รัฐบาลปักกิ่งได้สั่งยกเลิกการสอบข้อเขียนของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กที่อายุเพียง 6-7 ปี ทั่วประเทศ โดยมาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปฏิรูปด้านการศึกษาที่มีเป้าเพื่อลดความกดดันของเด็กและผู้ปกครองทั่วประเทศ ท่ามกลางการแข่งขันทางการศึกษาสูง
ก่อนหน้านี้ ระบบการศึกษาจีนมักเน้นการสอบเป็นหลัก นักเรียนจีนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงวัย 18 ปี ที่ต้องแข่งขันอย่างหนักสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือการสอบเกาเข่า (gaokao) ซึ่งเป็นการแข่งขันสอบที่มีความสำคัญทุกคะแนน
กระทรวงศึกษาธิการจีนระบุในถ้อยแถลงการว่า การสอบที่มีความถี่เกิดไปส่งผลให้เด็กต้องรับภาระต่างๆมากเกินไป ทั้งตกอยู่ใต้ความกดดันที่นักเรียนต้องเผชิญตั้งแต่อายุยังน้อย ส่งผลต่อสุภาพจิตและร่างกาย
ภายใต้มาตารการใหม่ของจีน ยังมีการจำกัดการสอบภาคบังคับในระดับการศึกษาอื่นๆ ให้เหลือเพียง 1 ครั้งต่อภาคการศึกษา โดยอนุญาตให้มีการสอบกลางภาคและสอบจำลองในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้
"ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ไม่จำเป็นต้องทำข้อสอบแบบกระดาษ ส่วนระดับชั้นอื่นๆ ทางโรงเรียนจัดสอบปลายภาคได้ทุกภาคการศึกษา อนุญาตให้สอบกลางภาคสำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ไม่อนุญาตให้ท้องถิ่นจัดสอบระดับภูมิภาคหรือ การสอบระหว่างโรงเรียนสำหรับชั้นประถมศึกษาทั้งหมด" แถลงการณ์ของกระทรวงศึกษาจีนระบุ
หลังมีแถลงมาตรการดังกล่าว บรรดาผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจีนในแพลตฟอร์มเว่ยป๋อ ต่างแสดงความคิดเห็นในทิศทางสนับสนุน เพื่อบรรเทาแรงกดดันของเด็กๆ แต่หลายคนก็ยังตั้งคำถามว่า หากไม่มีการจัดสอบในระดับชั้นประถมฯ 1 และ 2 นั้น โรงเรียนจะวัดความสามารถของเด็กๆได้อย่างไร
เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงหลัง รัฐบาลปักกิ่งเริ่มจริงจังกับการปฏิรูปสังคมในหลายด้าน ตั้งแต่วงการธุรกิจ ไปจนถึงภาคการศึกษา หนึ่งในนั้นคือการออกมาตรการปราบปรามโรงเรียนกวดวิชาที่กอบโกยกำไรจากการกวดวิชาของนักเรียน ซึ่งผู้ปกครองหลายคนมองว่าเป็นหนึ่งในหนทางเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้บุตรหลาย แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาเช่นกัน