ถัดมาในห้องแถลงข่าวของสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) มีการพูดถึงนิทรรศการโดยรวมว่า รูปถ่ายทั้งหมดเป็นความพยายามในการถ่ายทอดการต่อสู้ของประชาชนชาวเมียนมาที่ลุกขึ้นต่อต้านคณะรัฐประหารพม่า ถึงแม้ต้องแลกด้วยชีวิตหรือเสรีภาพก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีการเปิดวิดีโอแนะนำช่างภาพและกล่าวถึงความรุนแรงในเมียนมา ณ ปัจจุบันอีกด้วย
ภาพถ่ายของมาร์นอว์ได้สื่อให้เราเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของการต่อสู้ได้อย่างไม่ยากเย็น ระหว่างที่ย่างก้าวผ่านภาพถ่ายแต่ละภาพ รูปที่ถูกบันทึกทำให้ผู้เข้าร่วมนิทรรศกาลรู้สึกได้ราวกับว่ากำลังยืนอยู่ในเหตุการณ์จริง ระหว่างที่เดินชมภาพแต่ละภาพ บรรยากาศภายในห้องสี่เหลี่ยมกลับเต็มไปด้วยกลิ่นของดินปืนและเลือดเนื้อของผู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตยทั้งหลาย ที่น่าสนใจคือ แต่ละภาพที่ถ่ายออกมาอยู่ในช่วงจังหวะและเวลาที่เหมาะเจาะ และสื่ออารมณ์ออกมาได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับบรรยากาศที่เงียบงันเป็นตัวช่วยให้เราได้ซึมซับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้ชัดยิ่งขึ้น
หลังจากการรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ. 2564 การยึดอำนาจผลักให้เยาวชนจำนวนมากต้องหนีเข้าป่าและเตรียมการเพื่อการต่อสู้กับคณะรัฐประหารด้วยอาวุธ ช่างภาพอย่างมาร์นอว์ได้เดินทางไปยังรัฐฉานและสะกายเพื่อเก็บภาพเหตุการณ์ต่างๆ
(ภาพตำรวจเมียนมาทุบตีและจับกุมผู้ชุมนุม)
ภาพด้านบนเป็นภาพผู้ประท้วงชาวเมียนมาซึ่งกำลังถูกทุบตีและจับกุมโดยทหารเมียนมา โดยจากข้อมลล่าสุดเมื่อช่วงต้นปี 2565 ของ… มีประชาชนชาวเมียนมาถูกจับกุมโดยคณะรัฐประหารราว 11,000 คน ถูกสังหาร 12,000 คน ตั้งแต่การรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อ ก.พ.ปีก่อน
(ภาพเพื่อนและญาติของโคซวีฮเท็ตในงานศพของเขาที่ออกกะลาปาในย่างกุ้ง)
มากกว่าการต่อสู้บนท้องถนนของประชาชน มาร์นอว์ได้นำเสนอแง่มุมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ สภาพบ้านเรือนที่ถูกโจมตีโดยคณะรัฐประหาร ราวกับว่าช่างภาพผู้นี้ได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในเวลาเดียวกัน
ภาพเด็กชายกับหมู่บ้านของตนที่ถูกเผาทำลายโดยกองทหารเมียนมา
ถัดมาเป็นภาพเด็กชายที่เดินกลับมาพบสภาพหมู่บ้านที่เป็นบ้านเกิดของตนถูกเผาราบเป็นหน้ากลอง โดยหลังจากการรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีหมู่บ้านถูกทำลายไปแล้วกว่า 3,000 หลังคาเรือน โดยเฉพาะหมู่บ้านของชาวโรฮิงญา ที่เป็นผู้รับเคราะห์มาโดยตลอด
ภาพกองทหารจากกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติตะอางกลับจากแนวหน้าในเมืองเจ้าแม รัฐฉาน
ภาพทหารในกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติตะอางในเมืองตังยานทางเหนือของรัฐฉาน
ทั้งสองภาพด้านบนเป็นภาพกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง ซึ่งเป็นกองกำลังที่สถาปนาขึ้นเพื่อต่อสู้กับกองทัพของคณะรัฐประหารเมียนมา ด้วยขนาดกองทัพราว 6,000 นาย อีกทั้งยังมีพันธมิตรเป็นกองกำลังอาระกัน คะชิ่น ฉาน อีกด้วย โดยกองกำลังดังกล่าวเกิดจากการเกณฑ์ชาวบ้านเข้ามาฝึกการรบ จับอาวุธปืนต่อสู้กับคณะรัฐประหารเมียนมา
ภาพกองกำลังท้องถิ่นกับปืนประดิษฐ์
ภาพเยาวชนผู้เป็นสมาชิกของ กองกำลังประชาชนโมนยวา กำลังซ้อมรบด้วยปืนที่ทำจากไม้
ทั้งสองภาพด้านบน แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายและไม่เป็นธรรมของการรัฐประหารที่ได้พรากวิถีชีวิตปกติของประชาชนไป และบังคับให้พวกเขาต้องจับอาวุธเพื่อต่อต้านแบบตามมีตามเกิด ทั้งการใช้ปืนที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง หรือการฝึกซ้อมรบโดยใช้ปืนไม้ ตอกย้ำให้เห็นถึงหัวใจที่แกร่งกล้า ของประชาชนที่พร้อมจะทำทุกวิถีทาง ตามทรัพยากรที่พวกเขาพอหาได้ เพื่อต่อสู้กับคณะรัฐประหารที่กดขี่พวกเขาอยู่ทุกวี่วัน
ในปัจจุบัน การต่อสู้ระหว่างกองกำลังติดอาวุธและประชาชนกับกองทัพพม่ายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากการรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ. 2564 จนถึงในปัจจุบัน เมียนมาพบยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และไม่มีท่าทีที่จะลดลง (ปลายปี 2564 มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2,000 คน) อีกทั้งยังมีการเผาทำลายบ้านเรือนที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นฐานทัพกลุ่มติดอาวุธอีกด้วย
เหตุการณ์ในเมียนมาที่ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านนิทรรศการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของคณะรัฐประหารที่กระทำกับประชาชน อันเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม และไม่อาจยอมรับได้ในโลกสากล ที่ปัจจุบันต่างยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ อีกทั้งการรัฐประหารเองไม่ควรถูกยอมรับว่าเป็น “เครื่องมือในการคานอำนาจของทหารในทางการเมือง” เพราะการรัฐประหารไม่ควรได้รับความชอบธรรมไม่ว่าจะทางใดก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจในการสั่งจำคุกผู้เรียกร้องประชาธิปไตย หรือแม้แต่การสังหารประชาชน รัฐประหารไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีกไม่ว่าจะในรัฐใดก็ตาม “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”
นิทรรศการนี้เปิดให้เข้าชมเพื่อสัมผัสถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา ได้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 8 ก.ค. ณ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ที่ตึกมณียา ชั้น P บนสุด โดยตัวอาคารตั้งอยู่ใกล้กันกับสถานีรถไฟฟ้าชิดลม
เรียบเรียงโดย อัครคมน์ เสริฐธิกุล