ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ดบีโอไอ เห็นชอบอนุมัติส่งเสริมลงทุน 5 โครงการขนาดใหญ่ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า โรงไฟฟ้า เม็ดพลาสติกรีไซเคิล และหอประชุมขนาดใหญ่ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มการลงทุนในครึ่งปีหลัง 2563 ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงใกล้ชิด ชี้จีน-ญี่ปุ่นยังสนใจลงทุนไทย

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการประชุมบอร์ดบีโอไอวันนี้(17มิ.ย.63) ว่าที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบให้มีการส่งเสริมการลงทุน แก่โครงการขนาดใหญ่จำนวน 5 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 41,834 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ของกลุ่มบริษัท สามมิตร เงินลงทุน 5,500 ล้านบาท กิจการผลิตไฟฟ้าจากกากน้ำมัน (PITCH) 250 เมกะวัตต์ และกรดกำมะถันของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เงินลงทุนรวม 24,113 ล้านบาท

ทั้งนี้ยังมีกิจการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด PET สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหาร และเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด HDPE ของบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 2,476 ล้านบาท กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและไอน้ำ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 157 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 75 ตัน/ชั่วโมง ของบริษัท บี.กริม พาวเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำกัด เงินลงทุน 6,000 ล้านบาท และกิจการหอประชุมขนาดใหญ่ ของบริษัท บางกอก อารีน่า จำกัด เงินลงทุน 3,745 ล้านบาท

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการปรับสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรตามแนวคิด BCG เพื่อนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมเกษตร ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยเพิ่มประเภทกิจการด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ กิจการโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ซึ่งเป็นระบบการเพาะปลูกที่มีระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในการปลูกพืชทั้งทางกายภาพ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี

ดวงใจ อัศวจินจิตร์-บีโอไอ
  • ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ทั้งนี้เลขาฯบีโอไอ ระบุว่า แนวโน้มการลงทุนในครึ่งปีหลัง 2563 ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกรวมถึงไทย ที่พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก แต่บีโอไอพยามจะที่จะรักษาตัวเลขการลงทุนในปีนี้ไว้ เพราะเป็นปีที่มีสถานการณ์ไม่ปกติ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาตรการเดิมที่ได้ดำเนินการไว้ เช่น กระตุ้นการลงทุนต่างๆ ตามโครงการที่วางแผนไว้ แต่ยอมรับว่า มีบางโครงการที่ได้รับผลกระทบบ้างจากช่วงจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยในส่วนของเป้าหมายยอดขอส่งเสริมการลงทุน ยืนยันว่า ไม่ได้ตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลข เพราะต้องการให้ความสำคัญประเภทอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หลายบริษัททั่วโลกที่กำลังปรับยุทธศาตร์การลงทุน และซับไพร์เชน ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 สงครามการค้า และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยสูง คือ ญี่ปุ่นและจีน ดังนั้น บีโอไอ วางเป้าหมายประเทศที่จะดึงการลงทุนจากกลุ่มประเทศเอเชียสูงขึ้น