ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับมือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เปิดสายด่วนแจ้งเบอร์แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ เพื่อปิดกั้นการใช้งานและดำคดีตามกฏหมาย

24 เม.ย.65 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT: Police Cyber Taskforce เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน อาชญากรรมทางออนไลน์ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มจะสูงขึ้น

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงมีนโยบายให้ทำความร่วมมือกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หาแนวทางตัดการทำงานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยทุกครั้งที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหรือส่งข้อความเข้ามาให้ประชาชนแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวเข้าระบบเครือข่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย เพื่อตรวจสอบพร้อมบล็อคเบอร์ดังกล่าว จากนั้นเบอร์โทรศัพท์จะถูกส่งต่อให้กับศูนย์ PCT เพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 72 ชม. เพียงเท่านี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็จะใช้เบอร์โทรศัพท์นั้นหลอกลวงประชาชนไม่ได้และถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ซึ่งช่องทางการแจ้งมีดังนี้

☎️ Ais 1185

☎️True 9777

☎️Dtac 1678

รอง ผบ.ตร.กล่าวต่อว่า จากสถิติคดีทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ (1 มี.ค.65) ถึงปัจจุบัน พบว่า มีผู้เสียหายแจ้งความคดีออนไลน์แล้ว 15,557 ราย โดยอาชญากรรม 9 ลำดับ ที่ประชาชนถูกหลอกมากที่สุด ได้แก่

▪️1.ความผิดเกี่ยวกับการซื้อสินค้าที่ไม่ได้รับสินค้า 5,311 คดี

▪️2.หลอกทำภารกิจ (เช่น ให้รีวิวสินค้า,กดไลท์ Tiktok, กดไลท์สินค้า) 1,884 คดี

▪️3.หลอกให้กู้เงิน 1,573 คดี

▪️4.ทำให้รักแล้วหลอกลงทุน (Hybrid scam) 1,296 คดี

▪️5.Call center 1,206คดี

▪️6.แชร์ลูกโซ่ 554 คดี

▪️7.หลอกยืมเงิน 553 คดี

▪️8.ซื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงปก 227 คดี

▪️9.หลอกลวงรูปแบบอื่นๆ อีก 1,889 คดี

ผอ. PCT กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใย และได้กำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งปราบปรามและหาแนวทางป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน จึงขอฝากเตือนพี่น้องประชาชนว่า อย่าหลงเป็นเหยื่อโอนเงินให้ใครง่ายๆ

ทั้งนี้ หากพบเบาะแส สามารถแจ้ง ได้ที่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 ตลอด 24 ชม. หรือผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่าน ระบบออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com