ไม่พบผลการค้นหา
'หมอชลน่าน' ห่วงหญิงไทย ถูกมะเร็งเต้านมคุกคาม ป่วยเพิ่มปีละกว่า 1.7 หมื่นคน อันดับหนึ่งของมะเร็งในผู้หญิง เหตุต้องรีบทำนโยบายมะเร็งครบวงจร

ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง เปิดเผยถึงหลังกรณีการเสียชีวิตของ จุฬาลักษณ์ อิสมาโลน หรือ หญิง จุฬาลักษณ์ ในวัย 45 ปี ด้วยโรคมะเร็งเต้านม ว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข มีความห่วงใยสตรีไทยที่ต้องตกเป็นเหยื่อโรคมะเร็งเต้านม เพราะเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทยและทั่วโลก โดยมีอุบัติการณ์เกิดในผู้ป่วยใหม่ ปีละประมาณ 12% โดยในปี 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่ 17,742 คน หรือวันละ 49 คน และพบการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมหรือการแพร่กระจายของโรคค่อนข้างสูงกว่ามะเร็งชนิดอื่น ทำให้ผู้ป่วยหลายรายหมดกำลังใจในการรักษา อย่างไรก็ตาม มะเร็งเต้านม หากตรวจพบเร็ว เข้ารับการรักษาเร็ว และดูแลตนเองอย่างถูกวิธี จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิต อยู่กับคนที่รักได้อีกนาน 

ตรีชฎา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นปัญหาของเรื่องนี้จึงได้กำหนดให้การดูแลรักษามะเร็งเป็นหนึ่งในนโยบายควิกวิน (QuickWin) ภายใน 100 วัน ผ่านนโยบายมะเร็งครบวงจรซึ่งเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันทีที่เขัามารับตำแหน่งเจ้ากระทรวงนี้ จึงตั้งเป้าดูแลประชาชนอย่างครบวงจร ทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคมะเร็ง การดูแลรักษา บำบัด ฟื้นฟูทันที 

“มะเร็งครบวงจร เป็นอีกนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน มุ่งเน้น 5 โรคที่พบบ่อย คือ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก” และสำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ 140,000 คนและเสียชีวิต 84,000 คนต่อปี นโยบายของนพ.ชลน่าน เกี่ยวกับมะเร็ง มุ่งเน้นจัดบริการด้านโรคมะเร็งที่ครบวงจร ครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกัน การคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย การรักษา จนถึงการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย  ดังนั้นประชาชนที่มีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกที่สงสัยและกังวลในเรื่องนี้สามารถเข้าไปรับการปรึกษาและการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและป้องกันอย่างทันท่วงที่ เพราะมะเร็งรู้เร็วรักษาได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนรู้เท่าทันโรค และมีสุขภาพที่ดี’ ตรีชฎา กล่าว