พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้จะมีการหารือเพื่อเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญหรือไม่ ว่า ก็รู้กันอยู่แล้วว่าต้องพิจารณาในวันนี้ ส่วนจะทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้นหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ซึ่งไม่ต้องกำหนดเรื่องให้สภาหารือในประเด็นใดบ้าง แล้วแต่สภาจะคุย
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังปฏิเสธตอบถึงกรณีที่กลุ่มคณะราษฎรเรียกร้องให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ใน 24 ชั่วโมง ซึ่งจะครบกำหนดในเวลา 18.00 น. ของวันนี้ ไม่เช่นนั้นจะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ โดยระบุสั้นๆเพียงว่า "จะไปรู้เหรอ"
'อนุชา' เชื่อสภาฯเป็นทางออกปัญหา หลังเสนอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ
อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เผยภายหลังเป็นตัวแทนพรรคการเมืองร่วมหารือกับ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ว่า มีความเห็นตรงกันว่าควรมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ตามมาตรา 165 เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึง สมาชิกวุฒิสภา ได้มีการพูดคุยถึงปัญหาและสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว แต่เบื้องต้นยังไม่ได้มีการสรุปประเด็นว่าจะมีการหารือเรื่องใดบ้าง ยังไม่ได้มีการกำหนดวัน แต่ส่วนตัวมองว่าประมาณ 2-3 วัน ก็จะครบทุกประเด็น ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้อาจจะมีการหาข้อสรุปร่วมกัน
ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมประกาศให้ยกเลิกประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินภายใน 24 ชั่วโมง นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นความเห็น ซึ่งความเห็นที่แตกต่างก็ต้องนำมาพูดคุยกันในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนข้อเรียกร้องต่างๆ นั้น อนุชา ระบุว่า การเรียกร้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่เป็นการบังคับขู่เข็ญกัน เพราะบางเรื่องแต่ละพรรคมีจุดยืนที่ชัดเจนอยู่แล้ว เช่น พรรคพลังประชารัฐที่มีจุดยืนชัดเจนว่าต้องไม่ยุ่งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่แตะต้องหมวด 1 หมวด 2 จึงฝากไปยังกลุ่มนักศึกษาโดยเข้าใจว่าสิ่งที่ทำอยู่ทำเพื่อประเทศชาติแต่จุดยืนและความคิดเห็นต่างก็ยังมีอยู่ การจะทำให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันต้องหาทางออกด้วยการพูดคุยกันและรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน พร้อมย้ำว่า การเห็นต่างไม่ได้ผิดและอยากให้เชื่อมั่นว่าเวทีสภา จะสามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วนหากเปิดสมัยประชุมสภาไปแล้วแต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงมีการเคลื่อนไหวนั้น อนุชา ระบุว่า คงต้องมีการพูดคุยกันเพราะเมื่อสังคมมีความแตกแยกก็ต้องหาวิธีที่มีข้อสรุปที่ดีโดยสันติวิธี หากมีข้อเรียกร้องและอีกฝ่ายก็มีข้อเรียกร้องเช่นกัน ต่างฝ่ายต่างคิดว่ามีสิ่งที่ถูกต้องก็ต้องรับฟังกัน ถึงจะเรียกว่าระบอบประชาธิปไตย เพราะในสังคมมีความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่ใช่ว่าจะบังคับให้คนอื่นทำตามความคิดเห็นฝ่ายของตนเองตามข้อเรียกร้อง 1 2 3 จึงจะจบ และฝากกระบวนการความคิดนี้ไปถึงนักศึกษาด้วย พร้อมย้ำ ว่าขอให้มีจุดที่จบด้วยการพูดคุยกัน
'จุรินทร์' ย้ำจุดยืนร่วมรัฐบาลยังเหมือนเดิม
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในวันนี้คณะรัฐมนตรีน่าจะมีการหารือถึงวันเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นว่าควรจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ โดยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพเสนอขอเปิดประชุมด้วยตนเอง รวมถึงขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภา และดูเหมือนว่าจะได้รับการขานรับจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่เห็นควรให้มีการเปิดประชุมสภา
ส่วนการหารือระหว่างประธานสภา วิปฝ่ายค้าน และวิปฝ่ายรัฐบาลก็เห็นตรงกันว่าสมควรให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ จึงคาดว่าผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้จะมีผลไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้ จุรินทร์ ระบุว่า อยากเห็นผลการอภิปรายตามมาตรา 165 จะทำให้เกิดคณะทำงาน หรือคณะกรรมาธิการ ที่ประกอบด้วย พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา และบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและแสวงหาทางออกของประเทศ เพราะรัฐสภาถือเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ มีหน้าที่หาทางออกให้กับประเทศ จึงเชื่อว่าหากดำเนินการเช่นนี้ผลที่ออกมาจะเกิดการยอมรับ ส่วน กรอบระยะเวลาในการดำเนินการเป็นเรื่องของคณะกรรมการที่ขึ้น ว่า ต้องพิจารณาว่าเรื่องใดเป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณาก่อน หรือเรื่องใดที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน แต่ทุกอย่างต้องได้ข้อสรุปที่รวดเร็ว
ส่วนข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้านที่ขอให้ยกเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉินก่อนจะมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญนั้น จุรินทร์ระบุว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีการพูดคุยกันในสัปดาห์ที่แล้วว่า พ.ร.กฉุกเฉินเป็นดุลพินิจของฝ่ายความมั่นคงที่พิจารณาร่วมกับนายกรัฐมนตรีและจะใช้เท่าที่จำเป็นในช่วงเวลาและเงื่อนไขที่เหมาะสม
ทั้งนี้ จุรินทร์ยังปฎิเสธข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยที่เสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ทบทวนเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล โดยระบุว่า พรรคได้แถลงจุดยืนไปแล้วและไม่ขอพูดซ้ำอีกทั้งและเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลยังเหมือนเดิมและได้การตอบรับจากรัฐบาลทั้งด้านนโยบาย อาทิ การประกันรายได้สินค้าเกษตรและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