ไม่พบผลการค้นหา
สพฉ. ล้างภาพจำละครไทยช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินผิดวิธี จัดเวทีอบรมให้ความรู้ด้านการปฐมพยาบาลและการแพทย์ฉุกเฉินที่ถูกต้องสำหรับผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ หวังช่วยเผยแพร่ข้อมูลและการใช้งานสายด่วน 1669 ที่ถูกต้องให้กับประชาชน

ฉากการจับคนจมน้ำขึ้นพาดบ่าวิ่งกระทุ้งไปมาเพื่อไล่น้ำออกจากปาก เป็นอีกหนึ่งฉากที่มีการถ่ายทอดผ่านละครในหลากหลายเรื่อง ไม่นับรวมฉากการช่วยผู้ป่วยจากอาการชักด้วยการให้กัดช้อนหรือกัดมือ หรือแม้กระทั่งการช่วยผู้ป่วยที่ถูกงูกัดด้วยการใช้ปากดูดเลือดจากแผลที่ถูกงูกัดโดยตรงถูกถ่ายทอดผ่านละครไทยเรื่องแล้วเรื่องเล่า โดยผู้ที่ผลิตละครหารู้ไม่ว่าการถ่ายทอดฉากต่างๆ เหล่านี้ในหนังละครเป็นการสร้างภาพจำในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่ผิดวิธี

ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดอบรม-ให้ความรู้ด้านการปฐมพยาบาลและการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ขึ้นเพื่อให้ผู้ผลิตสื่อต่างๆ ได้ฝึกปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในสถานการณ์จริงรวมถึงการฝึกในการใช้งานสายด่วน 1669 ตามขั้นตอนที่ถูกต้องในวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมรัชโยธิน ชั้น 20 โรงแรมเดอะบาซาร์ โฮเต็ลบางกอก แยกรัชดา-ลาดพร้าว โดยมีตัวแทนของผู้จัดหนังและละครหลากหลายค่ายเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

ตัวแทนผู้จัดหนังละครร่วมเรียนรู้การใช้งานเครื่อง AED.jpg

เรียนรู้การใช้งานเครื่อง AED

นายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดอบรมในครั้งนี้ว่า ปัจจุบันสื่อทีวีได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรายการทีวี ภาพยนตร์หรือละคร สพฉ.จึงเล็งเห็นว่าหากสื่อมวลชนหลากหลายแขนง อาทิ ผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์ สื่อละคร สื่อภาพยนตร์ หรือรายการทีวีต่างๆ เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฐมพย���บาลเบื้องต้น การช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินหรือขั้นตอนการใช้งานสายด่วน 1669 ที่ถูกต้อง จะสร้างประโยชน์และสร้างความรู้ให้กับประชาชนที่รับสื่อทีวีต่างๆ สามารถดูแลตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นที่เจ็บป่วยฉุกเฉินได้ 

การฝึกทำ CPR.jpg

ฝึกการทำ CPR

การจัดอบรมในครั้งนี้ของมุ่งหวังอยากให้ผู้ผลิตหนังหรือละครสอดแทรกแนวทางในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกต้อง เหมือนกับในต่างประเทศที่เขาใส่แนวทางในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินหรือการใช้งานสายด่วนช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกต้องจนสามารถสร้างภาพจำให้กับประชาชนในประเทศเขาได้ ก็อยากให้วงการสื่อของบ้านเราทำได้แบบนั้นด้วย

ทั้งนี้ รายละเอียดและกิจกรรมในการจัดอบรมในครั้งนี้ วิทยากร สพฉ. ได้ให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมอบรมถึงการถ่ายทำฉากที่เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินอย่างถูกต้อง เช่น การใช้เครื่องช๊อตหัวใจ, การใช้อุปกรณ์ในการผ่าตัด, การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ถูกไฟดูดไฟช็อตที่ถูกต้อง, การช่วยเหลือผู้ป่วยจมน้ำที่ถูกต้อง

โดยผู้เข้าร่วมอบรมยังได้รับการฝึกปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้อง เช่นการฝึกช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน CPR การช่วยคนจมน้ำ ช่วยคนเป็นโรคลมชัก ช่วยคนที่มีอาการหอบหืดกำเริบ คนที่ถูกงูกัด การฝึกใช้งานเครื่อง AED และการใช้งานสายด่วน 1669 อย่างถูกวิธีด้วย

ผู้จัดหนังละครร่วมฝึกการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการชักและอาเจียน.jpg

ฝึกการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการชักหรืออาเจียน

ขณะที่ผู้เข้าร่วมอบรม ต่างรู้สึกยินดี และมองว่าความรู้ที่ได้รับจากการอบรมและกิจกรรมที่ทาง สพฉ. จัดให้นั้น จะนำไปใช้ได้จริงในการถ่ายทำฉากช่วยชีวิตตัวละครในละครหรือภาพยนตร์เรื่องต่อๆ ไปได้อย่างแน่นอน 

การจัดอบรมเพื่อให้ความรู้ด้านการปฐมพยาบาลและการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ในการถ่ายทอดข้อมูลให้กับประชาชนในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินและการใช้งานสายด่วน 1669 ที่ถูกต้องผ่านหนังและละครที่มีอิทธิพลกับคนดูอย่างมาก เพราะเมื่อประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะสามารถช่วยให้คนรอบตัวของเขารอดชีวิตจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้นั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: