วิสัยทัศน์ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. (MRT) ประจำปีงบประมาณ 2560-2565 ระบุว่า "เป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน" คำถามสำคัญที่ตามมาคือ หาก รฟม.ยึดมั่นเช่นนั้น การหยุดให้บริการแก่ประชาชนชั่วคราวตาม 'คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง' เป็นเรื่องถูกต้องจริงหรือไม่
สารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า การใช้บริการขนส่งมวลชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมที่ผ่านมาจึง "เป็นเรื่องของการลิดรอนสิทธิชัดเจนอยู่แล้ว" แต่ต้องไปตั้งคำถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ในฐานะผู้ให้บริการรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที หรือรัฐบาลในฐานผู้ออกคำสั่ง
เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสริมว่า จริงอยู่ที่การประกาศ 'ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม อาคาร หรือสถานที่' เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่ใช่การละเมิดรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ ผ่านการอ้างว่าเป็นการทำตาม 'ประกาศสถาการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง' เนื่องจากที่ผ่านมาการชุมนุมของประชาชนไม่มีความรุนแรงแต่อย่างใด
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในมาตราที่ 38 ระบุว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่" ซึ่งตามปกติไม่สามารถไปจำกัดเสรีภาพดังกล่าว ยกเว้นในกรณีที่เป็นไปเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ไปจนถึงเพื่อการผังเมือง หรือเพื่อรักษาสถานภาพของครอบครัว หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์ ขณะที่มาตรา 46 ซึ่งเป็นตัวบทที่พูดถึงสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครอง และในมาตราที่ 61 ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องมีมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
แม้จะมีกฎหมายรองรับผลประโยชน์ของผู้บริโภค แต่ตามบทความเรื่อง 'สรุปรัฐธรรมนูญ 2560 : สิทธิผู้บริโภคถดถอย การจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคยังไร้หวัง' ของ iLaw ระบุว่า สิ่งที่หายไปในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อเปรียบเทียบกับฉบับปี 2550 คือ 'สิทธิในการร้องเรียนและเยียวยาค่าเสียหาย'
เท่านั้นยังไม่พอ ความพยายามในการจัดตั้ง 'องค์กรอิสระ' เพื่อผู้บริโภคซึ่งหลายฝ่ายพยายามผลักดันตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ยังลดลงไปอีก เพราะกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับปี 2560 ไม่ได้ระบุว่า "บังคับให้มี" ตามกฎหมาย เป็นเพียงแต่ ให้เป็น "สิทธิรวมกันจัดตั้ง" ของประชาชนเท่านั้น ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ระบุอย่างชัดเจนว่า กฎหมายต้องบัญญัติให้มี 'องค์การอิสระ'
ด้วยเหตุนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.เป็นต้นมา สารี แนะนำว่า อย่างน้อยที่สุด ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากฝั่งผู้ให้บริการรถไฟฟ้า หากประสงค์จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้เริ่มจากการบริษัทผู้ให้บริการก่อน
"ขนส่งมวลชนเป็นบริการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เป็นเสรีภาพในการเดินทาง เป็นการลิดรอนสิทธิในการเดินทาง ทำให้เกิดความยากลำบาก รัฐบาลไม่ควรดำเนินการ การชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบ เพราะฉะนั้นมันควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ยกเว้นมันเป็นเหตุการณืที่ไปทำลายสถานที่หรือกีดขวางการเดินทาง ซึ่งไม่ใช่"
ขณะเดียวกันบริษัทเอกชนในฐานะผู้ให้บริการที่อาจอ้างการสูญเสียผลประโยชน์ทางรายได้ในมิติหนึ่งสามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐบาลในฐานะผู้เสียหาย แม้ สารี จะชี้ว่าตนเองมองว่า "เขาคงคุยกันอยู่แล้ว"
เมื่อ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา 'วอยซ์ออนไลน์' ลงพื้นที่รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีอนุสาวรีย์พูดคุยกับประชาชนที่มาร่วมการชุมนุมว่าในมุมมองของพวกเขาใครเป็นคนปิดขนส่งมวลชนหลังเริ่มมีกระแสว่า 'ม็อบทำขนส่งมวลชนพัง'
ผู้ชุมนุมหญิงสาวรายหนึ่งที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี ชี้ว่า เพจของรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีประกาศด้วยตนเองตั้งแต่ช่วง 14.30 น.ของวันดังกล่าวว่าไม่สามารถให้บริการได้ทั้งที่ผู้ชุมนุมไม่มีประกาศว่าจะนัดรวมตัวกันชุมนุมในบริเวณของรถไฟฟ้าฯ แต่อย่างใด เลย "อยากให้ทุกคนคิดว่าใครเป็นคนทำ"
"เจ้าหน้าที่ของทางบีทีเอสเขาเป็นคนดึงประตูลงมาปิดเอง ไม่มีประชาชนคนไหนที่เดินไปเพื่อปิด หรือกั้น หรือไม่ให้ใครใช้ขนส่งมวลชน ไม่มีเลย ทุกคนเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของทางขนส่งมวลชนเอง เป็นคนหยุดดำเนินการเอง ประชาชนคงไม่มีอำนาจไปสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำตรงนั้นได้ ก็คิดว่าไม่ใช่ประชาชนแน่นอน"
ขณะที่ชายหนุ่มอีกรายเสริมว่า ม็อบคือประชาชน แล้วประชาชนจะอ้างสิทธิและอำนาจจากส่วนไหนไปสั่งปิดขนส่งมวลชนของคนไทยทั้งหมด อีกทั้ง ม็อบหวังเพียงใช้ขนส่งมวลชนในการเดินทางมาแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น
นอกจากนี้นักศึกษาหญิงอีกรายยังเพิ่มว่า ที่ผ่านมาตนเองติดภารกิจต่างๆ หลายครั้งจนไม่สามาถรไปร่วมการชุมนุมได้ แต่เมื่อมีการประกาศปิดการเดินทาง บั่นทอนการชุมนุม ตนจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องไปร่วมการประท้วง
ชายหนุ่มคนเดิมชี้ว่า คำว่าขนส่งมวลชนตอบคำถามด้วยตัวคำศัพท์อยู่แล้วว่ามีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน "ไม่ใช่เพื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" และในประเด็นการประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงตนเองมองว่าเป็นความไม่ชอบธรรมเพราะที่ผ่านมา ม็อบไม่เคยมีความรุนแรง นอกจากนี้ชายหนุ่มยังเสริมว่า หากผู้ให้บริการรถไฟฟ้าเปิดบริการตามปกติน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากด้วยซ้ำ
ขณะที่หญิงสาวในช่วงวัยของ 'เจนวาย' ชี้ว่า ผลกระทบดังกล่าวไม่ได้มีแค่กับผู้ต้องการเดินทางมาชุมนุม แต่ยังส่งผลเสียต่อประชาชนคนอื่นที่ต้องดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อถามต่อว่า ตนเองกลัวว่าม็อบจะถูกมองจากคนนอกว่าเป็นผู้ทำให้ขนส่งมวลชนต้องหยุดบริการไหม หญิงสาวคนเดิมตอบว่า ตนเองคงตอบแทนผู้อื่นไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนเสพสื่อจากช่องทางใด และมีการบิดเบือนข้อมูลความจริงหรือไม่
"ตอนนี้ สื่อก็มีทั้งทางที่เป็นกลาง รายงานสถานการณ์ตามจริง กับสื่อที่ไม่ได้รายงานสถานการณ์ตามจริง เราก็คงพูดไม่ได้ว่าคนที่ไม่ได้มาม็อบหรือประชาชนทั่วไปจะเข้าใจไหม แต่ว่าทุกคนที่มาม็อบ เข้าใจในจุดยืนแล้วก็ไม่มีใครที่จะทำให้ ประชาชนทั่วไปเดือดร้อน ไม่ได้มีเจตนาแบบนั้น"
หากย้อนกลับไปวันที่ 17 ต.ค.หลังมีการสลายการชุมนุมที่บริเวณแยกปทุมวันด้วยการใช้รถน้ำแรงดันสูงในวันที่ 16 ต.ค.
นอกจากมิติเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่ถูกละเมิดอย่างชัดเจน อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่สังคมต้องร่วมทำความเข้าใจคือ 'การบิดเบือน' หรือ 'fake news' ในช่วงที่ประเทศมีความคิดเห็นไม่สอดคล้องกันเป็นความเสี่ยงสำคัญให้ผู้คนไม่สามารถร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออกอย่างมีฉันทามติร่วมกันได้
กรณีตัวอย่างของความรุนแรงที่ประเทศอาจประสบจากวิกฤตการบิดเบือนแม้เพียงข้อมูลเล็กน้อยอย่าง 'ม็อบทำขนส่งมวลชนพัง' มีให้เห็นมากมาย อาทิ กรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งก่อนระหว่าง 'โดนัลด์ ทรัมป์' และ 'ฮิลลารี คลินตัน' ที่ภายหลังมีการเปิดโปงถึงวิธีการจู่โจมประชาชนด้วยข้อมูลผิดและบิดเบือนเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดไปจนถึงความเกลียดชัง
ประชาชนควรพึงระลึกไว้เสมอว่าการเสพข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันควรตรวจเช็คกับหลายแหล่งข่าวเสมอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: