โดยไม่ต้องผ่านมือ 250 ส.ว. แต่การอยู่ในตำแหน่งด้วย ‘เสียงปริ่มน้ำ’ ก็ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลไม่น้อยในระยะยาวๆ และต้องงัดข้อกับพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านพอควร
ดังนั้นใน ‘รัฐบาลใหม่’ ย่อมต้องมีขุนพลต่างๆมาเป็น ‘องครักษ์พิทักษ์’ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมา แน่นอนว่าต้องมีแกนนำพรรคพลังประชารัฐแน่นอน ทั้ง ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน - สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ที่จะมาร่วม ครม. แต่มีการมองไปถึงบุคคลที่ไม่ได้ลงเลือกตั้ง แต่ได้รับการเทียบเชิญมาเป็นรัฐมนตรี
ที่ผ่านมามีการพูดถึงตลอด โดยเฉพาะชื่อ ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช. ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘รมต.กลาโหมตลอดกาล’ เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร เป็น รมว.กลาโหมมา 2 รัฐบาล
แต่ชื่อ พล.อ.ประวิตร เริ่มแผ่วลง ด้วยข้อจำกัดด้านสุขภาพ ที่งานในรัฐบาลปกติจะมีมากกว่ารัฐบาลยุค คสช. จึงมีการมองว่าหาก พล.อ.ประวิตร ไม่มาเป็น ครม.แล้ว ด้วยเหตุผลสุขภาพ หรือการเป็น ‘ตำบลกระสุนตก’ ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และจะพาทัพรัฐบาลใหม่โดนกระสุนไปด้วย จะไปเป็น ‘กองหนุนเบื้องหลัง’ แทน และอาจมี รมว.กลาโหม คนใหม่ที่สายตรงถึง พล.อ.ประวิตร ได้
ซึ่งแสงได้ฉายไปที่ ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พี่รอง 3 ป.บูรพาพยัคฆ์ ที่เป็นที่รักและไว้วางใจของ พล.อ.ประยุทธ์-ประวิตร อาจมานั่ง รมว.กลาโหม แทน
เพราะเป็น อดีต ผบ.ทบ. และเข้าใจโครงสร้าง-วัฒนธรรมของกองทัพ หรือสุดท้ายจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ที่นั่ง นายกฯ ควบ รมว.กลาโหม ตามสูตรในอดีตที่นายกฯ ควบ รมว.กลาโหม ก็เป็นได้
แต่อีกกระแสก็ระบุ พล.อ.อนุพงษ์ อาจนั่งเก้าอี้ มท.1 เช่นเดิม รับประกันด้วยผลงาน 4 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในรั้วมหาดไทย ที่ไม่มีปรากฏการณ์ ‘เกียร์ว่าง’ ให้เห็น ด้วยทางลมที่คนในรั้วมหาดไทยทราบดี โดยตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยจะเป็นของฝ่ายการเมืองที่มาร่วมทัพพลังประชารัฐ ที่มีการเล็งไปที่พรรคภูมิใจไทยนั่นเอง
ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ ถือเป็นรัฐมนตรีเก้าอี้เหนียว ที่แทบไม่เป็นข่าว ‘หลุด ครม.’ หรือเป็นตำบลกระสุนตกแบบ พล.อ.ประวิตร ด้วยความนิ่งเงียบของ พล.อ.อนุพงษ์ เอง ทำให้ยากจะเห็นช่องโจมตี แม้จะมีช่วง ‘กระสุนตก’ อยู่บ้าง แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ
ในช่วงที่ถูกจับตาในเรื่องเรือเหาะ จชต. ที่ได้ยกเลิกใช้เมื่อปี60 เพราะจัดซื้อสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ที่ได้ปิดตำนานไปแล้ว
รวมทั้งกรณีอนุมัติให้เอกชนใช้ป่าห้วยเม็ก จ.ขอนแก่น และมีการปล่อยข่าวว่า พล.อ.อนุพงษ์ มีความสัมพันธ์กับสตรีและมีบุตรชายอายุ 3-4 ขวบ ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ ได้ชี้แจงว่าได้ทำหมันมา 20 กว่าปีแล้ว แต่เรื่องราวทั้งหมดก็นิ่งสงบลงไป
ที่สำคัญ พล.อ.อนุพงษ์ ก็มีราศีมากขึ้นช่วงที่ผ่านมาได้รับมอบหมายงานสำคัญต่างๆ รวมทั้งการรักษาเนื้อรักษาตัวช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ ไม่เป็นเป้าหรือจุดที่จะทำให้รัฐบาลใหม่และ พล.อ.ประยุทธ์ สะเทือนได้เท่า พล.อ.ประวิตร เพราะมีแผลที่น้อยกว่า
(พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย)
อีกทั้งการเตรียมขุนพลของ คสช. โดยเฉพาะการจัดทำรายชื่อ 250 ส.ว. ที่ คสช. ไปเข้าร่วม โดย 4 รองหัวหน้า คสช. ได้ลาออกจาก คสช. ได้แก่ ‘บิ๊กเจี๊ยบ’พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ‘บิ๊กเข้’พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ‘บิ๊กจิน’พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และ ‘บิ๊กอู๋’พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว หลังมีรายชื่อได้เป็น ส.ว. โดยทั้ง 4 คน เป็น อดีต ผบ.เหล่าทัพ ช่วงเหตุการณ์รัฐประหาร 22พ.ค.57 มาด้วย
ซึ่ง พล.อ.อ.ประจิน และ พล.ต.อ.อดุลย์ ก็เป็น 2 ใน 15 รัฐมนตรีที่ลาออก อีกทั้ง ปลัดกระทรวงกลาโหม - ผบ.เหล่าทัพ รวม 6 คน ก็เป็น ส.ว.โดยตำแหน่งด้วย
โดยรัฐมนตรีทหารที่ลาออกเพื่อไปเป็น ส.ว. ได้แก่ ‘บิ๊กฉัตร’ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ และ ‘บิ๊กเต่า’พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯ เพื่อนรักนายกฯ ตท.12-จปร.23
‘บิ๊กโย่ง’พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พัฒนาสังคมฯ ตท.15 -จปร.26 รุ่นเดียวกับ ‘บิ๊กติ๊ก’พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย นายกฯ ที่เป็น ส.ว. ด้วย รวมทั้ง ‘บิ๊กน้อย’พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาฯ รุ่นน้อง ตท.14-จปร.25 ซึ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่ารู้สึกใจหายไม่น้อย
“5 ปี ไม่ใช่เวลาอันสั้นๆ วันนี้ผมก็รู้สึกใจหาย ได้เห็นหน้าเห็นตากันครบถ้วน ก็หายไปหลายคน” นายกฯ กล่าว
ฝั่ง สนช. ก็มีการลาออกราว 60 คน อีกทั้งมี สนช. ที่ไปลาออกจากบอร์ดเอกชน-รัฐวิสาหกิจด้วย ทั้งอดีตนายทหารและพลเรือน เชื่อได้ว่าเพื่อปูทางมาเป็น ส.ว. ด้วย ยังไม่นับรวมอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้ง 2 สภาที่หมดวาระไปแล้ว ก็เชื่อกันว่าจะกลับเข้าสภาอีกครั้งในนาม ส.ว. ทั้งหมดเพื่อให้ได้ ส.ว. ที่คุมได้ ไม่แตกแถว ปิดช่องงูเห่า
(สมาชิก สนช. เตรียมเปลี่ยนบทบาทมาเป็น ส.ว.แต่งตั้งสาย คสช.)
แน่นอนว่ารายชื่อที่ได้มา ย่อมมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นบุคคลที่ทำงานกับ คสช. มา จึงเป็นคำถามเรื่องความชอบธรรมถึงคุณวุฒิและความเป็นกลาง แค่เพียงมีชื่อ พล.อ.ปรีชา ที่ยอมรับว่าลาออกจาก สนช. เพื่อไปเป็น ส.ว. ก็ถูกวิจารณ์หนักไปถึง นายกฯ ทันที
ทำให้งานนี้ที่เคยมีกระแสข่าวชื่อ ‘บิ๊กปุ้ม’ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ และ ‘บิ๊กป๊อด’พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร จะไปเป็น ส.ว. จะมีการเบรกหรือไม่ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าใหญ่ เพราะ พล.อ.ประวิตร เป็น ปธ.คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ด้วย
ไม่เช่นนั้น อาจไม่ได้แค่ ‘สภาร่างทรง คสช. - เงา คสช.’ แต่จะได้ ‘สภาพี่น้อง’ ควบไปด้วย แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะออกมาระบุอย่ามองว่า ส.ว. และ คสช. เป็นศัตรูกับใคร ให้ดูเรื่องการสานงานต่อจาก คสช. ไปรัฐบาลใหม่
“ในอนาคตวันข้างหน้า การวางพื้นฐานประเทศในทุกๆ ด้าน ก็ควรจะต้องได้คนที่รู้เรื่องการทำงานในช่วงที่ผ่านมาเข้ามาอยู่ใน ส.ว.ด้วย เพื่อให้เกิดการดำเนินงานต่อไป ซึ่งก็สุดแล้วแต่รัฐบาลชุดต่อไปจะดำเนินการ เพราะ ส.ว.มีหน้าที่ในการดำเนินการด้านกฎหมายเป็นหลัก ขอร้องว่าให้มองในทางสร้างสรรค์กันหน่อย หน้าที่ของทุกคน อย่ามองว่าทุกคนเป็นศัตรู เพราะ คสช.ไม่เคยเป็นศัตรูกับใครเลย” นายกฯ แจง
การจัดรายชื่อ 250 ส.ว. จึงเป็นส่วนหนึ่งของการ ‘ผ่องถ่ายอำนาจ’ ของ คสช.เท่านั้น ยังไม่นับรวม ‘แผนงาน’ ต่างๆ แม้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช. และ มาตรา 44 แล้วไปออกเป็นกฎหมายปกติ หรือการคงคำสั่ง คสช. - มาตรา 44 ไว้ในบางฉบับ เพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลหน้า และไม่ให้เป็นอุปสรรคการทำงานในอนาคต
รวมทั้งการ ‘ผ่องถ่ายงาน’ จาก คสช. ไปยัง กอ.รมน. ที่มีการจัดโครงสร้างรองรับไว้ คือ ศูนย์ประสานการปฏิบัติ (ศปป.) 1-5 นั่นเอง
ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนมีรัฐบาลใหม่ มิ.ย.นี้ ที่ปูทางรองรับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการนั่งเก้าอี้ นายกฯ อีกครั้ง และประคองสถานการณ์ช่วง ‘เปลี่ยนผ่านสำคัญ’ แม้จะเป็น ‘รัฐบาลปริ่มน้ำ’ ก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง