ไม่พบผลการค้นหา
มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ ชวนจับตาประชามติร่าง รธน. ย้ำหากถามสับสน เห็นด้วยหรือไม่ ร่าง รธน. ใหม่ โดยล็อกหมวด 1-2 คนอยากได้ รธน.ใหม่ แต่ไม่อยากให้ล็อกการแก้ไขหมวด 1-2 จะออกเสียงอย่างไร

17 มี.ค. 2567 ณ ห้อง ร. 103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ หรือ Con for All จัดกิจกรรมวิชาการ “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” โดยมี ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในพูดแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ "ประชามติครั้งที่ศูนย์ เดิมพันสูงการเมืองไทย” รายละเอียดดังนี้


เพื่อไทยจับมือพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ความหวัง รธน. ใหม่จางหาย?

เมื่อเราพูดถึงการจัดทำประชามติ หมายความว่า เรากำลังจะมีกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่การย้อนกลับไปดูจุดยืนของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่มีการหาเสียงของพรรคการเมือง พบว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นเป็นนโยบายของหลายพรรคการเมืองรวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วย ซึ่งระบุว่าจะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากประชาชน 

และเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสองต่างมีนโยบายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แต่ที่สุดแล้วในการจัดตั้งรัฐบาลกลับไม่มีพรรคก้าวไกลรวมอยู่ในนั้นด้วย ทั้งนี้การฉีก MOU ของ 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยได้ระบุภารกิจสำคัญเอาไว้ด้วยว่า 

“เราจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุแห่งความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤติต่างๆ ของประเทศ โดยจะกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และเริ่มจากมติ ครม. การประชุมครั้งแรก ให้มีการจัดทำประชามติและจัดตั้ง ส.ส.ร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จรัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

ถามว่า ทำไมการที่พรรคเพื่อไทยหันกลับไปจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมความหวังของภาคประชาชนที่ต้องการที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงหายไป เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพรรคการเมืองเหล่านั้นไม่ต้องการให้การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และที่สำคัญพรรคร่วมรัฐบาลเดิมไม่เห็นด้วยอยู่แล้วที่จะให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ


ภาคประชาชนพยายามเดินหน้า รัฐบาลจริงใจ หรือซื้อเวลา?

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาภาคประชาชนได้ดำเนินการในการเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติ ซึ่งเป็นคำถามที่คิดว่าดีต่อการเดินหน้าจัดทำประชามติธรรมนูญฉบับใหม่สำหรับประชาชน โดยระบุคำถามว่า "ท่านเห็นด้วยหรือไม่หากมีการเสนอเสนอจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น จะต้องมีการร่างใหม่ได้ทั้งฉบับ และมีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์"

แต่ในการประชุม ครม. นัดแรกของรัฐบาลเศรษฐา กลับพบว่าไม่ได้มีการเคาะคำถามประชามติ หรือกำหนดให้มีการดำเนินการจัดทำประชามติแต่อย่างใด เป็นเพียงกำหนดให้มีคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติขึ้นมาแทน โดยเรื่องนี้ถูกมองออกเป็นสองมุม หนึ่งคือ การมองว่ายังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการจัดทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ  และอีกมุมหนึ่งมองว่านี่อาจเป็นเพียงการซื้อเวลาของรัฐบาลเท่านั้น

ทั้งนี้คณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้น มีกำหนดระยะเวลาทั้งหมด 3 เดือนในการศึกษา และได้ใช้ระยะเวลาเต็มในการศึกษา แต่ยังเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนอยู่บ้างในการเข้าไปเสนอความคิดเห็นต่อคำถามประชามติว่าควรมีการตั้งคำถามอย่างไรดี โดยมีการให้เวลาภาคประชาชนทั้งหมด 40 องค์กรการแสดงความคิดเห็นองค์กรละ 2 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเดินสายรับฟังเสียงประชาชนในแต่ละภูมิภาคด้วยเช่นกัน แต่กลับไม่มีการเปิดเผยผลของการรับฟังในแต่ละพื้นที่ว่าได้ข้อสรุปอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก่อนที่คณะกรรมการจะสิ้นวาระ ทางภาคประชาชนได้จัดกิจกรรมปักธงส่งต่อเพื่อยืนยันว่าคำถามประชามติที่ดีจะต้องเป็นคำถามที่เปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ และสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้มีการเชิญคณะกรรมการเข้ามาภายในงานด้วย ภาพกิจกรรมในวันนั้นเข้าใจว่ารัฐบาลคงเห็นว่า ภาคประชาชนยังคงติดตามคำถามประชามติอยู่ และรับรู้เข้าใจดีว่า ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากขนาดไหน 

แต่สุดท้ายเมื่อมีการศึกษาแล้วเสร็จ คำถามประชามติก็ยังคงออกมาเหมือนเดิม เป็นคำถามเดิมที่ภาคประชาชนกังวลว่าจะเกิดขึ้น คือการล็อกการแก้ไขหมวด 1 และ หมวด 2 โดยใช้คำถามว่า 

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่มีการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 บทพระมหากษัตริย์“


วัดใจนายกฯ ใช้คำถามประชามติแบบใด หรือแก้ 256 เดินหน้าไม่ล็อกหมวด

อย่างไรก็ตามเวลานี้ยังไม่มีความแน่ใจว่าจะมีการใช้คำถามนี้ในการทำประชามติหรือไม่ รวมถึงยังไม่มีความแน่ใจว่าจะมีการทำประชามติในลักษณะนี้เกิดขึ้นหรือเปล่า 

เนื่องจากเวลานี้ในมือของคอรอจะมีคำถามอยู่ 2 ชุด ชุดแรกเป็นคำถามจากภาคประชาชน และอีกชุดเป็นคำถามจากคณะกรรมการศึกษาฯ ทั้งนี้หากมีใช้คำถามของคณะกรรมการศึกษาฯ ภาคประชาชนมีความกังวลว่าอาจจะทำให้การทำให้รัฐธรรมนูญไม่เดินหน้า เกิดความสับสน และเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลจะดำเนินการเปิดทางให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการจัดทำฉบับใหม่ได้จริงหรือไม่

ส่วนความกังวลในข้อที่สองคือความไม่แน่นอนว่าจะมีการจัดทำประชามติหรือไม่นั้น เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชูศักดิ์ ศิรินิล ออกมาแถลงข่าวว่า การจัดทำประชามติ ควรทำแค่สองครั้งก็พอ หากยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/64 คือการทำประชามติตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (เปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร.) และครั้งที่สองคือตอนลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 

ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้มีการยื่นญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เข้าไปในสภา พร้อมกับยื่นญัตติเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติเข้าไปด้วย เพื่อให้เหลือเพียงการใช้เสียงข้างมากเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้หลายฝ่ายตรงกัน

แต่ปัญหาคือหากมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เข้าไปในสภาแล้ว สภารับหลักการวาระแรกและเดินหน้าต่อไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการได้ เราก็จะไม่ได้ทำประชามติในครั้งเริ่มต้น แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทยจะถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสุดท้ายแล้วจะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ หากจะมีการแก้ไขเพื่อเปิดทางให้มีการร่างใหม่ขึ้นมา ทั้งหมดนี้คือความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น 

ในส่วนของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นอกจากพรรคเพื่อไทย ก็ยังมีร่างของพรรคก้าวไกลที่ยื่นเสนอต่อสภาไว้เช่นกัน และเขียนไว้ได้อย่างน่าสนใจว่าจะให้มีการเลือกตั้งส.ส.ร. ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ มี 100 คนมาจากเขต และอีก 100 คนมาจากบัญชีรายชื่อ โดยยื่นไว้เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งคาดหวังว่าทั้งสองร่างนี้จะได้เข้าสู่วาระการพิจารณาพร้อมกัน 

ทั้งนี้เห็นว่า สถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่ควรเฝ้าระวังและอาจมีความเปลี่ยนแปลงได้ตลอด โดยที่ภาคประชาชนไม่สามารถที่จะควบคุมอะไรได้เลย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร รัฐบาลพร้อมที่จะทำให้กระบวนการทำประชามติร่างโดยฉบับใหม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างสูงสุดหรือไม่ 

สิ่งที่ภาคประชาชนต้องเตรียมรับมือคือ หากกระบวนการจัดทำประชามติครั้งแรกไม่เกิดขึ้น ก็ไม่เป็นไร เราก็สามารถจับตากระบวนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในรัฐสภาต่อได้ แต่หากมีการจัดทำประชามติในครั้งแรก อย่างแรกที่เราจะต้องพิจารณาคือคำถามที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นอย่างไร คำถามเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่หรือยิ่งสร้างความสับสนให้กับคนในสังคมและยิ่งทำให้กระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไม่ได้

หากคำถามที่มีการล็อกการแก้ไข หมวด 1-2 เป็นคำถามที่ถูกใช้ในการทำประชามติครั้งแรกจริงๆ ประชาชนก็จะเกิดความสับสน และกระบวนการในการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะต้องเถียงกันไปอีกยาว เพราะว่าคำถามที่มีล็อกการแก้ไข หมวด 1-2 ทำให้ประชาชนมี 2 เรื่องที่จะต้องตัดสินใจ

หากเราเห็นด้วยหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่เราไม่เห็นด้วยการยกเว้น หมวด 1 หมวด 2 เราจะออกเสียงอย่างไร หากเราออกเสียงว่าเห็นชอบให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ เสียงของเราก็จะถูกนับไปด้วยว่าเราเป็นคนที่ต้องการให้มีการล็อกหมวด 1 หมวด 2 ไว้ และหลายคนไม่ต้องการเป็นตราประทับแบบนั้น

ฉะนั้นหากจะให้ดีที่สุดคำถามในการจัดทำประชามติในครั้งแรกจะต้องเปลี่ยนไปด้วยคำถามที่ไม่ซับซ้อนและเป็นการตั้งคำถามที่เข้าใจง่ายที่สุด พื้นฐานที่สุด คือเห็นชอบหรือไม่ที่มีการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง