ไม่พบผลการค้นหา
'ชูศักดิ์' แจงต้องแก้กฎหมายประชามติ ปลดล็อกเสียงข้างมาก 2 ชั้นให้สมบูรณ์ ก่อนเริ่มทำประชามติครั้งแรก คาดใช้เวลา 6 เดือนนับจากนี้แล้วเสร็จ ด้าน 'พริษฐ์' เรียกร้องรัฐบาล เร่งเปิดสภาฯ สมัยวิสามัญ ถกแก้กฎหมายประชามติ เพื่อนำไปทำประชามติครั้งแรก

ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยภายหลังมีการประชุมหารือเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ว่า หลังคณะรัฐมนตรีมีมติให้ทำประชามติจำนวน 3 ครั้ง และจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายประชามติ และเมื่อกฎหมายเสร็จสมบูรณ์จึงค่อยเสนอ พ.ร.บ. จัดทำประชามติ ซึ่งจะเป็นร่างของ ครม. ที่ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ ซึ่งเนื้อหาและหลักการจะไม่แตกต่างกับร่างของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ในการแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้เสียงข้างมากจำนวน 2 ชั้น หรือ Double Majority ที่ตกผลึกร่วมกันว่าจะใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ เกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ 

โดยการเสนอกฎหมายประชามติจะทำโดย 2 สภาฯ คือ เสนอผ่าน ครม. ส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และจากนั้นจะส่งไปยังวุฒิสภาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องรอวุฒิสภาชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกกันเองเข้ามาทำหน้าที่ คาดว่าจะใช้เวลาระยะเวลาประมาณ 6 เดือนนับจากนี้ หรือช่วงปลายปีก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการจัดทำประชามติครั้งแรก พร้อมย้ำว่าพยายามที่จะเร่งรัดนำกฎหมายเข้าสภาฯ และจะมีการเปิดสมัยวิสามัญในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ชูศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การทำกฎหมายประชามติ เมื่อเข้าสู่สภาฯ ไปแล้ว และมีการรับหลักการในวาระ 1 ก็จะจัดตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา ก็คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อเสนอสภาเห็นชอบในวาระ 3 ก่อนที่จะส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณา 

“ปัญหาใหญ่ในขณะนี้ จะต้องรอวุฒิสภาชุดใหม่ และเราคิดว่าวุฒิสภาชุดใหม่คงจะราบรื่น ไม่ติดขัดอะไร” ชูศักดิ์ กล่าว

ชูศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า การจัดทำประชามติไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องไปทำการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือ เลือกตั้งนายกฯ อบจ. ซึ่งเป็นโจทย์ของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการเอง และไม่ควรที่จะทำ3 วาระรวด เพราะมีเนื้อหาสาระหลายประเด็นประเด็นที่ต้องพิจารณาพิจารณา หรือจะต้องทำเป็นพระราชกำหนดหรือไม่นั้นอยู่ที่รัฐบาลพิจารณา

ขณะเดียวกัน พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายใน 3 ประเด็นว่า 1. การทำประชามติจะเริ่มนับหนึ่ง เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายประชามติแล้วเสร็จ ซึ่งตราบใดที่กฎหมายประชามติยังไม่ถูกแก้ไขให้เรียบร้อย ก็ยังไม่สามารถนับหนึ่งได้ และไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาการทำประชามติครั้งที่หนึ่งได้ จึงขอให้รัฐบาลสื่อสารให้กับประชาชนทราบให้ชัดเจน

2. เมื่อมีร่างกฎหมายประชามติของพรรคก้าวไกล และของพรรคเพื่อไทย เข้าสู่การเสนอต่อสภาฯ แล้ว ก็คาดหวังให้รัฐบาลเสนอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญโดยเร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อจะพิจารณากฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในเดือนมิถุนายน 

3. ยอมรับว่าพรรคก้าวไกลยังกังวลต่อปัญหาในการจัดทำประชามติ ซึ่งขอให้ทบทวนคำถามในการจัดทำประชามติ ให้เป็นคำถามที่เปิดกว้างว่า ท่านเห็นชอบหรือไม่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะทำให้โอกาสที่ประชามติผ่านได้

“เราเข้าใจดีว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เรามองว่ารัฐบาลสามารถถามคำถาม เปิดกว้างแบบนี้ได้ และยังคงรักษาจุดยืนของตัวเอง หากประชามติผ่านความเห็นชอบไปแล้ว รัฐบาลยังมีสิทธิ์ร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ ส.ส.ร. ที่ไม่ให้แก้ไขหมวดที่ 1-2 จึงมองว่าข้อเสนอนี้เสนอด้วยความปรารถนาดี เพื่อให้การจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จ ในการทำประชามติครั้งแรกผ่าน