ไม่พบผลการค้นหา
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน ถือเป็น ครม.ชุดที่ 62 นับตั้งแต่มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้ง ครม.ประยุทธ์ 2/1 เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 ยิ่งไล่เรียงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินสมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 มีการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่รวมแล้ว 4 ครั้ง จะพบข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะยังคงมีผู้สูงอายุอยู่ในวัยชรา นั่งแท่นเก้าอี้ รมต.ในวง ครม.พุ่งเกิน 50%

ไล่เรียงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินสมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 มีการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่รวมแล้ว 4 ครั้ง

ครม.ประยุทธ์ 2/4 เป็นการปรับแทนตำแหน่งรัฐมนตรีที่หลุดออกจากตำแหน่งด้วยเหตุ มี 3 รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เพราะต้องคำพิพากษาให้จำคุก ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1.ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วย (รมช.) ว่าการกระทรวงคมนาคม 2.พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และ 3. ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ทันทีที่ 4 รัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่งใหม่ ประกอบด้วย วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ และ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ

ไล่เรียงข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับ ครม.ประยุทธ์ 2/4 จะพบว่ามีจำนวน 36 คน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ที่กำหนดให้ รัฐมนตรีไม่เกิน 35 คนรวมกับนายกฯ จะมีทั้งหมด 36คน 

ครม.ชุดปัจจุบันรัฐมนตรีหญิงมีเพียง 5 คน คือ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 13.8 เท่านั้น ที่มีสัดส่วนสตรีนั่งรัฐมนตรี นอกนั้นเป็นสัดส่วนของเพศชายถึงร้อยละ 86.1 

คณะรัฐมนตรี ประยุทธ์ 2_4 330_03.jpg

ขณะที่รัฐมนตรีซึ่งมาจากทหาร ยศพลเอก มีจำนวน 4 เท่านั้น คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แม้จะเป็นรัฐมนตรีสายนายพลที่สืบทอดอำนาจจากรัฐบาล คสช. แต่ทว่า 'พล.อ.ประยุทธ์' และ 'พรรคพลังประชารัฐ' แกนนำหลักก็ต้องเกลี่ยสัดส่วนให้กับพรรคร่วมรัฐบาลในหลายเก้าอี้

ในจำนวน 36 รัฐมนตรี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ถือเป็นรัฐมนตรีที่มีอายุมากที่สุด 80 ปี (เกิดวันที่ 21 ก.ย. 2483) ประวัติทางการเมืองเป็น ส.ส. 5 สมัย เคยผ่านตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีอายุมากที่สุดรองลงมา คือ 75 ปี (เกิด 11 ส.ค. 2488)

คณะรัฐมนตรี ชัยวุฒิ อนุพงษ์ เฉลิมชัย สินิตย์ กัลยา สาธิต 30_05.jpgประวิตร ศักดิ์สยาม อนุทิน มนัญญา คณะรัฐมนตรี ภูมิใจไทย 10330_13.jpg

โฉมหน้ารัฐมนตรีที่อายุเกิน 60 ปีมีมากถึง 21 คนจากทั้งหมด 36 คน ในเก้าอี้ ครม.ลุงตู่ 2/4 สะท้อนให้เห็นว่า ครม.ประยุทธ์2/4 มีสัดส่วนผู้สูงอายุเกินครึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 58.3

สำหรับรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุด คือ อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ด้วยวัย 37 ปี ที่จะครบในวันที่ 18 เม.ย. 2564 เป็น ส.ส. 2 สมัย และเป็นรัฐมนตรีครั้งแรก

สุริยะและสมศักดิ์

แชมป์ที่เคยผ่านตำแหน่งรัฐมนตรีมากที่สุดใน ครม.ชุดนี้ อยู่ที่จำนวน 13 ครั้ง คือ 'สมศักดิ์ เทพสุทิน' รมว.ยุติธรรม วัย 66 ปี เคยผ่านการเป็น ส.ส.มาถึง 10 สมัย ไล่ตั้งแต่เป็น ส.ส.สุโขทัย สังกัดพรรคกิจสังคม ครั้งแรกเมื่อปี 2526 จากนั้นย้ายเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อปี 2544 กระทั่งล่าสุดเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อปี 2562 ซึ่งถือจำนวนครั้งที่ 10 ที่รัฐมนตรีผู้เป็นเจ้าของวาทะ 'รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา"  

'สมศักดิ์ เทพสุทิน' เคยนั่งรัฐมนตรี 13 ครั้ง ดังนี้  

17 เม.ย. 2535 รมช.สาธารณสุข

29 ก.ย. 2535 รมช.คมนาคม

18 ก.ค. 2538 รมช.คมนาคม

29 พ.ย. 2539 รมช.คมนาคม

24 ต.ค. 2540 รมว.สาธารณสุข

14 พ.ย. 2540 รมว.อุตสาหกรรม

17 ก.พ. 2544 รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

3 ต.ค. 2545 รมว.อุตสาหกรรม

8 พ.ย. 2546 รมว.เกษตรและสหกรณ์

6 ต.ค. 2547 รองนายกรัฐมนตรี

11 มี.ค. 2548 รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา

2 ส.ค. 2548 รมว.แรงงาน

10 ก.ค. 2562 รมว.ยุติธรรม

ขณะที่ ประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา วัย 71 ปี เป็นรัฐมนตรีที่ผ่านการเป็น ส.ส.มากที่สุด ใน ครม.ชุดนี้ คือ 12 สมัย โดยเป็น ส.ส.ครั้งแรกเมื่อปี 2518

ตรีนุช สินิตย์ ชัยวุฒิ วีรศักดิ์ รัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี 0330100616000000.jpg

สำหรับรัฐมนตรีสมัยแรกใน ครม.ชุดนี้ มีจำนวน 17 คน ประกอบด้วย 1.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม 2.อนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ 3.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ 4.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม 5.วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม 6.สินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์  

7.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ 8.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน 9.สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน 10.นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย 11.อิทธพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม

12.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ 13.ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 14.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ 15.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข 16.พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา และ 17.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ขณะที่สัดส่วน ครม.ชุดปัจจุบัน ยังคงยึดโควตาของแต่ละพรรคการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลตามจำนวนเสียง ส.ส.ในสภาฯ โดยพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล มีรัฐมนตรี 12 คน พรรคภูมิใจไทย 7 คน พรรคประชาธิปัตย์ 7 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน ขณะที่โควตาของ พล.อ.ประยุทธ์ มีจำนวน 7 คน

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ ครม.ชุดที่ 62 หรือ ครม.ประยุทธ์ 2/4 จะมีการปรับ ครม.เกิดขึ้นอีกหรือไม่ ด้วยปัจจัยที่โอกาสการปรับ ครม.มีสูง 

เพราะแรงกระเพื่อมภายในพรรคพลังประชารัฐที่ประกอบด้วยหลายก๊ก หลายก๊วน ยังมีสูง ด้วยปัจจัย ครม.ชุดปัจจุบันไม่ได้เป็นเอกภาพ ซึ่งความเป็นเอกภาพไม่เทียบเท่ารัฐบาลประยุทธ์ภาคแรกที่สามารถอยู่ยาวเกิน 4 ปีนับแต่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557

ข่าวที่เกี่ยวข้อง