จากกรณี ด.ญ.ปารย์ทองแท้ ดีบุญมี ณ ชุมแพ หรือ 'น้องโทนี่' อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนชุมแพศึกษา จ.ขอนแก่น มีอาการกระดูกสันหลังคดงอ ล่าสุดมูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ตกลงรับรักษาน้องโทนี่ โดยภายหลังเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากคณะแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลังอย่างละเอียด
นายแพทย์สำเริง เนติ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังและกระดูกข้อมือ สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ในฐานะแพทย์ผู้วินิจฉัย กล่าวว่า ภาวะกระดูกสันหลังคดเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการที่รักษายาก เนื่องจากการผ่าตัดต้องอาศัยประสบการณ์ความชำนาญของแพทย์ รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้ผลการผ่าตัดสำเร็จด้วยดี
สำหรับอาการของน้องโทนี่ หลังคณะแพทย์ตรวจวินิจฉัยได้พบว่า มีภาวะกระดูกสันหลังคดทางด้านขวา ทำมุมประมาณ 38 องศา ซึ่งโดยทั่วไปภาวะกระดูกสันหลังคดจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่คดเองโดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบได้มากที่สุด และกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่กระดูกสันหลังคดโดยมีสาเหตุจากโรคอื่นเป็นตัวนำ เช่นโรคทางสมอง ระบบประสาท หรือกล้ามเนื้อ รวมถึงกลุ่มที่กระดูกสองข้างโตไม่เท่ากันก็นำไปสู่ภาวะกระดูกสันหลังคดได้ กลุ่มหลังนี้จะพบน้อยกว่าซึ่งการรักษาจะทำโดยเข้าไปแก้ไขที่สาเหตุ
"น้องโทนี่อยู่ในกลุ่มภาวะกระดูกสันหลังคดโดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งมีการรักษาหลักอยู่สองวิธี วิธีแรก คือ การดัดให้ตรงหรือป้องกันไม่ให้คดเพิ่ม โดยใช้เสื้อเกราะเป็นตัวช่วย ส่วนอีกวิธีคือการผ่าตัดเพื่อใช้เหล็กเข้าไปดามกระดูกสันหลังเพื่อยึดตรึงและจัดให้ตรง จะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกสันหลังที่คดมากกว่า 45 องศาขึ้นไป ดังนั้น องศาการคดของกระดูกสันหลังน้องโทนี่จึงยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถลองใช้วิธีดัดและดามด้วยเสื้อเกราะจากภายนอกได้ ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด" นายแพทย์สำเริง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางคณะแพทย์จะติดตามอาการอย่างใกล้ชิดทุก ๆ 6 เดือน ขณะที่น้องโทนี่จะต้องใส่เสื้อเกราะเป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี หรือจนกว่ากระดูกสันหลังจะหยุดการเจริญเติบโต เนื่องจากยังมีความเป็นไปได้ว่าอาการคดอาจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะมีผลกระทบกับโครงสร้างทางร่างกาย โดยเฉพาะการทำงานของหัวใจและปอด หากไปถึงกรณีดังกล่าว การผ่าตัดก็อาจเป็นเรื่องจำเป็น
ทั้งนี้ การผ่าตัดภาวะกระดูกสันหลังคดมีหลายวิธี สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึง คือ ความปลอดภัยของผู้ป่วย ทางสถาบันฯ จึงใช้เครื่องมือที่ช่วยตรวจระบบประสาทตลอดเวลาระหว่างผ่าตัด ทำให้สามารถลดความเสี่ยงจากการดัดกระดูกสันหลังมากเกินไป ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบประสาทได้
นอกจากนี้ อีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญคือการใส่เหล็กดามหรือสกรู ซึ่งต้องทำในตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งทางสถาบันฯ ได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยศัลยแพทย์ คือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด
นายแพทย์ วิธวินท์ เกสรศักดิ์ แพทย์ประสาทศัลยศาสตร์ สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยผ่าตัดภาวะกระดูกสันหลังมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถีสามมิติ ทำหน้าที่สแกนกระดูกผู้ป่วยเป็นภาพสามมิติ ก่อนจะส่งข้อมูลไปยังส่วนที่สอง ได้แก่ หุ่นยนต์ที่มีลักษณะเป็นแขนกล ซึ่งทำหน้าที่กำหนดตำแหน่งวางสกรูเข้าไปในกระดูกอย่างแม่นยำ ขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถีจะช่วยให้ศัลยแพทย์เห็นภาพแบบเรียลไทม์ผ่านจอมอนิเตอร์ระหว่างใส่สกรู ศัลแพทย์จึงสามารถกำหนดระยะ ความลึก และขนาดของสกรูที่เหมาะสม
"โดยหลักการแล้วการใช้สกรูตัวใหญ่จะยิ่งทำให้การยึดแข็งแรง เราจึงสามารถประเมินความเหมาะสมได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถีตัวนี้ การผ่าตัดจึงแม่นยำปลอดภัย และยังช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นอีกด้วย" นายแพทย์วิธวินท์ กล่าว
นางสุภาพ ดีบุญมี ณ ชุมแพ คุณแม่ของน้องโทนี่ กล่าวว่า ตนเองขอขอบคุณคณะแพทย์ทุกท่านที่ให้คำแนะนำในการตรวจวินิจฉัยและการรักษาเป็นอย่างดี หลังจากที่ทางครอบครัวต้องเครียดมาตลอดเวลาเกือบเดือนหลังพบอาการของน้อง ขณะที่ยังไม่ทราบสาเหตุก็คิดไปต่าง ๆ นานาว่าเป็นเพราะเหตุใดได้บ้าง แต่วันนี้หลังได้รับการตรวจอย่างละเอียดแล้วพบว่าน้องโทนี่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ตนจึงมีความดีใจและขอขอบคุณไปยังมูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่ให้โอกาสน้องเข้ารับการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะที่ตอนนี้รู้สึกสบายใจ เนื่องจากน้องโทนี่ได้รับการตรวจโดยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง และด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย
แพทย์ยัน กระดูกสันหลังคด เกิดจากโครงสร้างกระดูกภายใน ไม่ใช่เพราะแบกของหนัก
นายแพทย์ สำเริง กล่าวสรุปว่า ภาวะกระดูกสันหลังคดของน้องโทนี่ มีสาเหตุที่แท้จริงจากโครงสร้างของกระดูกอันเป็นปัจจัยภายใน ไม่ได้เกิดจากการแบกของหนักหรือเกิดจากแรงกระแทกภายนอก ส่วนการใส่เสื้อเกราะของน้องโทนี่ไม่มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เจ้าตัวสามารถออกกำลังกายและทำกิจกรรมทุกอย่างได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม การแบกน้ำหนักที่มากเกินไปก็นับเป็นอันตรายร้ายแรงต่อกระดูกสันหลัง รวมถึงภาวะอาการอื่น ๆ ที่ส่งผลให้กระดูกสันหลังเจ็บปวดรุนแรง โดยมูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงเตรียมพร้อมเปิดตัวโครงการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดด้วยหุ่นยนต์นำวิถี เพื่อผู้ด้อยโอกาส ในช่วงปลายปี 2562
ทั้งนี้ มูลนิธิโรงพยาลาลบำรุงราษฎร์ มีวัตถุประสงค์ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกสันหลังคดตามเกณฑ์ที่โครงการกำหนด อายุระหว่าง 10-18 ปี โดยวางเป้าหมายไว้ประมาณ 10 คน ให้เข้ารับการแก้ไขมุมความโค้งของกระดูกสันหลังให้ตรงยิ่งขึ้น อันจะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพวกเขาได้อีกครั้ง ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม CSR ที่โรงพยาบาล ฯ ทำมาตลอดระยะเวลา 40 ปี รวมถึงโครงการอื่น ๆ ได้แก่ ผ่าตัดเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ การผ่าตัดปลูกถ่ายไต โครงการผ่าตัดกระดูกข้อเข่า และบริการตรวจสุขภาพประจำปีตำรวจจราจร สน.ลุมพินี
Photo by Jairo Alzate on Unsplash
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :