นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุุตุนิยมวิทยา เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ (2 ม.ค. 62) ระบุว่า พายุโซนร้อน 'ปาบึก' (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 6.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.0 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้า ๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 มกราคม 2562 และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี ในช่วงค่ำของวันที่ 4 มกราคม 2562 โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม 2562 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำทวมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยมีผลกระทบดังนี้
ในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม 2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล
ในช่วงวันที่ 4-5 มกราคม 2562 บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากลมแรง และคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งตั้งแต่วันที่ 2-5 มกราคม 2562
ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เรือนอนจากเมืองสุราษฎร์ฯ ข้ามเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า หยุดให้บริการแล้ว
เจ้าหน้าที่จากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในนามคณะกรรมการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานีกว่า 60 คน เข้าร่วมประชุม VDO Conference ที่อาคารศาลากลางชั้น 4 เมื่อเวลา 15:30 น.วันที่ 2 ม.ค. 2562 เพื่อติดตามการเตรียมการรับมือ พายุ 'ปาบึก' โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/ผบ.ปภ.ช เป็นประธานการประชุมฯ
โดยทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมทางด้านอุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัย จากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงความพร้อมของบุคลากรในการให้การช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉิน โดยคาดการณ์ว่าพายุจะเข้าในวันพรุ่งนี้ (3 ม.ค.) พร้อมแจ้งเตือนประชาชนริมชายฝั่ง รวมถึงผู้ประกอบการเรือโดยสารให้พิจารณาเดินเรือด้วยความปลอดภัย
ในส่วนของเรือโดยสาร จากการประสานงานของทาง ปภ.จังหวัดกับผู้ประกอบการเดินเรือและการประเมินสภาพคลื่นลมในทะเล ทำให้เรือนอน ซึ่งเป็นเรือไม้จำนวนจุ 60-150 คน เดินทางจากอำเภอเมืองไปยัง เกาะสมุย เกาะพะงัน และ เกาะเต่า ได้ประกาศหยุดให้บริการ
ขณะที่ เรือเร็วลมพระยายังให้บริการได้ถึงวันที่ 3 ม.ค. และจะหยุดให้บริการในช่วงค่ำช่วงวันที่ 3 และ หยุดให้บริการทั้งวันในวันที่ 4 ม.ค.
เช่นเดียวกับเรือโดยสารขนาดใหญ่อย่างเรือเฟอร์รี่ ยังสามารถเดินเรือได้ แต่ก็หยุดการจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางในวันที่ 3-5 ม.ค. แล้ว และทราบว่าจะทยอยหยุดการเดินเรือในวันที่ 3 ตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป เช่นเดียวกับเรือและทางจังหวัดจะได้ทำประกาศหยุดให้บริการตั้งแต่ 24:00 น.ของวันที่ 3 ม.ค. เพื่อความปลอดภัย
มทบ.44 เตรียมพร้อมกำลังพล เครื่องจักรและอุปกรณ์พร้อมช่วยเหลือประชาชน
ขณะที่ เวลา 15.30 น.วันที่ 2 มกราคม 2562 ที่มณฑลทหารบก ที่ 44 ค่ายเขตอุดมศักดิ์ชุมพร พล.ต.พรชัย อินทนู ผบ.มทบ.44 ในฐานะ ผอ.ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยร่วมจังหวัดชุมพร เป็นประธานในพิธีตรวจความพร้อมของกำลังพล เครื่องจักรและอุปกรณ์ในช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติ พร้อมเปิดศูนย์บรรเทาสาธารณภัยร่วมจังหวัดชุมพร
โดยศูนย์แห่งนี้ ได้จัดกองกำลังหน่วยทหาร จำนวน 3 กองร้อย พร้อมชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ จำนวน 27 ชุด และกองกำลังสนับสนุน ประกอบด้วย โรงครัวสนาม รถผลิตน้ำประปา เป็นต้น
ก.พลังงานยันลดการผลิตก๊าซธรรมชาติ-น้ำมันดิบในอ่าวไทยไม่กระทบการใช้ในประเทศ
ด้านกระทรวงพลังงานออกแถลงการณ์ ระบุว่า ได้ประสานข้อมูล สั่งการและติดตามร่วมกับบริษัทผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยทั้ง 8 กลุ่มบริษัทอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ได้ มีการถอนตัวเจ้าหน้าที่ที่ไม่จำเป็นในการผลิตกลับขึ้นฝั่ง ณ จังหวัดสงขลาและจังหวัดชลบุรีโดยเรือและเฮลิคอปเตอร์ เรียบร้อยแล้วอย่างปลอดภัย
ผลจากพายุโซนร้อนครั้งนี้ บริษัทผู้ประกอบการจำเป็นต้องหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบบางส่วนเพื่อความปลอดภัย ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงจากการที่แหล่งบงกชเหนือหยุดการผลิตประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันจากปริมาณการผลิตทั้งหมดในอ่าวไทยจำนวน 2,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
สำหรับน้ำมันดิบหยุดการผลิตประมาณ 27,000 บาร์เรลต่อวันจากปริมาณการผลิตปัจจุบัน 100,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งในส่วนการผลิตน้ำมันดิบที่ลดลงนั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ในประเทศ
กระทรวงพลังงานได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยในการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาตินั้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะส่งก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้เหลว (LNG) เข้าระบบเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ในส่วนการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้สำรองจากเชื้อเพลิงอื่นมากขึ้น โดยได้สำรองน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าอย่างเพียงพอหากจำเป็น รวมถึงการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ สำหรับก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ส่งเข้าโรงแยกก๊าซลดลง กรมธุรกิจพลังงานและบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะบริหารจัดการให้มีปริมาณ LPG เพียงพอต่อการใช้ของประชาชน
ในภาพรวมกระทรวงพลังงานสามารถบริหารจัดการโดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะแจ้งให้ทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป
ปตท.สผ.สั่งระงับการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชเหนือ-ใต้ชั่วคราว
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. แจ้งว่า ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยของการปฏิบัติงานในพื้นที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่ง เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชเหนือ และแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชใต้ อยู่ในเส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพนักงานและกระบวนการผลิตบนแท่นทั้งสองโดยตรง ปตท.สผ. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องระงับการผลิตก๊าซฯ จากทั้งสองแท่นไว้ชั่วคราว และดำเนินการส่งพนักงานที่เหลือทั้งหมดกลับขึ้นฝั่งที่จังหวัดสงขลา
อย่างไรก็ตาม แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ยังคงดำเนินการผลิตก๊าซฯ ภายใต้มาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อลดผลกระทบต่อการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ
ขณะนี้ ปตท.สผ. ได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2561 ปตท.สผ. ได้ระงับกิจกรรมการสำรวจและการซ่อมบำรุง ส่งพนักงานส่วนหนึ่งกลับเข้าสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย รวมทั้งเคลื่อนย้ายแท่นเจาะและเรือสนับสนุนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบออกจากบริเวณพายุแล้ว
ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีความห่วงใยในสวัสดิภาพของพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ภารกิจเร่งด่วนขณะนี้คือการดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนปลอดภัย ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้เตรียมพร้อมแผนฉุกเฉินตามมาตรฐานสากลทั้งเชิงรุกและเชิงรับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ามีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :