ไม่พบผลการค้นหา
กูเกิลหวังดิสรัปต์อุตสาหกรรมเกมที่มีมูลค่าหลักล้านล้าน ด้วยการนำพลังการประมวลมหาศาลของเซิร์ฟเวอร์กูเกิลมาให้บริการเกมเมอร์ ให้เล่นเกมได้โดยไม่ต้องซื้อเครื่องเกมหรือคอมพิวเตอร์ราคาแพงอีกต่อไป

กูเกิลจะกลายเป็นบริษัทเกมอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นวันแรกที่เริ่มเปิดให้บริการกูเกิลสเตเดีย (Google Stadia) แพลตฟอร์มเกมที่อาจเข้ามาดิสรัปต์ทั้งวงการเกมและคอมพิวเตอร์ไปตลอดกาล

สิ่งที่ทำให้ Stadia ต่างจากแพลตฟอร์มเกมทั่วไปคือ การเล่นเกมบน Stadia ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องเกมคอนโซลอย่างเพลย์สเตชัน (PlayStation) หรือเอ็กซ์บ็อกซ์ (Xbox) มาเพื่อเล่นเกมโดยเฉพาะ และไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์แรงๆ ราคาแพงเพื่อให้รันเกมไหว เนื่องจากกูเกิลนำเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติง (cloud computing) เข้ามาใช้ให้บริการเกมเป็นคลาวด์เกมมิง (cloud gaming)

กล่าวคือกูเกิลจะเป็นผู้รับภาระในการประมวลผลเกมความละเอียดสูงทั้งหมดไว้ ด้วยการใช้ขุมพลังเซิร์ฟเวอร์ของกูเกิล ซึ่งมีอยู่ทั่วโลกประมวลผลเกมและถ่ายทอดสดเกมมายังหน้าจอของเราแบบเรียลไทม์ผ่านเบราเซอร์ คล้ายการชมสตรีมวิดีโอบนเน็ตฟลิกซ์ จึงทำให้นอกจากจะไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์แรงๆ ในการเล่นเกมแล้ว ยังไม่ต้องดาวน์โหลดเกมด้วย

แม้แต่กับเกมคุณภาพสูงที่ตามปกติแล้วกินพื้นที่คอมพิวเตอร์กว่า 40 กิกะไบต์ กูเกิลชี้ว่านี่จะนำไปสู่อนาคตที่เมื่อดูคลิปเทรลเลอร์เกมบนยูทูบจบแล้วก็สามารถกดปุ่มเข้าเกมได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ในอีกทางหนึ่งก็หมายความว่าผู้เล่นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลาเพื่อรับข้อมูลเกมจากทางกูเกิล โดยต้องการความเร็วขั้นต่ำ 10 เม็ก (Mbps: เมกะบิตต่อวินาที) ทั้งนี้ ความเร็วแพ็คเก็จเน็ตบ้านไทยอยู่ในช่วง 30-50 Mbps เป็นอย่างน้อย

เทคโนโลยีคลาวด์เกมมิงของ Stadia ทำให้เกมคุณภาพสูงจะไม่ถูกจำกัดการเล่นอยู่แต่บนคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ก แต่ยังสามารถเล่นเกมบน Stadia ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตได้อีกด้วย รวมถึงสามารถใช้อุปกรณ์โครมแคสต์ (Chromecast) เพื่อเล่นผ่านหน้าจอโทรทัศน์ได้

ทั้งนี้ การเล่นเกมผ่านหน้าจออื่นๆ นอกจากคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กนั้น จำเป็นต้องใช้จอยคอนโทรลเลอร์ของ Stadia ซึ่งเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลผ่านไวไฟ

ทางกูเกิลเคลมว่าด้วยขุมพลังการประมวลผลของกูเกิลจะทำให้ความละเอียดการแสดงผลของเกมคุณสภาพสูงถึง 4k โดยมีเฟรมเรตอยู่ที่ 60 เฟรมต่อวินาที (60FPS)

เทคโนโลยีคลาวด์เกมมิงจึงอาจเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมเกมและคอมพิวเตอร์ไป เนื่องจากผู้เล่นสามารถเล่นเกมคุณภาพสูงโดยไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์แรงๆ ทั้งยังไม่ต้องดาวน์โหลดเกมด้วย โดยมี Google Stadia เป็นเจ้าแรกที่เปิดตัวก่อนในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะเปิดให้บริการใน 14 ประเทศแรก ได้แก่ เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

โดยคิดค่าบริการในสองรูปแบบคือการซื้อเกมตามปกติซึ่งราคาจะต่างไปตามแต่ละเกม กับการสมัครสเตเดียโปร (Stadia Pro) เดือนละ 9.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 300 บาท) เพื่อเล่นเกมฟรีประจำเดือนที่เลือกมาในคุณภาพภาพและเสียงสูงสุด

ทางด้านไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องเกม Xbox เองก็ตามมาเล่นในธุรกิจคลาวด์เกมมิงด้วยเช่นกันด้วยโปรเจกต์ เอ็กซ์คลาวด์ (xCloud) ซึ่งยังอยู่ในช่วงพรีวิวและมีแผนจะเปิดตัวในปีหน้า

https://news.xbox.com/en-us/wp-content/uploads/sites/2/2019/11/111419_ProjectxCloud_4K5_JPG.jpg?w=1200

ขณะที่จำนวนเกมที่มีให้เลือก Stadia นั้นเป็นหนึ่งในตัวตัดสินว่าจะทำให้เกมเมอร์หันมาใช้บริการคลาวด์เกมมิงได้หรือไม่ ไมโครซอฟท์ซึ่งมีจุดแข็งจากการอยู่ในอุตสาหกรรมเกมมาก่อนอาจมีส่วนเป็นผู้ทำให้คลาวด์เกมมิงปฏิวัติวงการเกม เนื่องจาก Stadia เปิดตัวเกมชุดแรกที่เล่นได้เพียง 12 เกม และจะมีเกมชื่อดังเพิ่มภายในสิ้นปีนี้อีก 14 เกม แต่ทางไมโครซอฟท์ประกาศว่าขณะนี้ในช่วงพรีวิวมีเกมกว่า 50 เกม และเมื่อเปิดตัวแล้ว เกมบนเครื่องเอ็กซ์บ็อกซ์วัน (Xbox One) ของไมโครซอฟท์กว่า 3,500 เกม และเกมที่กำลังพัฒนาอยู่อีกกว่า 1,900 จะสามารถเล่นบน xCloud ได้ทันที


คลาวด์เกมมิง ยักษ์ตัวใหม่ในตลาดมูลค่าล้านล้าน

การรุกตลาดเกมของกูเกิลและไมโครซอฟท์ด้วยเทคโนโลยีชั้นนำนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะธุรกิจที่สร้างรายได้สูงที่สุดของบริษัทเทคโนโลยีอย่างโซนี่ (Sony) นั้นไม่ใช่โทรทัศน์ เครื่องเสียง หรือสมาร์ตโฟน แต่เป็นธุรกิจเกมและบริการเครือข่าย (game & network services) ซึ่งในปี 2561 ทำรายได้ไป 2.31 ล้านล้านเยน (ราว 642,100 ล้านบาท) ราว 1 ใน 4 ของกิจการทั้งหมดของโซนี่ที่ทำรายได้รวม 8.67 ล้านล้านเยน (ราว 2.4 ล้านล้านบาท) โดยโซนี่เป็นผู้ผลิตเครื่องเกมเพลย์สเตชันและมีสตูดิโอผลิตเกมจำนวนมาก

ทั้งนี้ นิวซู (Newzoo) บริษัทวิจัยการตลาดอุตสาหกรรมเกม ประมาณการณ์ว่าอุตสาหกรรมเกมทั่วโลกในปี 2561 มีมูลค่าราว 134.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4 ล้านล้านบาท)

ยิ่งไปกว่านั้น การมาถึงของคลาวด์เกมมิงไม่เพียงแต่กระทบวงการเกมเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ด้วย เนื่องจากเกมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนั้นต้องการสเป็คของคอมพิวเตอร์ที่ค่อนข้างสูงกว่าการทำงานทั่วไปมาก กระทั่งแบรนด์โน้ตบุ๊กชั้นนำล้วนแต่มีไลน์การผลิตเกมมิงโน๊ตบุ๊กแยกออกมา โดยในปี 2561 ข้อมูลจากสแตทิสตา (Statista) บริษัทด้านสถิติการตลาด ชี้ว่าตลาดเกมมิงโน๊ตบุ๊กในปี 2561 มีรายได้ทั่วโลกอยู่ที่ 12.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 366,000 ล้านบาท)

นี่คือตลาดของผู้ซื้อคอมพิวเตอร์โดยมีจุดประสงค์เพื่อการเล่นเกม และหากคลาวด์เกมมิงไม่ว่าจะโดยกูเกิล ไมโครซอฟท์หรือบริษัทใดก็ตามประสบความสำเร็จ ย่อมได้รับส่วนแบ่งตลาดมูลค่ามหาศาลทั้งจากเครื่องเกมคอนโซลและโน๊ตบุ๊กราคาแพง รวมถึงยังอาจเปิดตลาดผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่ต้องการลงทุนในอุปกรณ์เครื่องเล่นเกมอีกด้วย

อ้างอิง: Google / Xbox / Telegraph

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: