กฤษฎา ตันเทอดทิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า เพิ่งเริ่มต้นปี 2565 ปัญหาเศรษฐกิจก็ประดังเข้ามาแบบไม่หยุด ทั้งราคาอาหารแพง หมูแพง ไก่แพง ไข่ไก่แพง ปลาแพง แม้กระทั่ง มะละกอจะทำส้มตำยังแพง และมาซ้ำเติมด้วยราคาพลังงานแพง ทั้งน้ำมันแพง ไฟฟ้าแพง ก๊าซแพง และสินค้าอื่นๆ จะแพงขึ้นตามมา ซึ่งอาจเรียกได้ว่า “แพงทั้งแผ่นดิน”
ดังนั้นปี 2565 นี้ จะเป็นปีที่หนักมากที่สุดอีกปีหนึ่งสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย เพราะทุกวันนี้ไม่เพียงแต่ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมากเพราะแบกรับหนี้และการขาดทุนกันไม่ไหวแล้ว ยังต้องมาเผชิญกับวิกฤตโควิดสายพันธุ์โอไมครอนซ้ำซ้อน ซึ่งไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่
อีกทั้ง ประชาชนต้องเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่รายได้กลับลดลง ไม่สอดคล้องกับรายจ่าย และคนไทยจำนวนหลายล้านคนตกงานไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งทำให้คนไทยเป็นหนี้เพิ่มขึ้นกันมาก ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นไม่หยุด สูงกว่า 90% ของจีดีพีและยังไม่มีแนวทางที่จะลดลงได้ หากรัฐบาลยังบริหารแบบขาดความรู้ เกาไม่ถูกที่คันแบบนี้ ยิ่งจะทำให้ปัญหากลายเป็นดินพอกหางหมู แถมหมูยังเป็นโรค และสุดท้ายประเทศจะเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ จนจะไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้านได้เลย
ปีนี้เป็นปีเสือ ที่เริ่มต้นด้วยเรื่องของหมู แต่เป็นเรื่องหมูที่ไม่ได้แก้ได้หมูๆ เพราะจริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในสภาตั้งแต่ปี 2562 และ รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาอหิวาห์หมูนี้ตั้งแต่ 16 ตุลาคมปี 2562 แต่ดูเหมือนรัฐบาลเองไม่ได้จริงจังที่จะแก้ไขปัญหานี้สักเท่าไหร่ หรืออาจจะบริหารไม่เป็น จนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ จนวันนี้หมูตายเป็นจำนวนมากอาจจะกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหมูทั้งประเทศ ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการ คนไทยต้องซื้อหมูในราคาแพงมหาโหด ทำให้ราคาอาหารชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นตาม แต่ผู้บริหารประเทศหลายคนกลับออกมาแก้ตัวแบบแปลกๆ กัน โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อ้างว่าของแพงเพราะเงินเฟ้อ ทั้งที่การวัดดัชนีเงินเฟ้อจะวัดจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งผู้นำแก้ตัวแบบกลับหัวกลับหางกัน
กฤษฎา กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขนั้น อาจจะทำได้โดยการจะนำเข้าหมู ซึ่งจะเป็นแค่การแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น แต่การจะแก้ปัญหาในระยะยาวได้ รัฐบาลควรจะต้องจัดตั้งกองทุน เพื่อพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูนี้ ซึ่งตอนนี้ประเทศจีนก็ได้มีการพัฒนาเรื่องนี้ไปแล้ว ส่วนประเทศเวียดนามก็นำเอาวัคซีนจากสหรัฐอเมริกามาเริ่มทดลอง แต่ก็ยังไม่ได้ผลสักเท่าไหร่ ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการที่จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง วัคซีนเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ และหากไม่ทำตอนนี้ ปัญหาก็จะบานปลายไปเรื่อยๆ หมูก็จะมีราคาแพงไปตลอดอีกหลายปี ซึ่งทำให้ราคาอาหารอื่นแพงขึ้นตาม สุดท้ายภาระก็จะไปตกที่ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ประชาชนที่จะเดือดร้อนกันมากอีกเช่นเคย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไทยทรุดหนักขณะนี้และยังไม่รู้จะฟื้นได้อย่างไร ถ้าพลเอกประยุทธ์ยังเป็นผู้นำบริหารอยู่
ทุกวันนี้ ประเทศเพื่อนบ้านกำลังพัฒนาและเตรียมความพร้อมที่จะสร้างรายได้และเพิ่มรายได้ให้กับประเทศของเขา อย่างเช่น ประเทศลาว ใน 1 เดือนหลังเปิดใช้รถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว มีการขนส่งผู้โดยสารแล้วกว่า 670,000 คน มีการขนส่งสินค้าแล้วกว่า 170,000 ตัน นี่คือค่าความเสียโอกาสของไทยที่ล่าช้าในการสร้างรถไฟความเร็วสูงเพราะผู้นำขาดวิสัยทัศน์ แถมยังให้สื่อรัฐไปดูถูกเขาจนต้องไปกราบขอขมาเขาที่สถานทูต และ ประเทศเวียดนามเป็นศูนย์กลางผลิตอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไฮเทค อีกทั้ง ประเทศอินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ เป็นต้น แต่คำถามที่คนไทยสงสัยกันมากคือ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์เตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง ที่จะสร้างรายได้ให้กับคนไทยและประเทศไทย
หากได้ติดตามผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จะพบว่า นโยบายตั้งแต่ตอนหาเสียงนั้น พลเอกประยุทธ์ยังไม่ได้ทำสักอย่าง ไม่เพียงแต่จะไม่สร้างรายได้ นโยบายที่ออกมา กลับเพิ่มรายจ่ายให้กับผู้ประกอบการ และพี่น้องประชาชน ยกตัวอย่างเช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตอนนี้จัดเก็บอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ การจัดเก็บภาษีนักลงทุนในตลาดหุ้นที่กำลังจะเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการเตรียมที่จะจัดเก็บภาษีนักลงทุนในตลาดคลิปโต ภาษีความหวาน ภาษีความเค็ม การเก็บค่าใช้น้ำกับชาวนาไร่ละ 25 บาทพอถูกด่าก็เลิกไป การเก็บค่าเหยียบแผ่นดินกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศคนละ 300 บาท ซึ่งอาจจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มรายจ่ายทั้งนั้น เหตุเพราะรัฐไม่สามารถดำเนินนโยบายหรือบริหารให้เกิดรายได้ได้ และไม่สามารถดึงดูดนักลงทุน หรือพูดง่ายๆคือ หาเงินไม่เป็น ซึ่งพอรายได้ไม่พอ ก็จำเป็นจะต้องมาจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับรายจ่าย แต่หารู้ไม่ว่าการเพิ่มภาษีและการเพิ่มภาระจะเป็นการเพิ่มต้นทุนและจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจทรุดลงไปอีก ประเทศที่มีผู้นำที่ฉลาด ในภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่ รัฐบาลจะต้องลดภาษีด้วยซ้ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นก่อน
หากเป็นอย่างนี้ต่อไป เกรงว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 นี้ จะ “ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” และ จะเป็น “ปีแห่งความทรุดโทรมเสื่อมถอย” ตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ความสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยจะยิ่งลดทอน การลงทุนจะไม่เกิด คนไทยอาจจะต้องหนีไปหางานทำในต่างประเทศกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้มาจุนเจือครอบครัวในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจนี้ และหากรัฐบาลยังบริหารแบบสะเปะสะปะ เกาไม่ถูกที่คันแบบนี้ต่อไป เกรงว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศท้ายๆ หรืออาจจะท้ายที่สุด ที่จะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเหมือนเดิมได้ หลังจากวิกฤตการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจปัจจุบันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเศรษฐกิจไทย 3 ปีแล้วที่ยังไม่ฟื้นที่เดิม ซึ่งไม่รู้ต้องรอต่ออีกกี่ปี และฟื้นในระดับเดิมก่อนวิกฤตการณ์โควิดซึ่งก็ยังคงอยู่ในระดับเศรษฐกิจที่ยังแย่อยู่ ประเทศไทยดูเหมือนจะไม่เห็นอนาคตเลย ถ้ายังไม่เปลี่ยนผู้นำและพลเอกประยุทธ์ยังบริหารประเทศต่อไป