นับตั้งแต่ไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ หรือชื่อทางการโควิด-19 ระบาด 'จีน' ต้องประสบกับปัญหาด้านการเมืองหลายประเด็น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ยิ่งย่ำแย่ลง
เชื้อไวรัสโคโรนาชนิดใหม่เริ่มระบาดในเมืองอูฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีนมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 แต่กลับมีความพยายามปิดข่าว หลังจากกลุ่มแพทย์ 8 คนออกมาเตือนว่ามีโรคระบาดที่อาจเป็นโรคซาร์ส พวกเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปสอบปากคำในข้อหา 'ปล่อยข่าวปลอม'
การไม่ยอมรับว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อปริศนานี้ทำให้ไม่มีมาตรการป้องกันหรือควบคุมใดๆ นานประมาณ 1 เดือน ส่งผลให้ไวรัสนี้แพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางคมนาคมไปทั่วประเทศจีน และอีกหลายประเทศ รวมถึงไทยด้วย
แม้ที่ผ่านมา WHO จะกล่าวว่าจีนตอบสนองต่อการแพร่ระบาดได้ไวแล้ว แต่หลายฝ่ายก็มองว่า จีนเคยมีบทเรียนจากโรคซาร์สเมื่อปี 2545 ที่จีนปกปิดเรื่องการระบาดนานถึง 3 เดือนก่อนจะยอมรับต่อสาธารณะ แต่โรคซาร์สก็ได้แพร่ระบาดและมีผู้เสียชีวิตมากกว่าที่ควร ดังนั้น การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ จีนควรทำได้ดีกว่านี้
เมื่อ นพ.หลี่เหวินเหลียง แพทย์ที่ถูกจับกุมตัวไปเพราะเปิดเผยเรื่องโรคระบาด เสียชีวิตด้วยโควิด-19 ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจีนจึงไม่พอใจและเรียกร้องให้รัฐบาลจีนรับผิดชอบต่อเสียชีวิตของ นพ.หลี่ พร้อมระบุว่า ไม่ควรมีใครถูกจับหรือข่มขู่จากการเปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องโรคระบาด และประชาชนควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่เสียงวิจารณ์เหล่านั้นก็ถูกลบไปจากระบบ
รัฐบาลจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ปิดเมืองโดยไม่มีการเตรียมการที่ดีพออาจทำให้ประชากรในเมืองกว่า 11 ล้านคนอดตาย และการปิดเมืองอาจสายเกินไปแล้ว เพราะมีคนเดินทางเข้าออกเมืองอู่ฮั่นจำนวนมากในช่วงตรุษจีน ทั้งที่ทางการจีนควรจะติดตามคนที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกัับผู้รับเชื้อตั้งแต่เนิ่นๆ
นอกจากนี้ การปิดเมืองเช่นนี้เป็นมาตรการเหวี่ยงแหที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าควบคุมโรคได้จริง เพราะต้องมีคนขนส่งอาหารและสิ่งของจำเป็นเข้าไปในเมือง หากขาดแคลนสินค้าเหล่านี้ คนก็จะไปเสาะหามาอยู่ดี
การกักตัวที่ไม่สมเหตุสมผลยังอาจขัดต่อสิทธิมนุษยชนด้วย แอมเนสตี้ อินเทอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลกล่าวว่า การกักตัว ซึ่งเป็นการระงับเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย ที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายระหว่างประเทศก็ต่อเมื่อเป็นการกักตัวที่เหมาะสมกับระดับความรุนแรง มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน ไม่มีการเลือกปฏิบัติกลุ่มสังคมวัฒนธรรมใดกลุ่มหนึ่ง และได้รับการรับรองสิทธิในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข อาหารและสิ่งของจำเป็นต่างๆ
