ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ก่อตั้งสถาบันการเรียนรู้ด้านธุรกิจและนักศึกษาไทยในญี่ปุ่น สนับสนุน ‘การคิดเชิงวิพากษ์’ พร้อมชูหลักการ ‘technovate’ โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกัน มุ่งรับมือโลกยุคเทคโนโลยีปั่นป่วนและมีข้อมูล 'มากเกินไป'

นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นถูกตีแผ่เรื่องอื้อฉาวที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและคู่ค้าทางธุรกิจอยู่หลายกรณี เช่น เมื่อปี 2011 อดีตประธานบริหารของ 'โอลิมปัส' บริษัทผู้ผลิตกล้องและอุปกรณ์เสริมที่มีชื่อเสียงติดอันดับต้นๆ ของโลก ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทในเครือโอลิมปัส 'ตกแต่งบัญชี' เป็นเวลานานเกือบ 20 ปี เพื่อปิดบังข้อมูลเรื่องการขาดทุนของบริษัท

ส่วนบริษัท'โตชิบา' ก็ถูกเปิดโปงเมื่อปี 2015 ว่าตกแต่งบัญชีการเงินเช่นเดียวกัน รวมถึง 'นิสสัน' ที่ผู้บริหารชาวต่างชาติอย่าง 'คาร์ลอส โกส์น' ถูกจับกุมและไต่สวนพฤติกรรมมิชอบเมื่อปีที่ผ่านมา โดยที่คดีความดังกล่าวยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงง่ายๆ

นอกจากนี้ยังมีกรณี 'บริษัททาคาตะ' ผู้ผลิตถุงลมนิรภัยให้กับรถยนต์หลายแบรนด์ ถูกสอบสวนตั้งแต่ปี 2015-2017 กรณีสินค้าบางล็อตไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้ซื้อรถยนต์จำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบจากถุงลมที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ ทั้งยังมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของรถยนต์ญี่ปุ่นอีกหลายแบรนด์ซึ่งใช้ถุงลมนิรภัยของทาคาตะด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอแผนปฏิรูปหลายด้าน ทั้งมาตรการกำกับดูแลธุรกิจต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และป้องกันความผิดพลาดในกระบวนการผลิต แต่สถาบันการศึกษาต่างๆ ในญี่ปุ่นวางแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและองค์กรธุรกิจก่อนหน้านั้นแล้ว เห็นได้จากการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก

GLOBIS_Tokyo Campus_5.JPG
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจในญี่ปุ่นถูกปรับเปลี่ยนไปช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดจากปัจจัยหลายประการ

กรณีของ 'มหาวิทยาลัยวาเซดะ' ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเก่าแก่ของญี่ปุ่น พัฒนาหลักสูตรโรงเรียนบริหารธุรกิจนานาชาติ เพื่อให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีการเพิ่มจำนวนวิชาที่เกี่ยวกับ 'บรรษัทภิบาล' เน้นการเรียนรู้วิธีบริหารจัดการและตรวจสอบถ่วงดุลธุรกิจต่างๆ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและเป็นธรรม ลดโอกาสทุจริตคอร์รัปชัน

ส่วนมหาวิทยาลัย GLOBIS ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อน แต่ปัจจุบันถือเป็นสถาบันการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่น มุ่งเน้นการเรียนการสอนวิธีบริหารจัดการ 'เทคโนโลยี' และ 'นวัตกรรม' ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญและสอดคล้องกับทิศทางการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลมากกว่า

'โยชิโตะ โฮริ' ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยโกลบิสและผู้บริหาร GLOBIS Capital Partners เปิดเผยกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า การบริหารจัดการธุรกิจในยุคนี้ มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในหลายๆ ด้าน เขาจึงเรียกการผสมผสานของทั้งสองสิ่งว่า Technovate ซึ่งนำเอาคำว่า Technology และ Innovate มารวมกัน โดยระบุว่า การออกแบบและการบริหารจัดการ 'เทคโนเวต' ต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ 'การคิดเชิงวิพากษ์' (Critical Thinking)

โฮริระบุว่า การบริหารจัดการเทคโนเวตจะมุ่งเน้นที่การเรียนรู้เกี่ยวกับโปรแกรมหรือระบบ โครงสร้างหรืออัลกอริทึมที่จะนำมาใช้กับธุรกิจในยุคดิจิทัล แต่ 'การคิดเชิงวิพากษ์' จะเป็นการฝึกฝนให้บุคลากรที่เรียนรู้ด้านนี้มีความสามารถในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล 

GLOBIS-Yoshito Hori โยชิโตะ โฮริ-1.jpg
  • โยชิโตะ โฮริ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย GLOBIS

โฮริย้ำว่า ถ้าคนไม่สามารถคิดเชิงวิพากษ์ได้ ก็ยากที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ได้ และเมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ไม่ได้ หรือไม่รอบด้าน ก็ไม่อาจนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ และไม่อาจประเมินข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขหรือจัดการปัญหาได้อย่างเป็นระบบ

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงสรุปว่า การเรียนรู้เรื่อง 'เทคโนเวต' เป็นสิ่งสำคัญ แต่การเรียนรู้วิธีคิดและวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลก็จำเป็นไม่แพ้กัน และบุคลากรยุคใหม่ควรต้องเรียนรู้ 'เทคโนเวต' คู่กับ 'การคิดเชิงวิพากษ์' รวมถึงยึดหลักการพัฒนาตนเองด้วยความมุ่งมั่น เขาเชื่อว่า ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลกในอนาคตด้วย


