ไม่พบผลการค้นหา
สว.ถามจุก ! จี้ ‘เศรษฐา’ คลายปัญหาประเด็น ‘เศรษฐกิจ-ปากท้อง’ หวัง ศก.ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ด้าน ‘เฉลิมชัย’ ไล่บี้หาทางออก ส.ป.ก.4-01 ก่อนเขาใหญ่สู่ ‘เขาหัวโล้น’ พร้อมถามหาการฟื้นฟูรายได้ชาวประมง

วันที่ 25 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ญัตติอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตาม ม.153 โดยเวลา 10.30 น. ‘สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์’ เริ่มอภิปรายในด้านปัญหาเศรษฐกิจของชาติ และปากท้องของประชาชน 

โดย สถิตย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 ตนเป็นคนหนึ่งที่ลงมติเห็นชอบให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี จึงขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินในประเด็นอัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งเต็มศักยภาพอยู่ที่ 35% 

แต่การคาดการณ์ของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 เดิมคาดว่า ขยายตัวเกิน 3% แต่วันนี้ได้ปรับการคาดการณ์ใหม่ทั้งจากภาครัฐ สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชน รุมกันคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวโตต่ำกว่า 3% ทั้งนั้น จึงทำให้มีการตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพที่มี หรือศักยภาพเศรษฐกิจของไทยเองนั้นต่ำไปจึงไม่โต 

ดังนั้น สถิตย์ จึงมีคำถามว่า รัฐบาลจะมีนโยบายเชิงโครงสร้างทำให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพหรือมากกว่านั้นได้อย่างไร โดยที่การเติบโตที่ดีต้องเติบโตอย่างทั่วถึง และไม่เพียงจะมีประชาธิปไตยทางการเมืองแต่ต้องมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร และรัฐบาลจะมีแผนที่ชัดเจนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจสี่ภาคอย่างไร

นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีนโยบายที่จะจัดสรรรายได้ท้องถิ่นให้ถึง 35% หรือไม่อย่างไร และรัฐบาลจะผลักดันเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และผลผลิตจากภาคการเกษตรอย่างไร ตลอดจนการเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งสอดคล้องไปกับนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ในการบูรณาการนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ในแต่ละสาขาได้อย่างไรบ้าง 

สำหรับเรื่องของเทคโนโลยีรัฐบาลจะผลักดันไปใช้ Digital ID และ Digital Payment ให้ทุกหน่วยงานเข้ามาอย่างไร และรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลมาไว้ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้หรือไม่ และสุดท้ายรัฐบาลจะมีเป้าหมายระยะยาวในการให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางหรือไม่อย่างไร

ขณะที่ ‘เฉลิมชัย เฟื่องคอน’ ตั้งคำถามถึงนโยบายการเปลี่ยนแปลงที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดิน ซึ่งมีประเด็นทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนทำให้ส่อเจตนาทุจริตเอื้อนายทุนในที่ดิน 2,933 ไร่ในพื้นที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 

เฉลิมชัย ยังตั้งคำถามไปถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีอีกว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ก่อนที่ ‘เขาใหญ่’ จะกลายเป็น ‘เขาหัวโล้น’ จนทำให้พื้นที่อุทยาน และพื้นที่มรดกโลกหายไปหมด ตลอดจน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตเช่นนี้อย่างเป็นรูปธรรม และไม่ลูบหน้าปะจมูกได้อย่างไร 

ขณะที่การฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงให้เป็นแหล่งรายได้ของประชาชนอีกครั้งหนึ่งด้วยการแก้ไขกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสม ซึ่ง เศรษฐา และ ร.อ.ธรรมนัส เคยไปหาเสียงไว้กับประชาชนใน จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม และอื่นๆ โดยจะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ประมงเพิ่มเติม โดยกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงการต่างประเทศต้องแก้ไขโดยไม่ให้ผิดหลักการของการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) 

รวมถึงกฎหมายควบคุมอาชีพประมง ซึ่งบอกว่า จะทำทันทีภายใน 100 วัน แต่ปัจจุบันนี้ เรือประมง 30,000 ลำเหลืออยู่หรือน้อยกว่า 2,000 ลำ จึงอยากทราบว่า ภายใน 7 เดือน นายกฯ และรมว.เกษตรฯ จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนชาวประมงอย่างไร