ไม่พบผลการค้นหา
'สมพงษ์' อภิปรายจี้นายกฯลาออก-เร่งปล่อยตัวแกนนำม็อบเยาวชน-หยุดปิดกั้นสื่อ ฉะญัตติอภิปรายเติมความร้าวฉานในสังคม

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายว่าญัตติของรัฐบาลไม่สร้างสรรค์ เนื้อหาสาระมีแนวโน้มที่จะสร้างความแตกแยกร้าวฉานในสังคมไทย ซ้ำเติมสถานการณ์ให้บานปลาย ไม่สามารถเป็นทางออกของสังคมไทยได้ ตนจึงขอร้องให้ที่ประชุมช่วยกันประคับประคองให้การอภิปรายในครั้งนี้เป็นการถกเถียงเพื่อคลี่คลายวิกฤติของประเทศ

การบริหารจัดการปัญหาภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยิ่งนำพาไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากถ้อยคำ การกระทำ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นการราดน้ำมันลงไปในกองเพลิง อีกทั้งประเด็นข้อเรียกร้องล้วนเกิดมาจากเงื่อนที่รัฐบาลชุดนี้ผูกไว้ ขาดความชอบธรรมตั้งแต่การเข้ามาสู่อำนาจ การสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจของตน นายสมพงษ์ ย้ำว่า ตลอด 6 ปีที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จนต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องโดยสันติอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการสั่งการภายใต้ความรับผิดชอบโดยตรงของนายกรัฐมนตรีให้มีการกระทำรุนแรง สลายการชุมนุมของประชาชนผู้บริสุทธิ์เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา อีกทั้งมีการจับกุมคุมขัง ตั้งข้อกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม 

ประเทศกำลังก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมและการยืนกรานของท่านในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยแนวคิดอำนาจนิยม ใช้กลไกมาตรการของรัฐมาควบคุม คุกคามประชาชนในทิศทางที่ไม่ได้เกิดการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม ไม่ให้พื้นที่ ไม่เปิดโอกาสในการรับฟังเสียงของประชาชน ที่มีสิทธิในฐานะพลเมืองของชาติ เป็นแนวทางที่ยิ่งขยายความขัดแย้ง ความรุนแรง จนไม่สามารถสร้างโอกาส และทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาของชาติ ประเทศเกิดความเหลื่อมล้ำที่ขยายช่องว่างมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ปัญหาพื้นฐานด้านเศรษฐกิจก็ยิ่งดิ่งลง จนไม่สามารถคาดเดาอนาคตที่ดีกว่าเดิมได้ การมุ่งแต่การกดหัว ใช้อำนาจกระทำต่อนักเรียน นักศึกษา ประชาชนในสถานศึกษา โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้รับฟังปัญหาและความต้องการของเด็กและเยาวชนไม่ได้สร้างบรรยากาศของการยอมรับกันในฐานะมนุษย์ที่เป็นพลเมืองแห่งอนาคต การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง และร่วมกันหาทางออกให้ประเทศ ไม่ใช่เพียงการซื้อเวลาออกมากล่าวหาและบอกปัดอย่างไม่ตระหนักถึงปมรากปัญหาที่แท้จริง หรือการที่นายกรัฐมนตรีบริหารบ้านเมืองเช่นนี้เป็นความตั้งใจที่จะทำให้ประเทศชาติยากที่จะควบคุมเพื่อให้ตนได้สืบทอดอำนาจต่อไป

“การแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศ ต้องไม่ใช่การใช้กำลังประทุษร้าย หรือการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง และยั่วยุให้เกิดการปะทะกัน การใช้กำลังสลายการชุมนุม การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อันเป็นมาตรการที่เกินเลย จากสถานการณ์และความเป็นจริง การใช้กฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ไม่เท่าเทียมกัน เป็นสองมาตรฐานในการเอาผิดกับประชาชนผู้เห็นต่าง หรือแม้กระทั่งการสั่งปิดสื่อมวลชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล ล้วนเป็นการกระทำที่รังแต่จะสร้างแรงกดดันเพิ่ม”

สมพงษ์ เสนอว่า ต้องพิจารณาข้อเสนอของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนอย่างจริงจัง, ต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว ไม่ดึงเวลาให้ล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์วิกฤติที่กำลังบานปลาย, เร่งปล่อยตัวนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขัง จากการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง, ยุติการปิดกั้นสื่อ เปิดช่องทางการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และยุติการใช้กฎหมายที่ดำเนินคดีกับประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐบาล และที่สำคัญคือนายกรัฐมนตรีต้องลาออก


'ประเสริฐ' ขอนายกฯ ลุกขึ้นประกาศลาออกกลางสภา อัดโยนผิดให้ม็อบ

จากนั้นเวลา 10.22 น. ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเปิดอภิปรายครั้งนี้เป็นความตั้งใจของพรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้าน เพราะเหตุว่ามีปัญหาเร่งด่วนที่รัฐสภาต้องหาทางออก และแน่นอนเป็นปัญหาเดียวกับที่รัฐบาลแจ้งมาต่อรัฐสภา แต่ข้อห่วงใยของพรรคเพื่อไทยแตกต่างจากรัฐบาล โดยรัฐบาลบอกว่าปัญหามาจากการชุมนุม ซึ่งตนรู้สึกผิดหวัง เพราะรัฐบาลมองว่าตัวเองไม่มีความผิด แต่โยนความผิดให้กับผู้ชุมนุม ทั้งที่รัฐบาลไม่เคยทำอะไรเลยแม้แต่กับการเจรจาต่อผู้ชุมนุม ดังนั้น จึงหวังว่าการประชุมวันนี้จะไม่ขัดแย้งมากขึ้น และควรอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ เมื่อรัฐบาลตั้งโจทย์ผิด การแก้ปัญหาจึงผิดไปด้วย เหมือนกับที่นายกฯปราบปรามการชุมนุม การพิจารณาของวันนี้จึงเป็นการเสนอทางออก 

ประเสริฐ กล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นต้นตอของปัญหาที่นายกไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะมีส่วนโดยตรงในการจัดทำและกำหนดเนื้อหา ปัญหาทั้งหมดจึงมาจากนายกฯตั้งแต่ที่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อรัฐธรรมนูญมีปัญหาจึงมีการเรียกร้อง แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้านได้รับคือการเยาะเย้ยถากถ่าง เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องในประเด็นนี้ รัฐบาลกลับไม่สนใจเพราะคาดการณ์ผิด และมองว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่อาจรวมตัวได้จึงไม่ได้ให้ราคา แต่เมื่อมีการรวมตัวกันได้ มีจำนวนมากขึ้น รัฐบาลเกรงว่าภัยจะถึงตัว จึงทำโดยเลี่ยงไม่ได้ 

“ขอกราบเรียนว่าพล.อ.ประยุทธ์ คือผู้สร้างปัญหาโดยตรง ขอเรียกร้องให้นายกอย่าทำให้บ้านเมืองเสียหายมากกว่านี้ ท่านได้ประโยชน์มามากมายแล้วจากการดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช. และนายก และหนทางที่จะทำให้ม็อบยติลง รัฐสภาจะต้องลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ และตั้งกมธ.เต็มสภา เพื่อพิจารณาในวาระสองและวารสาม ให้ตั้ง ส.ส.ร. ขอเรียกร้องนายกให้ยืนขึ้นและประกาศลาออกจากตำแหน่งกลาสภา และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นสมบูรณ์ก็ให้ยุบสภาเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ การลาออกของพล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผ่านมา แต่ถ้าเลือกหนทางยุบสภา ผลที่ตามมาคือ แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ และเพิ่มความดขัอแย้ง ดังนั้น นายกต้องเสียสละเพื่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป” ประเสริฐ กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :