ไม่พบผลการค้นหา
เหตุการณ์ล้อมสังหารนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อปี 2519 ยังคงตกอยู่ในสภาวะลืมไม่ได้จำไม่ลง ความพยายามในการพูดถึงเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคมเมื่อ 46 ปีก่อนจนถึงตอนนี้ ยังคงตอกย้ำและทวงถามความยุติธรรมให้แก่วีรชนที่เสียชีวิตลงอยู่เรื่อยมา

เว็บไซต์โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” รายงานคำประกาศเกียรติคุณ หนังสือ ‘Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976 Massacre in Bangkok’ (ช่วงขณะแห่งความเงียบงัน: สภาวะลืมไม่ได้ จำไม่ลงของเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 ที่กรุงเทพฯ) ของ ศ.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐฯ จากการได้รับรางวัลชนะเลิศประจำปี 2022 สำหรับหนังสือในสายมนุษยศาสตร์ ของ European Association for Southeast Asian Studies (EuroSEAS)

71j8qOhVIlL.jpg

โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ระบุว่า รางวัลนี้ไม่ได้เป็นเพียงคำประกาศเกียรติคุณต่อความมุ่งมั่นทุ่มเทของอาจารย์ธงชัยที่อุทิศขีวิตให้กับการต่อสู้เพื่อไม่ให้ผู้คนหลงลืมความโหดร้ายทารุณในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่รางวัลนี้จะช่วยให้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาเป็นที่รับรู้ของวงวิชาการระดับโลกมากยิ่งขึ้น และอาจนำไปสู่การศึกษาที่ลึกซึ้งต่อไป

ทั้งนี้ คำประกาศเกียรติคุณของ EuroSEAS ที่มอบรางวัลชนะเลิศสำหรับหนังสือในสายมนุษยศาสตร์ แก่หนังสือของ ศ.ธงชัย อย่าง ‘ช่วงขณะแห่งความเงียบงัน: สภาวะลืมไม่ได้ จำไม่ลงของเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 ที่กรุงเทพฯ’ ว่า “หนังสืออันทรงพลังทางอารมณ์เล่มนี้ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ทางความทรงจำของเหตุการณ์อันเป็นจุดพลิกผันในการเมืองไทย จากการสังหารนักศึกษาซึ่งได้รับการจัดตั้งโดยรัฐ ในมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ”

“ส่วนหนึ่งในหนังสือวางอยู่บนฐานการเลือกระเบียบวิธีการบนแบบแผนอันหลากหลาย อีกทั้งวาดภาพทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาในฐานข้อมูล และการนำเสนออันเหมาะสมของชิ้นงาน แต่สิ่งที่แยกมันออกจากกัน คือ การเป็นศูนย์กลางของตัวผู้เขียนไปสู่การเล่ายรรยายเรื่องราว” EuroSEAS ระบุถึงคุณภาพของงานเขียนและตัวผู้เขียน

“ธงชัย วินิจจะกุล เป็นแกนนำนักกิจกรรมในเดือน ต.ค. 2519 เขารอดชีวิตจากการล้อมสังหาร และมีบทบาทแกนกลางสำคัญในการจัดงานรำลึกมานับตั้งแต่วันนั้น ด้วยความเคารพมา ณ ที่นี้ หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานชิ้นเอกของการส่องสะท้อนงานเขียนทางวิชาการ ในขณะที่ผู้เขียนนำทางไปอย่างเชี่ยวชาญและละเอียดอ่อนต่อความท้าทายบนตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในเรื่องที่เขาเล่า

หนังสือได้สร้างความสำเร็จในทางระเบียบวิธีการหลายประการ หนึ่งในนั้นที่เป็นวิธีการอันโดดเด่นเป็นพิเศษ คือ บทสัมภาษณ์ของผู้เขียนกับผู้กระทำการล้อมสังหาร และการเล่าเรื่องการอย่างระมัดระวังของบทสัมภาษณ์เหล่านั้น

มันยังได้สร้างการคุณูปการทางทฤษฎี ด้วยเนื้อหาเบื้องต้นในปริมณฑลการศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแนวคิดว่าด้วย “ลืมไม่ได้” หรือความจำเสื่อม ในปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในภูมิภาคอันได้ส่งมอบความทารุณโหดร้ายของประวัติศาสตร์ของศตวรรษที่ 20 และข้อจำกัดที่ถูกวางอยู่บนวาทกรรมในทางสาธารณะในหลายประเทศ

สุดท้ายนี้ งานในทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทยในยุคร่วมสมัย และถ่ายทอดคำเตือนอันทรงพลังไปยังอนาคตเกี่ยวกับการเมือง และสังคม และบทบาทของราชวงศ์ ด้วยคุณภาพทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้ ช่วงขณะแห่งความเงียบงัน เป็นงานชิ้นพิเศษ และหาได้ยากยิ่ง จากการอธิบายความรู้สึกและความโศกเศร้าอันหยั่งลึกของนักวิชาการผู้มีโวหารสำนวนอันงดงาม” EuroSEAS ระบุ

“ในตัวชิ้นงานเองยังเป็นอนุสาวรีย์แด่ผู้วายชนม์”


เข้าชมเว็บไซต์โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ล้อมสังหารนักศึกษาบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทาง: https://doct6.com/