ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ รัฐมนตรีไทยคนที่ 30 จะชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือไม่ ยังคงมีหลายด่าน โดยเฉพาะเมื่อมี ‘นักร้อง’ ไปยื่นเกี่ยวกับ ‘ลักษณะต้องห้ามสมัคร ส.ส.’ ของพิธา

อันเนื่องมาจากการถือครองหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)  จำนวน 42,000 หุ้น มูลค่าประมาณ 210,000 บาท ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งพิธาระบุว่า หุ้นดังกล่าวเป็นของบิดาเมื่อบิดาเสียชีวิตเขาจึงเป็นผู้จัดการมรดก

‘นักร้อง’ ยุ่งมาก ตลอดเดือน พ.ค.

หากตรวจสอบดูไทม์ไลน์จะพบว่า กรณีหุ้นพิธา กลายเป็นประเด็นตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง 4 วัน โดยมีผู้ร้อง 2 คน คนหลักคือ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ส่วนเสริมคือ สนธิยา สวัสดี ดังนี้ 

  • 10 พ.ค. เรืองไกร ร้อง กกต. เรื่องพิธาถือหุ้นไอทีวี ทำให้ต้องห้ามสมัคร ส.ส.เพราะ ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ห้ามผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้นสื่อหรือไม่ 
  • 10 พ.ค. เรืองไกร ร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบว่าพิธาแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จหรือไม่
  • 16 พ.ค. เรือกไกร ร้อง กกต.เพิ่มเติม เรื่องพิธาถือหุ้นไอทีวีทำให้พ้นจากสมาชิกพรรคและหัวหน้าพรรค ผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 112 รู้ว่าไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นหัวหน้าพรรค และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 24 ที่ระบุว่าสมาชิกพรรคต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามถือหุ้นสื่อ หรือไม่ 
  • 19 พ.ค. สนธิญา ยื่น กกต. เรื่องพิธาถือหุ้นไอทีวี เป็นลักษณะต้องห้ามสมัครเป็น ส.ส. เพราะผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และยังโยงว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) กำหนดคุณสมบัติรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีไว้ว่าต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ด้วย
  • 24 พ.ค. เรืองไกร ยื่นเอกสาร กกต. เพิ่มเติม กรณีพิธาถือหุ้นไอทีวี แนะหากเปิดสภาแต่ยังไม่ได้เลือกนายกฯ เสนอให้ ส.ส.รวมชื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคู่ขนานไปกับ กกต. หากพิธาเป็นนายกฯ แล้วจะเสนอให้ ส.ว.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัตินายกฯ 
  • 24 พ.ค. เรืองไกร ร้อง กกต. ตรวจสอบ 8 พรรคทำ MOU เข้าข่ายยินยอมหรือกระทำการใดให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคครอบงำพรรค ตามมาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งมีโทษถึงยุบพรรค 
  • 29 พ.ค. เรืองไกร เรียกร้องให้ กกต. ตรวจสอบย้อนหลังการเป็น สส. เมื่อปี 2562 ของพิธาที่ถือหุ้นไอทีวีมาตั้งแต่ปี 2551 โดยยื่นหลักฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัย 'ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์' ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น มีลักษณะต้องห้ามสมัคร ส.ส. เนื่องจากถือครองหุ้นสื่อ เป็นเหตุให้ความเป็นส.ส.สิ้นสุดลง โดยศาลให้มีผลนับแต่วันสมัคร ส.ส.
  • 29 พ.ค. สนธิญา ยื่นหลักฐานเพิ่ม กกต. และถามถึงไทมไลน์การพิจารณาคดีพิธา ได้ความจาก กกต.ว่าจะพิจารณษหลังรับรอง ส.ส. 95% จากนั้นจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
  • 6 มิ.ย. เรืองกไกร เตรียมยื่นหลักฐานเพิ่ม กกต. คำพิพากษาศาลปกครองกลางและคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ว่า สปน.บอกเลิกสัญญาไอทีวีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้ กกต. ตรวจสอบว่า สัญญาเข้าร่วมงานถือว่ามีผลอยู่หรือไม่ และตรวจสอบว่า พิธา ขายหุ้นไอทีวีไปหรือยัง

จากเริ่มต้นสอยคนเดียว ขยายผลสู่ 152 ส.ส.ก้าวไกล ?

หากสังเกตให้ดี ข้อร้องเรียนเริ่มต้นจาก ‘ลักษณะต้องห้าม’ ของผู้สมัคร ส.ส. แล้วค่อยๆ ขยายไปสู่การเป็นหัวหน้าพรรค การเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งให้ตรวจสอบย้อนกลับไปจนปี 2562 สื่อหลายสำนักวิเคราะห์ว่า นี่จะเป็นการโยงให้การรับรอง ส.ส. โดยพิธาเป็นอันไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

31 พ.ค.นักข่าวทำเนียบนำคำถามดังกล่าวไปถาม ‘วิษณุ เครืองาม’ มือกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ว่าเป็นไปได้ที่จะถูกสอยทั้งจากตำแหน่ง ส.ส. หัวหน้าพรรค และทำให้ต้องเลือก ส.ส.151 ของพรรคก้าวไกลใหม่หรือไม่ คำตอบที่ทำให้ฮือฮาพอสมควร โดยวิษณุระบุว่า

“เรื่องนี้อยู่ที่ผู้ร้องว่า ร้องในประเด็นใด ถ้าร้องในประเด็นว่า ขาดจากการเป็น ส.ส. นายพิธาก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ เพราะนายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ หรือถ้าร้องว่า ขาดจากความเป็นนายกฯ ก็สามารถเป็น ส.ส. ได้ แต่ถ้าคนร้อง ร้องทั้ง 2 เรื่อง ศาลก็จะวินิจฉัยทั้ง 2 เรื่อง หรืออาจจะกระทบไปอีกประเด็น คือการเซ็นรับรองสมาชิกพรรค ดังนั้นอยู่ที่คำร้องว่า จะร้องอย่างไร จะร้องทั้ง 3 ประเด็นเลยหรือไม่ แต่อย่าเพิ่งคิดไปไกลขนาดนั้น เอาทีละประเด็น กกต.ยังไม่ได้ทําอะไรเลย อย่าเพิ่งคิดในแง่ร้าย”

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการร้องในประเด็นเรื่องเซ็นรับรองสมาชิกพรรคจะต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องเลือกตั้งซ่อมใหม่ทั้งหมด

2 วันต่อมา นักข่าวถามวิษณุอีกรอบ เขาบอกว่า ขอไม่ตอบอะไรแล้ว เพราะที่ตอบในวันก่อนเพราะสื่อถาม จึงให้ความรู้ ถ้าขยายความต่อไป คิดว่าไม่เป็นธรรมต่อพรรคก้าวไกลที่เขากำลังดำเนินการไปในแนวทางที่เขาควรทำอยู่แล้ว 

“เพราะสื่อถาม ผมเลยตอบ และเวลาที่ไปออกข่าวก็ไม่ได้นำเสนอคำถามด้วย จะเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศหรือไม่ทั้งประเทศก็ตามที เพราะเมื่อผมตอบไป ก็มีสื่อแย้งว่าเป็นไปได้หรือ เป็นไปไม่ได้ ผมก็บอกว่าเคยมีเท่านั้นเอง ไม่ได้ไปเปรียบเทียบอะไร และความจริงก็เปรียบเทียบอะไรไม่ได้ เพราะเป็นคนละกรณีกัน ดังนั้นผมจึงจะไม่ตอบเรื่องนี้แล้ว” วิษณุกล่าว 

วันเดียวกันก็มีรายงานข่าวความเห็นของ ‘จรุงวิทย์ ภุมมา’ อดีตเลขาธิการ กกต. ออกมาระบุไม่นานนี้ว่า เรื่องนี้จะไม่เลยเถิดไปไกลขนาดกนั้น เพราะคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคการเมืองไม่ได้มีกำหนดข้อห้ามการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนไว้ จึงไม่ได้ส่งผลกับ ส.ส. ที่เซ็นรับรองและชนะการเลือกตั้ง

ศาลฎีกาเลือกตั้ง VS ศาลรัฐธรรมนูญ 

เรื่องนี้ต้องรอการวินิจฉัยของ กกต. ถ้าพิจารณาหลังจากรับรองพิธาเป็น ส.ส.แล้ว เรื่องจะไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 82 วรรคท้ายของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.หรือส.ว.ได้ หลายส่วนมากหยิบยกเปรียบเทียบการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับกรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ร่วงลับหายถูกตัดสิทธิทางการเมือง เพราะถือหุ้นวีลัคมีเดียที่ทำนิตยสาร WHO และนิตยสารให้สายการบิน แม้บริษัทนี้จะไม่ได้ทำดำเนินกิจการตั้งแต่ปลายปี 2561 แล้ว และแม้จะโอนหุ้นออกไปแล้ว แต่ศาลไม่เชื่อว่าโอนก่อนสมัคร ส.ส. ในเดือน ก.พ.2562

อย่างไรก็ดี กรณีพิธา หาก กกต. วินิจฉัยเรื่องนี้ก่อนการรับรองความเป็น ส.ส. คดีก็จะไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ซึ่งหลายคนก็เทียบเคียงกับกรณีของ ‘ชาญชัย อิสระเสนารักษ์’ ผู้สมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งให้ กกต.นครนายกคืนสิทธิการสมัคร ส.ส.ให้ชาญชัญ เพราะ กกต. ตีความปมถือหุ้น AIS ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ โดยศาลเห็นว่า การถือครอง 200 หุ้น สัดส่วนน้อย ไม่มีอำนาจสั่งการ เผยแพร่ข้อมูล 

‘เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง’ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิยามกรณีหุ้นสื่อของธนาธร ว่านี่คือหนึ่งในอาการป่วยของประเทศไทย ซึ่งมีอาการนิติศาสตร์นิยมล้นเกิน (hyper-legalism) ที่เป็นอาการหยิบกฎหมายมาใช้แต่ไม่สนเจตนารมณ์ในการใช้กฎหมาย มีการอ้างกฎหมาย แต่ไม่เกิดความยุติธรรม ซึ่งมาตรานี้จึงไม่เคยถูกใช้สมดั่งเจตนารมณ์ 

ในโมงยามที่ ‘การเมืองไทย’ เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเที่ยงธรรมที่คลุมเคลือ แม้ว่าผู้นำรัฐบาลก้าวไกล จะมีความมั่นอกมั่นใจว่าจะหลุดพ้นข้อกล่าวหานี้ และเชื่อว่าเป็นเพียงกลเกมดิสเครดิตทางการเมือง แต่เชื่อว่าเหล่าด้อมส้มที่กำลังยืนเป็นกำแพงหนุนหลัง ‘ว่าที่นายกฯ พิธา’ ก็คงลุ้นไม่น้อยว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอย ‘พ่อของฟ้า’ หรือไม่

‘สฤณี อาชวานันทกุล’ นักวิชาการอิสระ ก็ให้ความเห็นไว้ว่า ศาลควรดูที่เจตนารมณ์ แม้ว่าอันที่จริงแล้วเจตนารมณ์เรื่องนี้จะเป็นเรื่อง ‘ล้าสมัย’ มากแล้วก็ตาม 

“ถ้าศาลจะใช้กฎหมายข้อนี้ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็ต้องดูว่า A. บริษัทที่ผู้สมัครถือหุ้นอยู่นั้น "ทำสื่อ" จริงๆ หรือไม่ และ B. ผู้สมัครรายนั้นถือหุ้นในสัดส่วนมากพอที่จะสั่งบริษัทสื่อนั้นๆ หรือมีอำนาจควบคุมหรือไม่ (ข้อนี้ต้องดูหลักฐานอื่นประกอบ เช่น ตำแหน่งกรรมการ ฯลฯ)”

จุดเริ่มต้นสกัด ‘ทักษิณ’ บัญญัติห้ามถือหุ้นสื่อครั้งแรกใน รธน.50

หลังการรัฐประหาร ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 โดย ‘คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ นอกจากข้อกล่าวหาในเรื่องคอร์รัปชัน ‘ทักษิณ’ ยังถูกวิจารณ์ว่าครอบงำสื่อ เนื่องจากมีความพยายามในการเข้าไปถือหุ้นสื่อที่กำลังวิพากษ์นโยบายของรัฐบาลขณะนั้น

โดยในปี 2550 คือจุดเริ่มต้นการออกกฎเหล็กเพื่อแยก ‘นักการเมือง’ ออกจาก ‘สื่อมวลชน’ ด้วยการยกร่างผ่านรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในมาตรา 48 ข้อห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถือหุ้นในกิจการสื่อและโทรคมนาคมโดยเด็ดขาด 

“มาตรา 48 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว”

ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงบัญญัติแนวคิดที่มีเจตนารมณ์สร้างเสรีภาพสื่อไม่ให้ตกอยู่ในอิทธิพลนักการเมือง ซึ่งระบุคุณสมบัติผู้ที่จะสมัคร ส.ส. ไว้ในมาตรา 98 (3) “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” 

  • มาตรา 101 (6) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ยังกำหนดว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.จะสิ้นสุดลงหากมีลักษณะต้องห้ามในการถือหุ้นสื่อด้วย 
  • มาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่าคุณสมบัติของ ส.ว. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งก็มีเรื่องการห้ามถือครองหุ้นสื่อด้วย
  • มาตรา 160 (6) คุณสมบัติของรัฐมนตรีก็กำหนดว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งก็มีเรื่องห้ามถือครองหุ้นสื่อด้วย
  • มาตรา 202 (2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งก็มีเรื่องห้ามถือครองหุ้นสื่อด้วย

แต่น่าแปลกที่ในบทเฉพาะกาล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีลักษณะต้องห้ามเหมือน ส.ส. แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า เป็นเจ้าของหรือถือครองหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ได้ 

หากถึงเวลายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรื่องลักษณะต้องห้าม ‘ถือครองหุ้นสื่อ’ นี้อาจต้องนำมาถกเถียงกันว่า มันยังเข้ากับยุคสมัยอยู่หรือไม่ เพราะคงไว้ก็รังแต่จะถูกใช้ขับเคลื่อนวาระทางการเมืองบางแบบเท่านั้น