ไม่พบผลการค้นหา
คอหนังญี่ปุ่นไม่ควรพลาด กับการดูหนังญี่ปุ่นคุณภาพในโรงภาพยนตร์บ้านเรา พร้อมแนะนำเรื่องเด็ดที่ "คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง" คัดสรรมารีวิวให้แล้วในคอลัมน์ สำส่อนทางความบันเทิงวันนี้

ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีมีอีเวนต์สำคัญของเหล่านักดูหนังนั่นคือ เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น หรือ Japanese Film Festival มีจุดเด่นตรงที่ไม่ได้จัดฉายในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังเดินสายไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ เชียงใหม่, โคราช และภูเก็ต ซึ่งปีที่แล้วทางเทศกาลจัดโปรแกรมหนังได้เข้มข้นจนเซอร์ไพรส์ มีหนังเครียดๆ หลายเรื่องอย่าง Creepy, Harmonium หรือแอนิเมชั่นแสนเศร้าอย่าง In This Corner of the World

ดูเหมือนปีนี้ทางมูลนิธิญี่ปุ่น (Japan Foundation) ผู้จัดงานจะปรับอารมณ์ของโปรแกรมให้สว่างและอบอุ่นขึ้น ในภาพรวมไลน์อัพหนังปีนี้อาจไม่แข็งแรงเท่าปีที่แล้ว แต่ก็ยังมีความน่าสนใจไม่น้อย ดังนั้นจากภาพยนตร์ทั้งหมด 11 เรื่องนี้ในเทศกาล เราก็ขอแนะนำ 3 เรื่องไม่ควรพลาดให้ลองพิจารณากันครับ




The Long Excuse2.jpg

1. The Long Excuse

หนังเรื่องนี้น่าสนใจตรงที่เป็นผลงานของผู้กำกับหญิง มิวะ นิชิคาวะ อย่างที่ทราบกันดีว่าสัดส่วนคนทำหนังผู้หญิงในวงภาพยนตร์ญี่ปุ่นนั้นมีจำนวนน้อยนิด และแม้นิชิคาวะจะทำหนังยาวมาตั้งแต่ปี 2003 ผลงานของเธอมักอยู่ในระดับกลางๆ และไม่ได้โดดเด่นจนขนาดติดอันดับหนังแห่งปี ทว่าดูเหมือน The Long Excuse จะกลายเป็นหนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดของนิชิคาวะ

นิชิคาวะสร้าง The Long Excuse จากนิยายของเธอเอง เล่าถึงซาจิโอะ นักเขียนหนุ่มชื่อดังที่สูญเสียภรรยาไปในอุบัติเหตุรถยนต์ แต่เขาไม่ได้รักภรรยาอีกต่อไปแล้ว ตอนที่เธอตายเขากำลังระเริงสุขอยู่กับชู้ด้วยซ้ำ ถึงกระนั้นซาจิโอะจำต้องแสร้งเป็นเศร้าเสียใจต่อสาธารณชนด้วยสถานะของนักเขียนเซเล็บ



The Long Excuse4.jpg

จุดเด่นของ The Long Excuse คือการนำเสนอตัวละครที่น่ารังเกียจอย่างซาจิโอะ เช่นว่าหลังจากงานศพเมีย เขาก็ยังจะหลับนอนกับชู้ เป็นฝ่ายหลังเสียอีกที่ต้องขอหยุดความสัมพันธ์พร้อมกับถามซาจิโอะว่าคุณไม่รู้สึกอะไรบ้างหรือไง อย่างไรก็ดี ซาจิโอะไม่ได้เป็นคนชั่วร้ายเหลือทน เขาไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เขาคือคนที่มีความเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ ซึ่งบางทีเราๆ ท่านๆ เองก็เป็นคนแบบนั้น

ชีวิตของซาจิโอะพลิกผันเมื่อเขาได้พบกับโยอิจิ เพื่อนเก่าที่เสียภรรยาไปจากอุบัติเหตุเดียว ด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่ทราบซาจิโอะเสนอตัวช่วยดูแลลูกทั้งสองของโยอิจิ แต่ด้วยความที่ตัวเองไม่มีลูก งานบ้านอะไรก็ไม่เคยทำ ความสัมพันธ์ของซาจิโอะกับเด็กๆ จึงเต็มไปด้วยความวายป่วง พล็อตหนังแนวสำรวจมนุษย์และครอบครัวเว้าแหว่ง อาจชวนให้นึกถึงหนังของฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะนิชิคาวะเคยเป็นผู้ช่วยของโคเรเอดะมาก่อน

ข้อดีของ The Long Excuse คือการไม่ได้เลือกคลี่คลายด้วยหนทางแบบโลกสวย การช่วยดูแลเด็กสองคนไม่อาจทำให้ซาจิโอะกลายเป็นคนดีในพริบตา เขาอาจไม่มีความรักต่อเด็กเหล่านั้น เขาอาจจะไม่เคยรักภรรยาของตัวเองเลย แต่อย่างน้อยที่สุดดูเหมือนซาจิโอะจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง อาจเป็นการพยายามเข้าใจมนุษย์คนอื่นมากขึ้น อันเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยใส่ใจมาก่อน




closeknit_still1-1-1000x600.jpg

2. Close Knit

เรื่องนี้ก็เป็นผลงานของผู้กำกับหญิงเช่นกัน นั่นคือ นาโอโกะ โอกิกามิ เจ้าแม่หนังสโลว์ไลฟ์ + มินิมอล ที่คนไทยคุ้นเคยผลงานของเธอดีจากเรื่อง Kamome Diner (2006) หรือ Rent-a-Cat (2012) เธอหายหน้าไปถึงห้าปี ก่อนจะกลับมากับ Close Knit (2017) หนังที่เล่าถึงโทโมะ เด็กหญิงวัย 11 ขวบที่แม่หนีตามผู้ชาย จนเธอต้องไปอาศัยอยู่กับน้าชายที่ตอนนี้กำลังอยู่กินกับผู้หญิงข้ามเพศ

โดยปกติแล้วหนังของโอกิกามิมักมีจังหวะการดำเนินเรื่องที่อ้อยอิ่งและไม่มีพล็อตเรื่องอะไรให้จับต้องมากนัก แต่ดูเหมือนใน Close Knit เธอจะเลือกใช้โครงสร้างการเขียนบทที่เป็นขนบมากขึ้น เรื่องราวถูกผลักดันด้วยสถานการณ์มากมาย มีการเร้าอารมณ์ในหลายฉาก หากแต่ก็ไม่ได้ฟูมฟายเกินเหตุ



closeknit_still2.JPG

ใจความหลักของ Close Knit คือการสำรวจโทโมะกับครอบครัวใหม่ที่มีสมาชิกเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงปฏิกิริยาตอบรับจากคนรอบข้าง ทั้งเพื่อนร่วมชั้นหรือพ่อแม่ของเพื่อน เอาเข้าจริงประเด็น LGBT ใน Close Knit ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่หรือน่าตื่นเต้นอะไรนัก แต่หากมองด้วยบริบทของสังคมญี่ปุ่นที่เรื่องทำนองนั้นยังไม่เปิดกว้างนัก (เช่น เหล่าคนดังแทบไม่มีใครกล้าเปิดเผยเรื่องเพศสภาพ) หนังเรื่องนี้ก็ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง

สิ่งที่น่าชื่นชมในตัวโอกิกามิคือเธอถ่ายทอดแทบทุกฉากในหนังเรื่องนี้อย่างละเอียดลออ ดูเหมือนเธอจะจงใจให้เราได้เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของน้าชายกับคนรักผ่านสายตาของโทโมะ ราวกับว่าคงมีแต่พวกเด็กๆ ที่ยังมีสายตาบริสุทธิ์เพียงพอจะไม่มองกลุ่ม LGBT ด้วยอคติ ความเข้าใจและยอมรับในเรื่องเพศสภาพอาจเกิดขึ้นได้กับคนรุ่นใหม่ ส่วนพวกผู้ใหญ่กร้านโลกอาจจะหวังอะไรไม่ได้แล้ว




Survival Family

3. Survival Family

ถ้าพูดชื่อของผู้กำกับ ชิโนบุ ยากุจิ อาจจะไม่คุ้นหูกันนัก แต่ชาวไทยหลายคนต้องเคยผ่านตาผลงานของเขาแน่นอน เพราะยากุจิคือเจ้าของหนังฮาเฮอย่าง Waterboys (2001) และ Swing Girls (2004) หนังใหม่ล่าสุดของเขาอย่าง Survival Family (2017) ยังคงเป็นหนังตลก ว่าด้วยครอบครัวพ่อแม่ลูกสองในโตเกียวที่อยู่ดีๆ ไฟฟ้าก็ดับทั้งเมือง รถไฟไม่วิ่ง รถสตาร์ทไม่ติด กระทั่งนาฬิกายังไม่เดิน ผู้เป็นพ่อจึงตัดสินใจว่าหนทางรอดคือต้องออกจากโตเกียวให้เร็วที่สุด

แต่เนื่องจากการใช้พลังงานใดๆ ล้มเหลว ครอบครัวนี้จึงต้องเดินทางดันด้วยการปั่นจักรยานอันแสนทุลักทุเล แถมระหว่างทางยังประสบปัญหานานัปการ ไม่มีอาหาร ขาดน้ำ ไร้ที่นอน จนสมาชิกครอบครัวทะเลาะกันหนัก ฝ่ายภรรยาและลูกเริ่มไม่ไว้ใจในตัวพ่อมากขึ้นทุกที เป็นการวิพากษ์เรื่องสถานะผู้นำครอบครัวของเพศชาย อันเป็นประเด็นที่พบได้บ่อยครั้งในภาพยนตร์ญี่ปุ่น (เรื่องดังก็เช่น Tokyo Sonata)

แม้จะมีคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจและดูมีศักยภาพเป็นหนังฮาสนั่นได้ แต่ดูเหมือนยากุจิจะไม่ได้มีเป้าประสงค์เรื่องความตลกเป็นหลัก บรรยากาศของ Survival Family ออกจะแปลกสักหน่อย มันมีความตลกและความซีเรียสอยู่ในปริมาณเดียวกัน หนังเลยออกมาครึ่งๆ กลางๆ แต่ก็มีประเด็นน่าขบคิด นอกจากเรื่องความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก เรื่องพลังงานก็อาจเป็นผลพวงของปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากเหตุสึนามิ 11 มีนาคม 2011

อย่างไรก็ดี แม้ Survival Family จะไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบ แต่ฉากจบของหนังก็เรียกได้ว่าเป็นหมัดฮุคเบาๆ ที่ ‘เอาอยู่’ ทีเดียว มันเป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่เรียกว่าครอบครัวนั้นไม่ว่าจะบิดเบี้ยวเพียงใด มันก็ยังเรียกว่าครอบครัวอยู่ดี ซึ่งพิสูจน์ได้ชัดจากหนังทั้งสามเรื่องที่ยกมาในข้อเขียนนี้


**เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2561 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ (2-11 ก.พ.) เชียงใหม่ (23-25 ก.พ.) โคราช (2-4 มี.ค.) และภูเก็ต (9-11 มี.ค.) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://th.japanesefilmfest.org/