โรคระบาดครั้งนี้ยิ่งทำให้ชาวฮ่องกงรู้สึกว่ารัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่กดขี่ฮ่องกง เพราะมีการตั้งศูนย์กักกันผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนามารองรับการระบาดครั้งนี้โดยเฉพาะ และรัฐบาลฮ่องกงก็ไม่ยอมปิดพรมแดนติดกับจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมาก เดินทางหนีโรคระบาดไปยังฮ่องกง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าในจำนวนนี้มีใครติดเชื้อแล้วบ้าง
หากย้อนกลับไปตอนที่มีซาร์สระบาดเมื่อปี 2545 โรคซาร์สเริ่มระบาดที่มณฑลกวางตุ้งในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่เพราะการปิดข่าวไม่ออกมาตรการจำกัดการเดินทาง ทำให้คนเดินทางข้ามไปยังฮ่องกง รวมถึงแพทย์ต่างๆ ด้วย จากนั้น ซาร์สก็ระบาดหนักในฮ่องกง จนเศรษฐกิจฮ่องกงแย่ไปเลย
เมื่อโควิด-19 ระบาด ผู้ประท้วงชาวฮ่องกงจึงรู้สึกไม่พอใจว่า จีนแผ่นดินใหญ่ใช้ฮ่องกงเป็นจุดรับเชื้อแทนจีนแผ่นดินใหญ่ จนทำให้มีการบุกเผาศูนย์กักกันผู้ติดเชื้อที่เพิ่งตั้งขึ้นนี้
นอกจากฮ่องกงแล้ว จีนแผ่นดินใหญ่ยังมีประเด็นกับไต้หวันด้วย เมื่อจีนแผ่นดินใหญ่ยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน รัฐบาลจีนจึงจำเป็นต้องระมัดระวังท่าทีไม่ให้ทำสิ่งที่อาจตีความได้ว่าเป็นการยอมรับว่าไต้หวันเป็นประเทศ เช่น รัฐบาลจีนไม่สามารถนำสายการบินไต้หวันไปรับคนไต้หวันกลับจากเมืองอู่ฮั่น ทำให้กระบวนการอพยพคนไต้หวันล่าช้า ต่อมารัฐบาลรัฐบาลจีนได้จัดให้สายการบินจีนแผ่นดินใหญ่นำตัวคนไต้หวันกลับแทน
ไต้หวันยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมการประชุมองค์การอนามัยโลกหรือ WHO เพราะจีนระบุว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนอยู่แล้ว แต่ไต้หวันก็ต้องการเข้าร่วมประชุมด้วย ในฐานะที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้จำนวนมากพอสมควร และสามารถรับมือกับโรคระบาดได้ดีกว่าจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันจึงต้องการเข้าประชุมเมื่อให้รับรู้ข้อมูลฉบับเต็มและรวดเร็วพอในการรับมือกับโรคระบาด
ด้านชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็มองว่าการป้องกันและควบคุมโรคระบาดต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ดังนั้น ก็ควรให้ตัวแทนรัฐบาลไต้หวันเข้าร่วมประชุมด้วย โดยอาเบะกล่าวว่า "เป็นเรื่องยากที่จะรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพและป้องกันการติดเชื้อในภูมิภาค หากไต้หวันไม่สามารถเข้าร่วมกับ WHO ด้วยเหุตผลทางด้านการเมือง”
เชื้อไวรัสนี้แพร่ระบาดมาจากจีน คนที่หน้าตาเหมือนคนจีนก็จะถูกรังเกียจว่าเป็นผู้แพร่เชื้อโรค แม้คนเชื้อสายจีนคนนั้นจะเกิดและเติบโตในยุโรปหรืออเมริกาก็ตาม ขณะเดียวกัน คนเอเชียที่ไม่ใช่คนจีนก็โดยเหยียดไปด้วย เช่น คนไทยในอังกฤษที่ให้สัมภาษณ์ว่าถูกต่อว่าเรื่องโควิด-19
เหตุผลที่เพิ่งจะได้ชื่อโรคอย่างเป็นทางการว่า “โควิด-19” หลังจากที่ระบาดกันมาเป็นเดือนแล้วก็เพราะไม่อยากให้ชื่อโรคไปสร้างอคติต่อเชื้อชาติ หรืออุตสาหกรรมใดเหมือนการระบาดหลายครั้งที่ผ่านมา แต่การตั้งชื่อทางการที่ล่าช้าก็ทำให้คนมีอคติกับคนจีนหรือคนเอเชียโดยรวมไปแล้ว
ที่มา : Business Insider, Amnesty International, Wired, Kyodo News, BBC, The Guardian