ไม่พบผลการค้นหา
อดีตผู้รับผิดชอบงานด้านมนุษยชนในเมียนมาของสหประชาชาติ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า สหประชาชาติล้มเหลวต่อการรับมือวิกฤตด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ตั้งแต่ความสูญเสียของประชาชนชาวเมียนมา ภายหลังจากการรัฐประหาร ตลอดจนปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

ลียางฮี อดีตผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา และผู้ร่วมก่อตั้งสภาที่ปรึกษาพิเศษแห่งเมียนมา ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสหประชาชาติ ผ่าน The Washington Post ต่อวิกฤตในเมียนมา ที่แตกต่างไปจากการตอบสนองที่รวดเร็วต่อรัสเซีย ภายหลังจากการรุกรานยูเครน

ลีระบุว่า สหประชาชาติดำเนินการอย่างเด็ดขาดในการตอบสนองต่อวิกฤตในยูเครน คณะมนตรีความมั่นคงลงมติให้มีการลงมติประณามรัสเซียภายใน 24 ชั่วโมงหลังการรุกรานของรัสเซีย โดยในขณะที่รัสเซียพยายามจะใช้มติยับยั้งของตน เพื่อสกัดกั้นการลงมติดังกล่าว สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้จัดตั้งกระบวนการขึ้นโดยทันที เพื่อให้การใช้การใช้มติยับยั้งในอนาคตต้องได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น 

นอกจากนี้ ลียังระบุว่า เลขาธิการสหประชาชาติเดินทางเยือนยูเครน และทำข้อตกลงเพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารทั่วโลก อันสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน หน่วยงานของสหประชาชาติยังระดมกำลังภายใต้การนำของเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อตรวจสอบข้อตกลงดังกล่าวอีกด้วย ลีย้ำว่าการรับมือของสหประชาชาติต่อวิกฤตยูเครน สะท้อนว่าสหประชาชาติสามารถลงมือทำอะไรได้ แต่เรื่องดังกล่าวกลับไม่เกิดขึ้นกับวิกฤตเมียนมา

ในเดือน ก.พ. 2564 มินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการกองทัพเมียนมา ก่อรัฐประหารโดยมีเป้าหมายที่จะแต่งตั้งตนเองเป็นหัวหน้ารัฐบาลทหารชุดใหม่ นับเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างโจ่งแจ้ง และจุดชนวนให้เกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วประเทศ 

ลีชี้ว่า มีพันธมิตรของกองกำลังประชาธิปไตยที่รวมตัวกันโดยการจลาจล และมีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (NUG) ซึ่งสามารถบริหารราชการประเทศได้อย่างประสิทธิผล รวมถึงพื้นที่มากกว่าครึ่งและดินแดนเกือบทั้งหมด ที่มีพรมแดนติดกับอินเดีย จีน ลาว และไทย ในทางตรงกันข้าม มินอ่องหล่ายน์สามารถอ้างสิทธิในการควบคุมพื้นที่ได้เพียง 17% จากทั้งประเทศ แม้กองกำลังที่อยู่ภายใต้การบัญชาการของมินอ่องหล่ายน์ จะมีอาวุธที่ทรงอานุภาพและซับซ้อนกว่ามาก โดยกองทัพเมียนมาใช้อาวุธดังกล่าวก่อเหตุอันน่าสยดสยองต่อประชาชน ตลอดช่วง 20 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ลียังระบุอีกว่า เครื่องบินขับไล่ไอพ่นและเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของมินอ่องหล่ายน์ ได้ดำเนินการโจมตีอย่างโจ่งแจ้งและไม่เลือกปฏิบัติในดินแดนที่ฝ่ายต่อต้านยึดครอง กองทัพเมียนมายังได้ละเมิดน่านฟ้าไทยและบังคลาเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา 

ลีกล่าวเสริมว่า ในเดือน ก.ย. มีเด็กเมียนมาอย่างน้อย 11 คนเสียชีวิต เมื่อเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเมียนมาที่ติดตั้งปืนใหญ่ เข้าโจมตีห้องเรียนของเด็กๆ เหล่านี้ และเมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา เกิดการโจมตีทางอากาศในรัฐคะฉิ่น ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 80 คนบนพื้นดิน กองทัพเมียนมาได้เคลื่อนตัวจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง ก่อนสังหารประชาชนที่ไม่สามารถหลบหนีได้ อีกทั้งการเผาบ้านเรือน พืชผล ร้านขายอาหาร และปศุสัตว์ของพลเรือน โดยปัจจุบันนี้ เมียนมามีประชาชนกว่าล้านคนต้องพลัดถิ่น และอีกกว่า 10 ล้านคนกำลังเผชิญกับความอดอยาก

ลีชี้ถึงความอัปยศของสหประชาชาติที่ว่า จนกระทั่งปัจจุบันนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยังคงไม่ได้ลงมติในมติใดๆ เกี่ยวกับวิกฤตในเมียนมา หรือไม่แม้แต่จะตอบโต้ต่อการทารุณกรรมต่อชาวโรฮิงญาโดยกองทัพเมียนมาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การโจมตีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของมินอ่องหล่ายน์ ต่อชาวโรฮิงญาในปี 2560 บีบบังคับให้ประชาชน 3 ใน 4 ของประชาชนนับล้านคน ต้องข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศ ซึ่งกลายมาเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยชาวโรฮิงญาไม่มีโอกาสกลับบ้านเกิดได้เลย เนื่องจากวิกฤตในเมียนมาเลวร้ายลงอย่างยิ่ง ภายใต้การยึดอำนาจของมินอ่องหล่ายน์

ลียอมรับว่า มันมีความจริงที่ว่า มีมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้มีการดำเนินการ เพื่อช่วยยุติการโจมตีของมินอ่องหล่ายน์ ผ่านการคว่ำบาตรด้านอาวุธและการคว่ำบาตรเล็งเป้าหมาย และการนำตัวมินอ่องหล่ายน์มารับผิดชอบต่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ ซึ่งรัสเซียหรือจีนอาจลงมติคัดค้านได้ 

แต่ลีระบุว่า สำหรับสมาชิกคนอื่นๆ ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ กลับไม่แม้แต่จะพยายามตอบรับกับวิกฤตเมียนมา ซึ่งนับเป็นการละเลยหน้าที่ของตนอย่างร้ายแรง ในขณะเดียวกัน เลขาธิการและสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติยังล้มเหลว ในการแสดงความเป็นผู้นำแบบเดียวกันในเมียนมาที่พวกเขามีต่อยูเครน ลีชี้ว่า ดูเหมือนว่าหน่วยงานของสหประชาชาติจะไม่มีกลยุทธ์ที่สอดคล้องกัน ในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความมั่นคง ที่เปลี่ยนแปลงไปท่ามกลางภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีเพิ่มขึ้นในแต่ละประเทศ

ลีกล่าวว่า ในปี 2560 หัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติในเมียนมา ระงับการแจ้งเตือนถึงปัญหาการกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญาที่เพิ่มขึ้นในเมียนมา เพื่อสนับสนุนภาพการเล่าเรื่องและการพัฒนาในเชิงบวก ไปจนถึงความสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับทางการเมียนมา อย่างไรก็ดี จากการไต่สวนโดยคณะตุลาการที่เป็นอิสระในปี 2562 พบว่า ปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา เป็นผลมาจากความล้มเหลวทางโครงสร้างและระบบ ที่ทำให้สหประชาชาติในเมียนมาไม่สามารถจัดการกับปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลง และไม่สามารถถ่ายทอดข้อกังวลหลัก เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงแก่ทางการเมียนมาได้

ลีชี้ว่าในปีนี้ เลขาธิการสหประชาชาติได้ออกรายงานความคืบหน้าที่ผู้คนรอคอยมานาน เกี่ยวกับการตอบข้อซักถามถึงปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ผลลัพธ์ที่ได้ในรายงานกลับล้มเหลวอย่างไร้ท่า ท่ามกลางความล้มเหลวอื่นๆ รายงานดังกล่าวชี้ว่า หน่วยงานของสหประชาชาติแทบจะไร้ประสิทธิภาพ ในการมีการตอบสนองที่เพียงพอต่อภัยพิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันของเมียนมา 

ในรายงานของสหประชาชาติยังไม่มีการเรียนรู้บทเรียน และสหประชาชาติกำลังทำซ้ำกับวงจรแห่งความล้มเหลว ลีระบุว่าจุดต่ำสุดล่าสุดเกิดขึ้น เมื่อกลุ่มตัวแทนของสหประชาชาติ เข้าพบและถ่ายรูปร่วมพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้ากับมินอ่องหล่ายน์ และสมาชิกคณะรัฐประหารที่เป็นฆาตกรฆ่าประชาชน กลุ่มตัวแทนของสหประชาชาติยังล้มเหลวในการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม กับผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตย ส่งผลให้ผู้คนในเมียนมาไม่เพียงแค่รู้สึกผิดหวัง แต่พวกเขารู้สึกถูกหักหลังจากสหประชาชาติ

ลีระบุใน The Washington Post ว่า เรารู้ว่าบางครั้งองค์การสหประชาชาติถูกบังคับให้ทำงานร่วมกับผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายที่สุดในโลก ทว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจธุรกรรมตามปกติในเมียนมา กำลังบ่อนทำลายสถาบันที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวเมียนมาเอง และเป็นตัวแทนของอนาคตประชาธิปไตยที่พวกเขากำลังต่อสู้เพื่อมันอยู่ นโยบายปัจจุบันของสหประชาชาติยังคงล้มเหลวในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในเมียนมา

ลีกล่าวในตอนท้ายว่า การตอบสนองที่แตกต่างกันอย่างมาก ต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นพร้อมกันในเมียนมาและยูเครน ทำให้เกิดคำถามที่ไม่สบายใจเกี่ยวกับลำดับความสำคัญของสหประชาชาติว่ามีอยู่ ณ จุดใด ไม่มีเหตุผลใดที่ประชาชนชาวเมียนมาควรถูกกีดกันออกจากการคุ้มครองสิทธิ ที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ลีย้ำว่า วิกฤตการณ์ในเมียนมา เป็นสิ่งเช่นเดียวกันกับสงครามในยูเครน คือ มันก่อให้เกิดภัยคุกคามที่ร้ายแรงและเพิ่มมากขึ้น ต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ สำหรับองค์การสหประชาชาติ การดำเนินการอย่างเด็ดขาดในการทำงานเพื่อเสรีภาพของชาวเมียนมา ถือเป็นความจำเป็นระดับโลก


ที่มา:

https://www.washingtonpost.com/opinions/2022/11/02/un-failing-myanmar-burma-people-revolution/?fbclid=IwAR309jGe32shUvScPMZLLPc9M3bHcI-0Z_QMDif8KTUCcFj-ahH1AS2vmos