นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าตนในฐานะอดีตสื่อมวลชน เห็นว่าการที่สื่อมวลชนรัฐสภาถ่ายภาพ สนช. นั่งหลับดังกล่าว ก็ไม่ใช่การตกแต่งภาพ หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง แต่เป็นภาพจริงที่เกิดขึ้น คำพูดล้านคำยังไม่เท่าภาพที่เห็น เพราะวันดังกล่าวมีการฟังผู้นำพูดเรื่องใช้เงินภาษีประชาชนในการพิจารณา พรบ. งบประมาณจริง
ดังนั้น หากสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ทำหน้าที่แทนประชาชนเจ้าของเงินภาษี ด้วยการอภิปรายให้ข้อคิด ทักท้วง ติดตาม ตรวจสอบ ในการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลติดต่อกันถึง 4 ปี เป็นเงินหลายล้านบาท จนไม่รู้ว่าลูกหลานจะใช้หนี้หมดกันตอนไหน
ตนเชื่อว่าคงจะไม่มีใครง่วงนอนอย่างแน่นอน ถึงแม้ สนช.คนไหนจะไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วย รัฐสภาก็มีแพทย์พยาบาลหรือส่วนนั่งพักให้บริการ หรือไม่ไหวก็ควรลาออกไปพักผ่อนเลี้ยงเหลนที่บ้าน
นายจิรายุ กล่าวต่อถึงกรณีที่นายสมชาย แสวงการ ออกมาโทษว่า สื่อบิดเบือนนั้น เพื่อนๆสื่อจำนวนมากโทรมาบ่นกับตนว่า หมดแล้วยุค "นกน้อยในไร่ส้ม" แต่ยุคนี้ มีแต่ยุค "ถิ่นกาขาว" และ "นกน้อยในดงปืนที่ชื่นชมกลิ่นเผด็จการ"
อีกทั้ง นายสมชายเคยเป็นสื่อ แม้จะได้ดิบได้ดีจากการปฏิวัติรัฐประหาร ก็น่าจะมี 'รากฝอย' ของคนที่เคยได้รับเกียรติว่า เป็นฐานันดร 4 บ้าง นายสมชายควรเป็นโต้โผตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาลอย่างถึงลูกถึงคน ทำหน้าที่แทนประชาชน และควรนึกถึงหน้าของชาวบ้านคนจนๆ ที่ต้องเสียภาษีให้พวกท่านเข้าไปนั่งในสภาที่พวกเขาไม่ได้เลือกด้วย
"วันนี้สิ่งที่ประชาชนอยากฟังคือการจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นทุกปีต่อเนื่องมาถึง 4 ปี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแผนอย่างไรในการใช้หนี้ ควรใส่แผนการหาเงินใช้หนี้เข้าไปในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย ลูกหลานเติบโตขึ้นมาจะได้รู้อนาคตว่าจะต้องเป็นหนี้กี่ปี จะใช้หนี้อย่างไร หรือจะต้องขอกู้เงินจากกองทุนระหว่างประเทศไอเอ็มเอฟอีกหรือไม่" นายจิรายุกล่าว
หลับในสภา-ตายคาที่นั่ง ?
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีต รองประธาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ให้ความเห็นว่า ข่าวสมาชิก สนช.หลับในระหว่างนายกรัฐมนตรีแถลงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ในสื่อหลักสื่อรองและสื่อใหม่คือโซเชียลมีเดียอย่างอึกทึกครึกโครม พร้อมความเห็นถึงขั้นให้ปลดออกซึ่งดูจะรุนแรงไป จึงขอออกความเห็นบ้าง
ประการแรกเป็นเรื่องไม่สมควรแน่นอนที่หลับในระหว่างการประชุมวาระสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ความผิดมหันต์ถึงขั้นจะให้ออกและหากดูเจตนาประกอบก็น่าเห็นใจและเชื่อว่าท่านเหล่านั้นคงไม่อยากหลับในระหว่างประชุม ถ้าอยากพักผ่อนจริงๆ ก็สามารถออกมานอกห้องประชุม แต่ท่านคงตั้งใจทำหน้าที่จึงเข้าไปนั่งประชุม อันนี้ถือเป็นเจตนาดี แต่ด้วยสังขารอายุและโรคภัยประจำตัวที่คนในวัยเช่นนี้ ย่อมมีกันทุกคนหรือเกือบทุกคนก็คงฝืนไม่ได้ และในที่สุดก็หลับจนปรากฎภาพออกมา ดังนั้นการลงโทษก็สมควรที่เราจะต้องดูเจตนาและปัจจัยอื่นๆ ประกอบ
ประการต่อมาคือจะลงโทษกันขนาดไหนอย่างไร ในฐานะที่ผ่านงานการประชุมในสภามากว่า 20 ปี เห็นการหลับในสภาผู้แทนราษฎรมาทุกยุคทุกสมัยก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะเข้าใจว่าคนทำงานย่อมเหนื่อยล้าอ่อนเพลียกันบ้างเป็นธรรมดาหรือบางคนไม่สบาย แต่ยังอยากทำหน้าที่ในห้องประชุมส่วนใหญ่ก็สะกิดให้ลุกไปนอกห้องประชุมและติเตือนกัน บางครั้งสื่อก็ถ่ายภาพออกมาก็ถูกวิจารณ์แบบนี้เหมือนกัน
ส่วนการลงโทษนั้นพรรคที่สังกัดจะฟังคำชี้แจงของสมาชิกท่านนั้นๆ ก่อนว่ารับฟังได้หรือไม่ และท้ายสุดก็พิจารณาตักเตือนไม่มีพรรคใดไล่สมาชิกสภาออก เพราะเหตุหลับในระหว่างประชุมและจะดูความดีความชอบผลงานในอดีตประกอบการพิจารณาด้วย
"ผมไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับการหลับในสภาและเห็นด้วยว่าควรถูกลงโทษ แต่จะถึงขั้นลงทัณฑ์ให้ออก แบบหลับในสภาตายคาเก้าอี้นั้นออกจะรุนแรงเกินไปหรือไม่ครับ" นายอลงกรณ์ กล่าว
อ่านเพิ่มเติม