วันที่ 14 ก.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 30 ก.ย. ที่จะถึงนี้ โดยระบุว่า ศาลได้พินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมด เห็นว่าเพียงพอสิ้นสงสัยแล้ว ไม่จำเป็นต้องหาหลักฐานเพิ่มเติม การนัดฟังคำวินิจฉัยก็เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งทิ้งเวลาไว้ไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้ตุลาการแต่ละท่านทำคำวินิจฉัยส่วนตนเป็นลายลักษณ์อักษร และมาแถลงด้วยวาจาในวันที่ 30 ก.ย. ก่อนจะมีมติว่าเป็นไปตามคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่อย่างไร
นพ.ชลน่าน ยังเผยว่า ตนมั่นใจต่อหลักฐานเพิ่มเติมที่ส่งไป ทั้งในคำร้องและที่ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญเพิ่ม ซึ่งพอดีกับจังหวะที่ศาลสั่งเรียกบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 เพิ่มเติม ซึ่งฝ่ายค้านก็ได้ส่งไป จึงมีความมั่นใจกับหลักฐานทั้งหมด ว่าจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอต่อคำร้องว่านายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 24 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา
เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ พ้นวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังมีโอกาสกลับมารักษาการนายกฯ ได้อีกหรือไม่ เพราะไม่ใช่ การขาดคุณสมบัติ แต่เป็นการสิ้นสุดตามวาระ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นักกฏหมายหลายท่านได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 กรณี นายกฯ พ้นจากตำแหน่งเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย แต่ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีรัฐมนตรีคนใหม่มารับหน้าที่ เว้นแต่กรณีใดที่นายกรัฐมนตรีจะรักษาการไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือ นายกฯ มีลักษณะต้องห้าม จัดเป็นความผิดเฉพาะตัว
สำหรับกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ยังเป็นข้อถกเถียงกันในทางกฎหมายอยู่ว่า จะเข้าข่ายเป็นความผิดเฉพาะตัวหรือไม่ บางฝ่ายมองว่าเป็น ก็จะไม่สามารถรักษาการฯ ได้ และบางฝ่ายมองว่า เป็นคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ยังไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัว จึงรักษาการได้ ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่
อย่างไรก็ตาม นพ.ชลน่าน มองว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 ก.ย.ไม่มีผลต่อการพิจารณายุบสภา แต่จะมีเหตุผลอื่นที่เป็นองค์ประกอบหลักมากกว่าในการยุบสภา เช่น การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคสำเร็จ การวางตัวบุคคลเตรียมพร้อมการเลือกตั้ง และเสียงเรียกร้องของประชาชนให้ยุบสภาจะดังแค่ไหน ที่รัฐบาลต้องเอามาประกอบตัดสินใจเรื่องการยุบสภา
เมื่อถามว่า วันที่ 30 ก.ย. ทางพรรคเพื่อไทยจะมีตัวแทนไปฟังคำวินิจฉัยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า เราไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะส่งใครไปฟังคำวินิจฉัย แต่ปกติการไปฟังคำวินิจฉัยก็ต้องมีทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องไปยังคำวินิจฉัย ซึ่งเรามีหน้าที่แค่ทำคำวินิจฉัยเท่านั้น ส่วนคนร้องคือ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา อย่างไรก็ตาม อาจจะส่งตัวแทนไปฟังคำวินิจฉัยในวันนั้น