นสัตว์อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่พ้นจากภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์หลังมีการประกาศใช้ ESA โดยประชากรของเต่าตนุแอตแลนติกเหนือในปี 2016 เพิ่มขึ้นถึง 980% จากเมื่อปี 1989 เพราะแหล่งที่อยู่อาศัยของมันถูกปกป้องจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ทั้งการล่า เก็บไข่ และการเข้าไปรบกวนในพื้นที่วางไข่ของพวกมัน
นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎสำหรับการทิ้งอุปกรณ์ประมงที่อาจเป็นอันตรายกับสัตว์น้ำอีกด้วย เนื่องจากภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของเต่าเหล่านี้ก็คือการประมงขนาดใหญ่ รวมถึงการทิ้งเศษซากต่างๆ จากอุตสาหกรรมประมง เช่น ตาข่ายและเบ็ด
3. กอริลลาภูเขา
เมื่อ 10 ปีก่อน กอริลลาภูเขาจัดอยู่ในประเภทใกล้การสูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ เพราะถูกล่า โรคระบาด แหล่งที่อยู่อาศัยถูกรุกราน และพื้นที่ป่าลดลง แต่ปัจจุบัน พวกมันได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ในประเภทใกล้การสูญพันธุ์ เนื่องจากนักอนุรักษ์ได้ระดมกำลังในการปกป้องกอริลลาภูเขาเอาไว้ โดยนักอนุรักษ์มุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของชุมชน การป้องกันการติดโรค และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งความพยายามเหล่านี้สามารถเป็นตัวอย่างในการอนุรักษ์สายพันธุ์อื่นๆ ทั่วโลกด้วย
4. ปลาดาว
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปจนสัตว์บางสายพันธุ์ไม่สามารถอยู่อาศัยในถิ่นฐานเดิมได้ ในปี 2013 นักวิทยาศาสตร์พบว่า ปลาดาวบริเวณชายฝั่งอเมริกาเหนือตายจำนวนมาก และพบว่าเชื้อโรคที่เติบโตขึ้นจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นตัวการทำให้ปลาดาวตาย อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พบว่า ปลาดาวรุ่นหลังมานี้ได้พัฒนาภูมิคุ้มกันไวรัสขึ้นแล้ว และจำนวนประชากรของพวกมันก็ค่อนข้างเสถียรแล้ว
ทั้งนี้ ไม่ใช่สัตว์ทุกชนิดที่จะสามารถปรับตัวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและปัจจัยคุกคามอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็วอย่างปลาดาว แต่พวกมันก็เป็นหนึ่งในสัตว์ที่แสดงให้ว่า สัตว์บางสายพันธุ์ยังสามารถปรับตัวได้ดี
ที่มา : CNET, Global Citizen