ไม่พบผลการค้นหา
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค เพื่อขยายเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และด้านการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในเผยแพร่ความรู้และแนวคิดด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงสร้างโอกาสในการทำงานสร้างสรรค์ร่วมกับกองทุนฯ

โดยภาคเหนือถือเป็นภาคที่มีศักยภาพด้านสังคม ศิลปะวัฒนธรรมครบถ้วนจึงได้รับเลือกให้จัดเสวนาเริ่มโครงการครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันที่ 22 ต.ค.63 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้และแนวคิดด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และด้านการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัลไปยังภาคีเครือข่าย มี รศ.ดร. พนา ทองมีอาคม ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นประธานในพิธีเปิด มี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แสดงวิสัยทัศน์ TMF Talk ในหัวข้อ “การบูรณาการแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565)

นอกจากนี้ยังมีเสวนาวิชาการการสร้างสรรค์สื่ออย่างสร้างสรรค์ด้านพลังการมีส่วนรวมในหัวข้อ TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ รศ.ดร. พนา ทองมีอาคม ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน, นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์, ผศ.ดร. วรัชญ์ ครุจิต ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการ สร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค, นายธวัชชัย ไทยเขียว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็กและเยาวชน โดยมี นางวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รับหน้าที่ดำเนินรายการ

ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวบนเวทีว่า สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของสื่อ ที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการสื่อสาร ทำให้เกิดทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกิดความก้าวหน้าทั้งเศรษฐกิจและสังคม แต่ขณะเดียวกันเราก็กำลังเผชิญกับปัญหาในการใช้งานสื่อในมิติต่าง ๆ สังคมจึงจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้และทักษะในการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล กองทุนฯ จึงได้จัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค เพื่อเผยแพร่ความรู้และแนวคิดด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และด้านการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัลไปยังภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ

“ทั้งนี้เวทีได้กำหนดกรอบเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เปิดพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็น รวบรวมแนวคิดเพื่อกลั่นกรองเป็นข้อเสนอต่อคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนของประชาชน เพื่อสร้างกระบวนการทำงานและผลักดันให้เกิดการพัฒนานิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์” ธนกร กล่าว

ธนกร กล่าวในช่วง TMF Talk หัวข้อ “การบูรณาการแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ว่า กองทุนฯ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 มีพันธกิจหน้าที่ พัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ และใช้ประโยชน์จากสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างทั่วถึง ส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และครอบคีวมีทักษะในการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เป้าหมายสุดท้ายคือ สังคมมีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ทุกคนเข้าถึงและมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

ธนกร กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดสื่อที่ดีสำหรับเด็ก เยาวชน และสังคมไทย โดยสื่อที่ดีต้องสร้างขึ้นมาเพื่อสังคม อย่างที่เยอรมนีรัฐสนับสนุนให้เกิดสื่อดี เกิดการตั้งบริษัทและให้มืออาชีพบริหาร เน้นการผลิตรายการสื่อน้ำดี อย่างเช่น รายการเด็ก รายการวัฒนธรรม ซึ่งในประเทศไทยสื่อไม่สร้างสรรค์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เพราะเราปล่อยให้ไปอยู่ในธุรกิจ เจ้าของรายการจึงต้องหารายได้และเรตติ้ง จึงจะอยู่รอด  กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงมีภารกิจที่ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดีมากขึ้น โดยในปี 2563 รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติด้วย แน่นอนว่าสื่อดีจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง ทุกคนควรเป็นคนเปิดรับสื่อที่ดี มีสติ ใช้ปัญญา อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ ดูง่าย ๆ ก่อนว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่จริง”

สำหรับการเสวนาหัวข้อ “TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์” รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนได้รับผลกระทบจากการรับสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์อย่างมหาศาล การจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาทุกภาคส่วน มาร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดนิเวศสื่อที่ดี ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทุกวันนี้เราไม่ได้สื่อสารเพียงแค่ทางเดียวอีกแล้ว แต่คนรับสื่อสามารถเผยแพร่สื่อได้เอง และยังสามารถเผยแพร่ในแนวระนาบได้อีกด้วย ซึ่งไม่มีใครครอบงำใคร การเข้ามาร่วมโครงข่ายของกองทุนพัฒนาสื่อฯ จะช่วยทำให้สามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างไร้ขีดจำกัด ความคิดในการผลิตงานสื่อสร้างสรรค์ขึ้นมา ต้องเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อสังคม ทางเราอยากให้มีการติดต่อสื่อสารทั้งสองฝ่าย เพื่อให้มีการพูดคุยกัน ถ้ามีโอกาสก็อยากให้สอบถาม แลกเปลี่ยน เพื่อที่จะให้กองทุนสามารถพัฒนาเนื้องานได้ต่อไป ”

ด้าน ลัดดา ตั้งสุภาชัย กล่าวว่า ทำไมจึงมีกองทุนนี้เพราะมีสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์อยู่มาก การที่จะทำสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ทุกคนต้องมีส่วนร่วม จึงทำให้กองทุนบรรลุวัตถุประสงค์ เราอยากชวนคนเชียงใหม่และทุกคนมาทำสื่อปลอดภัยด้วยกัน การที่จะทำสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้องมีส่วนร่วมในการทำงาน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ก่อให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้ลูกหลานรู้จักสื่อที่ปลอดภัยด้วยเช่นกัน สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีผลต่อการพัฒนาประเทศไปในระยะยาว ซึ่งการเกิดกองทุน จะช่วยทำให้สามารถสร้างสรรค์สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง

ผศ.ดร. วรัชญ์ ครุจิต กล่าวว่า การส่งเสริมสิ่งที่ดี ๆ คณะนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อไม่ใช่แค่สร้างสรรค์แต่สิ่งที่ประเทศไทยขาดมากคือ นวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมจะทำให้ของที่เรามีอยู่มีคุณค่ามากขึ้น นวัตกรรมพูดถึงสิ่งประดิษฐ์ แอพพลิเคชั่น ซึ่งเราไม่ได้จำกัดแค่นี้ จริง ๆ สื่อก็ถือเป็น นวัตกรรมเช่นกัน จำเป็นต้องใส่นวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มเติมให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น อาจจจะไม่ต้องเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำ แต่สามารถทำให้เกิดเป็นที่รู้จักของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ผ่านนวัตกรรมได้ด้วย เข้าถึงกลุ่มต่าง ๆ และสร้างประสบการณ์ให้ได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดผลกระทบได้จริง ๆ โดยใช้หลัก 3P (People / Product / Process) ในการพัฒนาโครงการได้ด้วย

ธวัชชัย ไทยเขียว กล่าวว่าการทำสื่อเราต้องรู้และเข้าใจถึงการรู้สึกนึกคิดของเด็กแต่ละช่วงวัย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องเด็ก เราจะต้องมีกระบวนการให้เด็กได้รู้จักคิดวิเคราะห์เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันสื่อได้ด้วย อยากให้เราผลิตสื่อ เช่น อาหาร ผลิตสร้างสรรค์อย่างไรให้คนอยากกินอาหารภาคของเรา เราควรสอนให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ เช่น เรื่องการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นโดยสอดแทรกธรรมะเข้าไป อยากให้สื่อผลิตให้เด็กรู้สึกอยากคล้อยตาม เข้าใจง่าย ๆ ผมคิดว่าการให้ทุนอย่างต่อเนื่องกับใครคนหนึ่ง เพื่อให้ทำงานสานได้ต่อเพราะความคิดความเชื่อต้องใช้เวลานานในการเปลี่ยน อีกทั้งเราต้องสอนเด็กให้มีทักษะในการปฎิเสธสื่อไม่ดีและเลือกรับสื่อดี สื่อพวกนี้จะช่วยทำให้เรากลายเป็นผู้ใหญ่ที่พัฒนาแล้วในอนาคตได้