ไม่พบผลการค้นหา
นศ.ทุนนวัตกรรมสายอาชีพ วอนนายกฯ หนุนทุนสายอาชีพให้เด็กยากจนทุกปี ช่วยเปิดโอกาส มีงานทำสานฝันเป็นจริง ด้าน ดร.ประสารชี้ หากนักศึกษาทุนรุ่นหนึ่ง 2,053 คน เข้าสู่ตลาดแรงงาน สร้างมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ในรูปตัวเงินถึงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ที่อาคารเดอะพอร์ทอล ไลฟ์สไตล์ คอมเพล็กซ์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงาน "ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง" โดยมีผู้นำนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1 และผู้บริหาร ครู อาจารย์ จากสถานศึกษาสายอาชีพจำนวน 36 แห่ง เข้าร่วมกว่า 300 คน ภายในงานมีกิจกรรม Youth Talk ตัวตน ความฝัน ความหวังและอนาคต โดยตัวแทนนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1 ซึ่ง นายนภัทร อินทร์ใจเอื้อ หรือกัน เดอะสตาร์ ได้ร้องเพลง "ชีวิตลิขิตเอง" ให้กำลังใจนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงด้วย

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ "ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง: สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน" ว่า การเรียนสายอาชีพนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้จริง ประเทศชั้นนำของโลก เช่น เยอรมนี ไต้หวัน สิงคโปร์ ล้วนให้ความสำคัญกับคุณภาพแรงงานในระดับสายอาชีพชั้นสูง โดยถือเป็นกำลังแรงงานกลุ่มสำคัญที่ทำให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากกว่าแรงงานในระดับการศึกษาอื่นๆ โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. มีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สร้างกำลังคนสายอาชีพ ให้มีสมรรถนะและทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่ให้ความสำคัญกับสาขา STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะอาชีพการทำงานตาม 10 อุตสาหกรรม S Curve และ New S Curve เป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลและความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น

S__14278987.jpg

ดร.ประสาร กล่าวว่า สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีรูปแบบการทำงานที่เป็นนวัตกรรมกับสถานประกอบการและมีความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น วิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรี มีโครงการความร่วมมือการจัดการศึกษาระดับ ปวส. สาขาระบบขนส่งราง สาขาบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าและสาขาเทคนิคเครื่องกลในระบบขนส่งทางราง ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาทางรถไฟหลิ่วโจว (Liuzhou Railway Vocational Technical College) ประเทศจีน ที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 พัฒนาประเทศและพื้นที่ EEC ด้านคมนาคมขนส่งระบบราง นักเรียนที่เรียนจบได้วุฒิการศึกษา 2 ใบจากทั้งไทยและจีน ถือเป็นนวัตกรรมการเรียนการสอนที่จะทำให้นักศึกษามีประสบการณ์อย่างรอบด้าน นอกจากความร่วมมือกับต่างประเทศแล้วหลายสถานศึกษายังมีความร่วมมือทวิภาคีกับสถานประกอบการ ภาคเอกชน ซึ่งจากงานวิจัยระดับนานาชาติ พบว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการศึกษาสายอาชีพ การพัฒนาความร่วมมือกับสถานประกอบการและภาคเอกชนในการพัฒนาทักษะที่ทำให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้จริง มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างเป็นแนวทางการพัฒนาที่สำคัญอย่างยิ่ง

"คาดว่าโครงการนี้จะมีความคุ้มทุนอย่างมาก เพราะเป็นการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีศักยภาพสูงขึ้น สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างทั่วถึง ช่วยแก้ปัญหาแรงงานได้ตรงจุด รวมถึงทำให้สถาบันการศึกษาสายอาชีพได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยหากนักเรียนที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูงจำนวน 2,053 ทุน ในปีแรก ออกไปสู่ตลาดแรงงาน ข้อสมมุติฐานที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ก็คือ เมื่อพวกเขาเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทำงานหลังจบการศึกษาจนถึงเกษียณอายุ 60 ปี พวกเขาจะสามารถสร้างมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) ในรูปตัวเงินถึงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR หรือ Internal Rate of Return) อยู่ที่ร้อยละ10" ดร.ประสาร กล่าว

ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ตามสถิติพบว่าแต่ละปีเด็กประมาณ 7 แสนคน ในจำนวนนี้ 1 แสนคนมีฐานะยากลำบากและมีเพียง 5,000 คนมีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กสศ.ต้องการเข้ามาลดช่องว่างจุดนี้เกิดเป็นโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สนับสนุนให้เรียนต่อในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ซึ่งปีการศึกษา 2562 เป็นปีแรกและได้คัดเลือกผู้รับทุนรุ่น 1 เรียบร้อยแล้ว โดยมีสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันอุดมศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยชุมชน เข้าร่วมโครงการ 36 สถาบัน 26 จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ มีผู้รับทุน 2,053 คน แบ่งเป็น ผู้รับทุนในประเภทประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่อง ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)/อนุปริญญา  (ทุน 5 ปี) จำนวน 922 ทุน และประเภท ปวส./อนุปริญญา (ทุน 2 ปี) จำนวน 1,131 ทุน เข้าศึกษาต่อ        ใน 30 สาขาวิชาขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของประเทศ โดยสาขาวิชาที่มีจำนวนผู้รับทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สาขาเครื่องกล จำนวน 286 ทุน สาขาเกษตรศาสตร์ จำนวน 220 ทุน สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม จำนวน 200ทุน สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 163 ทุน และสาขาไฟฟ้า จำนวน 161 ทุน

"นักศึกษาผู้รับทุนทุกคนมาจากครอบครัวยากลำบาก ซึ่งเราก็พบว่านอกจากปัญหาทางเศรษฐกิจก็ยังมีปัญหาอื่นๆ แฝงมาด้วย จุดนี้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการเรียน ซึ่ง กสศ.มีเป้าหมายให้ทุกคนจบการศึกษาและทำงานเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ดังนั้น การดูแลเมื่อเข้ามาในสถาบันจะต้องมีอาจารย์ช่วยดูแลแทนพ่อแม่ด้วย โดย กสศ.ก็จะมีทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทำหน้าที่ในการติดตามดูแลนักศึกษาทุนจนจบการศึกษาด้วย ส่วนการเตรียมความพร้อมคัดเลือกนักศึกษาทุน รุ่นที่ 2 นั้น ก็อยู่ระหว่างการเริ่มเตรียมการ แต่ กสศ.ยังมีความห่วงใยในเรื่องของงบประมาณ เพราะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งอาจจะทำให้การอนุมัติงบประมาณล่าช้า จึงกังวลว่าอาจจะกระทบต่อการเชิญชวนเด็กมาร่วมโครงการ" นพ.สุภกร กล่าว

นางสาว กัลยาภรศ์ เตาวะโต ชั้น ปวส.1 สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม วิทยาลัยชุมชนสตูล นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 1 กล่าวว่า ตนมีชีวิตที่ลำบาก ไม่มีพ่อแม่ที่คอยดูแลไม่ได้รับความอบอุ่นอย่างคนอื่นๆ ฐานะทางบ้านยากจน เป็นพี่คนโตในบ้าน ที่ต้องดูแลน้องๆ อีก 3 ชีวิต น้องคนแรกอายุ 15 ปี คนที่ 2 อายุ 4 ขวบ คนที่ 3 อายุเพียง 2 ขวบ ไม่มีเสาหลักที่พึ่งพิงได้ แต่มีความฝันเหมือนกับคนอื่นๆ รักงานบริการที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ ฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตส สอบติดมหาวิทยาลัย 3 แห่ง แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ภาระที่บ้านมากมายที่ต้องรับผิดชอบ นอนร้องไห้คนเดียวทุกคืน จนได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. จึงตัดสินใจสมัครโดยที่ไม่ลังเลเ พราะนี่คือโอกาสที่จะได้เรียนต่อในระดับอนุปริญญา และจะได้ทำตามความฝันของตัวเองให้เป็นจริงเพื่อจะดูแลทุกคนในครอบครัวได้

"ขอให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี สนับสนุนทุนนี้ให้แก่รุ่นน้องๆ หนูทุกปี ท่านอย่าทิ้งพวกเรานะคะ ยังมีเด็กด้อยโอกาสอีกมาก ที่มีความฝัน อยากมีงานที่ดีทำ แต่ความยากจนเป็นอุปสรรค ไม่ได้เรียนต่อ ต้องมีชีวิตอยู่กับความยากจนไม่มีจบสิ้น มันทุกข์มากนะคะ คนที่มีฝันแต่ทำให้เป็นจริงไม่ได้ ส่วนหนูได้โอกาสในชีวิตแบบนี้แล้ว จะทำความฝันให้เป็นจริง และเป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้องต่อไปค่ะ" นส.กัยลาภรศ์ กล่าว

ขณะที่นายนาถวัฒน์ ลิ้มสกุล ชั้น ปวช.1 สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม วิทยาลัยเทคนิคพังงา กล่าวว่า "อย่ายอมแพ้" เป็นคำพูดที่ตนบอกกับทุกคนในครอบครัวอยู่เสมอ เพราะชีวิตที่ยากลำบาก บ้านไม่มีแม้หลังคาที่แข็งแรงพอจะคุ้มฝนได้ เรื่องเรียนต่อนั้น ไม่สามารถแม้แต่จะคิด ทั้งบ้านเคยเหลือเงินเพียง 5 บ้าน ไม่มีข้าวกิน ตนไปขอข้าวสารจากบ้านญาติก็ไม่ให้ เรื่องนี้เป็นแรงผลักดันให้ตน พยายามจะหาทางเรียนต่อให้ได้เพื่อจะได้ดูครอบครัว มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ และโชคดีที่ได้รับโอกาสจากทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

ส่วนนางสาวธรรมชาติ แสนซิว ชั้น ปวส.1 สาขาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ กล่าวว่า ดิฉันมีความฝันอยากเป็นครูและสอบติดมหาวิทยาลัยราชภัฎได้ แต่ความสำเร็จนี้ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จึงต้องหยุดความฝันนี้ไว้เพราะไม่มีทุนเรียน ทุนนี้ช่วยเข้ามาเติมเต็ม ชีวิตของเด็กคนหนึ่งและอีกหลายๆ คนให้มีแสงสว่างก้าวต่อไปข้างหน้าได้ จะใช้โอกาสนี้เป็นแรงผลักดันทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้อง

ด้านนางสาวพรรณษา วาจาสิทธิ์ ชั้น ปวช.1 สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม(สยามเทค) กล่าวว่า เกิดมาในครอบครัวที่ไม่มีใครต้องการ อาศัยอยู่ตามบ้านญาติ และต้องออกมาหางานทำ ถูกกระทำข่มเหงจากคนในครอบครัว กดดันจนบางครั้งทำร้ายตัวเอง จนจบมัธยมปีที่ 3 คงจะไม่ได้เรียนต่อแล้ว แต่อาจารย์แนะนำให้สมัครทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง และเมื่อได้รับโอกาสจากทุนนี้ ได้มีเพื่อน ได้มีสังคมที่ดีขึ้น ก็จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่ให้ใครมาดูถูกอีก จะเก็บประสบการณ์ร้ายในอดีตไว้เตือนตัวเอง