โลกธุรกิจเปลี่ยน เพราะ 'เทคโนโลยีปั่นป่วน' การเรียนรู้ก็ต้องปรับให้ทัน

ข้อมูลที่รวบรวมโดย GLOBIS ระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นธุรกิจที่ชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยมากที่สุด และนักธุรกิจญี่ปุ่นยังเป็นทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในไทยช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมาด้วย คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาทเมื่อปี 2018 ทำให้มีการเจริญเติบโตและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย 

ส่วนมาตรการยกเว้นวีซ่าคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่ชาวไทยไปเยือนมากที่สุดในแต่ละปี มีผลให้คนไทยต้องการไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

องค์การสนับสนุนนักศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น (JASSO) ระบุว่า นักศึกษาต่างชาติในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 12 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ (2019) โดยมีผู้สมัครเข้าเรียนใหม่อย่างน้อย 31,938 คนในปีที่ผ่านมา ส่วนนักเรียนไทยที่เลือกไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนไทยทั้งหมดที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ

'วิจิตรอาภา มารมย์' หรือ 'ออน' นักเรียนไทยซึ่งไปศึกษาที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จบแล้วยังทำงานต่อ ควบคู่ไปกับการเรียนปริญญาโท MBA พาร์ตไทม์ที่ GLOBIS เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับบริษัทเอกชนหลายแห่ง ทำให้ผู้เรียนหลักสูตรต่างๆ ได้มีโอกาสเพิ่มทักษะและประสบการณ์บริหารจัดการจากกรณีศึกษา (case study) ที่เกิดขึ้นจริงในองค์กร นักศึกษาไทยหลายคนจึงเลือกเดินทางไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ส่วนอีกหลายคนก็เลือกเรียนออนไลน์จากกรุงเทพฯ

ด้วยความที่ 'ออน' ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นมาประมาณ 12 ปี ทำให้เธอสามารถเรียนวิชาบางตัวในภาษาญี่ปุ่นได้ แต่หลักสูตรของที่นี่ส่วนใหญ่จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อนร่วมชั้นกว่าครึ่งเป็นชาวต่างชาติ บรรยากาศการเรียนรู้จึงมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นเรื่องปกติ

วิจิตรอาภา มารมย์-ออน นักเรียนไทยในญี่ปุ่น-1.JPG
  • วิจิตรอาภา มารมย์ หรือ 'ออน' นักศึกษาไทยในญี่ปุ่น

'ออน' บอกกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า การเรียนรู้การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และการฝึกฝนทักษะบริหารจัดการจากกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง คือ 'จุดแข็ง' ของการศึกษาที่นี่

"ออนอยู่ที่ญี่ปุ่นมาประมาณ 12 ปีแล้วนะคะ ก็จะเรียน ป.ตรีแล้วก็ทำงาน...เห็นด้วยว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะชอบการ compromise คือว่า เห็นด้วย ไม่ค่อยมีการถกเถียง ประนีประนอม แต่ว่าญี่ปุ่นเปลี่ยนไปมากเลยในช่วงปีหลังๆ มานี้ เนื่องจากมี technology disrupt และมีบริษัท venture, startup แล้วก็มีต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากมาย... คนไทยอาจจะไม่ค่อยถกเถียงมากกว่าคนญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจะถกเถียงในเรื่องของธุรกิจแบบมืออาชีพ ส่วนคนไทยจะไม่เถียงเลย ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว คิดว่าถ้าคนไทยมา ก็จะยิ่งได้เรียนรู้ mindset ตรงนี้" 

'ออน' ย้ำว่า การเรียนรู้กรณีศึกษาในสถาบันด้านธุรกิจทำให้ผู้เรียนต้องเข้าถึงเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและเป็นปัญหาจริงๆ ในแวดวง จึงเกิดความท้าทายและเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ แต่สิ่งสำคัญคือคนไทยต้องเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ข้อมูลในยุคที่สื่อสารสนเทศต่างๆ 'มีมากมายเกินไป'

"คนไทยอาจจะคิดในเรื่องของทฤษฎีเป็นหลัก เรียนเพื่อได้ใบประกาศนียบัตร เรียนเพื่อจะให้ได้ทักษะด้านการตลาด บัญชี การเงิน หรืออย่างไรก็ตาม แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ออนได้จาก critical thinking คือ ตอนนี้โลกเรากำลังเข้าสู่ยุคที่มีข้อมูลมากเกินไป มีทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน เรื่องเวลา ที่มีลิมิต แทนที่ทุกคนจะคิดซ้ำไปมาว่าจะแก้ปัญหายังไง ทุกคนจะต้องหยุดมองและคิดว่า "อะไรคือปัญหา" ก่อน ซึ่งหลายๆ คนอาจมองข้ามไป"

"ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจหรือว่าการพัฒนาประเทศมวลรวม หรือเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัวของเราเองก็ตามที ปัญหาๆ หนึ่งมีสาเหตุมาจากอะไรหลายอย่าง ไม่มีอะไรหรอกที่เป็นเหตุผลอันเดียว"

"ตอนเช้าเรามา รถติด มันมีหลายสิบเหตุผล ในฐานะที่คุณเป็น leader หรือเป็นผู้บริหาร หรือเจ้าของโปรเจกต์ คุณจะเริ่มแก้จากตรงไหน หรืออะไรคือจุดที่เป็นคอขวดของปัญหา และอะไรคือสิ่งที่เมื่อคุณแก้ตรงนั้นแล้วมันจะได้ impact สูงสุด นี่คือสิ่งที่ผู้นำจะต้องคิดเพื่อจัดสรรทรัพยากรที่คุณมี และใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะฉะนั้น critical thinking ถ้าเรียนได้จะสามารถปรับใช้ได้กับหลายๆ อย่าง"

ภาพ: Eutah Mizushima on Unsplash และ GLOBIS

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: