ไม่พบผลการค้นหา
ประธานสภากรุงเทพมหานครเผยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญการศึกษาการดำเนินงานของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร รวม 14 คน ฝ่ายบริหาร 4 คน และฝ่ายนิติบัญญัติ 7 คน กำหนดพิจารณาศึกษาภายในระยะเวลา 90 วัน

ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 9) ประจำปี พ.ศ. 2561 โดยมีคณะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร วันนี้ (30 พ.ค.)

นายภาส ภาสสัทธา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญการศึกษาการดำเนินงานของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การดำเนินงานของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีผลสัมฤทธิ์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครซึ่งตั้งอยู่สี่แยกปทุมวัน เป็นที่รองรับการแสดงออกทางผลงานและเก็บรักษาผลงานตลอดจนเป็นที่รวมกลุ่มศิลปิน อีกทั้งเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมแก่เด็กเยาวชนและผู้สนใจในศิลปะ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจให้ประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะเยาวชนที่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งสามารถแสวงหาความรู้และได้แสดงออกด้านศิลปะตามที่ตนถนัด

อย่างไรก็ตาม เมื่อแรกเริ่มดำเนินการ กรุงเทพมหานครมีแนวคิดให้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครบริหารงานโดยไม่ยึดติดรูปแบบระบบราชการ จึงใช้การบริหารงานโดยมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าไปใช้บริการทั้งในและนอกเวลาราชการ และให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยใช้งบประมาณกรุงเทพมหานครสนับสนุนเท่าที่จำเป็นภายใต้กรอบข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและมูลนิธิหอศิลป์ฯ

แต่การบริหารงานของหอศิลป์ฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณของกรุงเทพมหานครปีละหลายสิบล้านบาทผ่านทางสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว โดยสภากรุงเทพมหานครเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบงบประมาณในแต่ละปี ซึ่งการบริหารจัดการดังกล่าวขององค์กรภายนอกยังไม่มีความชัดเจนถึงการใช้จ่ายงบประมาณของหอศิลป์ฯ ว่าคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร ทำให้สภากรุงเทพมหานครไม่อาจพิจารณาถึงปัจจัยอันจะนำไปสู่การให้ความเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณของหอศิลป์ฯ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์แท้จริง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเห็นว่า ควรจะมีการศึกษาการดำเนินงานของหอศิลป์ฯ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์แท้จริง ให้เกิดประสิทธิภาพ คุ้มค่า โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างชัดเจน

พล.อ. โกจนาท จุณณะภาต สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการนำหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครไปใช้ประโยชน์ในทางอื่น ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณและมีมูลนิธิหอศิลป์ฯ เป็นผู้บริหารจัดการ โดยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหอศิลป์ฯ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้สนับสนุนงบประมาณแก่หอศิลป์ และไม่เก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วมูลนิธิหอศิลป์ฯ จะต้องทำการบริหารจัดการใหม่ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ต้องรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กทม.ต่อไป

ด้านนายคำรณ โกมลศุภกิจ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจะได้รับเงินสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครปีละประมาณ 40 ล้านบาท อย่างน้อย 3-4 โครงการ รวมค่าน้ำและค่าไฟ อีกทั้งยังมีการใช้เงินในงบประมาณนี้ส่วนหนึ่ง จ่ายเป็นค่าเดินทางให้กับหน่วยงานอื่น ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานกรุงเทพมหานครกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการจ่ายเงินให้กับหน่วยงานภายนอกที่ไม่ใช่หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ระบุว่า ในกรณีจําเป็นกรุงเทพมหานครอาจมอบให้เอกชนกระทํากิจการซึ่งอยู่ในอํานาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการหรือค่าตอบแทน ที่เกี่ยวข้องแทน กรุงเทพมหานครได้แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน ซึ่งตั้งแต่ปี 2554 ผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามนี้หรือไม่

ด้าน นายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โดยหลักการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นสมบัติของกรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อสร้างจากภาษีประชาชน ในพื้นที่ที่มีมูลค่าสูง (Prime area) ถึง 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และการให้ผู้ใดใช้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชนหรือองค์กรต่างๆ ก็เป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานครเช่นกัน ซึ่งการของบประมาณในปี 2554 ถึงปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้อนุมัติงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันกรุงเทพมหานครตระหนักดีว่า เงินทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินภาษีของประชาชน จึงต้องทำการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อีกทั้งการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เมื่อพิจารณาดูแล้วมีความไม่ชัดเจน และกฎหมายที่ใช้ในการบริการจัดการทรัพย์สินไม่สอดคล้องกับฉบับปัจจุบัน นอกจากนี้ ตามข้อตกลงในข้อ 10 ระบุว่า ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามผู้ให้สิทธิ ผู้ให้สิทธิสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และจะไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายชดเชยใดๆ จากผู้ให้สิทธิทั้งสิ้น และในสัญญานี้ กรุงเทพมหานครไม่ได้มีสิทธิให้เงินสนับสนุนแต่อย่างใด ซึ่งมูลนิธิหอศิลป์ฯ ต้องดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดรายได้ขึ้นเอง ซึ่งเรื่องนี้ต้องศึกษาให้ครอบคลุมอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบกับญัตติฯ ดังกล่าว และตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณา จำนวน 14 คน ประกอบด้วยฝ่ายบริหาร 4 คน และฝ่ายนิติบัญญัติ 7 คน กำหนดพิจารณาศึกษาภายในระยะเวลา 90 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: