ไม่พบผลการค้นหา
พท.จี้ พม.กลางสภาฯช่วยเด็กกำพร้าที่ครอบครัวเสียชีวิตจากโควิด-19 หลังหลายหน่วยงานเงียบ ถามความมั่นคงของมนุษย์อยู่ตรงไหน

เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 19 ส.ค. 2564 ที่รัฐสภา ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  มาตรา 12 งบประมาณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) วงเงิน 21,411,133,800 บาท

จิรายุ สภา 6A0D171A-903A-4A11-AAA9-EC13D43CED88.jpeg

โดย จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอปรับลดงบ 10% เนื่องจากกระทรวง พม. ใช้งบประมาณแผ่นดินไม่ตรงไปตรงมา ในภาวะสถานการณ์โรคระบาดโควิด - 19 นักพัฒนาสังคมลงพื้นที่น้อยมาก สอบถามได้รับคำตอบว่า WFH แต่อย่าลืมว่าท่านเป็นด่านหน้าในการดูแลประชาชน อย่าเลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ ยังทราบมาว่า ตัวแทนพรรคการเมืองบางพรรคเอาของไปแจกบรรเทาทุกข์ประชาชน โดยอิงแอบการเมือง หลายครั้งถ้าทำเพื่อประชาชนไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงตนชื่นชม แต่ถ้ามีวาระแอบแฝงกักตุนเสบียงเอื้อพวกพ้องตนรับไม่ได้ ขอเตือนสติรัฐบาลว่าท่านทำอะไรมีคนมองเห็น หากได้รับคำเตือนควรแก้ไข ตนไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ตนไม่ทราบว่ากระทรวงพม. ช่วยชาวบ้านยามเกิดโควิด – 19 อย่างไรบ้าง เห็นมีแต่กระทรวงอื่นที่ช่วยชาวบ้าน

ด้าน มุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า จากสถานการณ์โควิด – 19 ที่ทำให้พ่อ แม่ และผู้ปกครองเสียชีวิต ทำให้มีเด็กกำพร้าเพิ่มจำนวนขึ้นในประเทศไทยจำนวนมาก เด็กเหล่านี้ขาดโอกาส ไม่มีคนเลี้ยงดู แต่ไม่มีการพูดถึงเลย นอกจากนี้ เด็กติดโควิด-19 หลายหมื่นคน ก็ไม่มีหน่วยงานไหนที่ออกมาพูดถึง แม้แต่กระทรวงพม.เองก็ไม่ออกมาพูดถึง แล้วบอกว่าเป็นกระทรวงแห่งความมั่นคงของมนุษย์ ถามว่าความมั่นคงของมนุษย์อยู่ตรงไหน

“พ่อแม่ตายเด็กอยู่กับใครเรื่องนี้เจ็บปวด ถามว่ารัฐบาลทำอะไรอยู่ ไม่มีการดำเนินการช่วยเหลือ ตัดงบบางส่วนลงก่อนดีหรือไม่ งบคุรุภัณฑ์ งบฝึกอบรมสัมมนา หยุดก่อนได้หรือไม่ จะได้นำงบส่วนนี้มาช่วยเยียวยาแก้ปัญหาตรงนี้ก่อน” มุกดา กล่าว

มุกดา.JPG

ด้าน วิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ชี้แจงว่า กระทรวง พม.ได้รับงบประมาณ ปี 64 จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งการปรับเพิ่มส่วนที่ใหญ่มากคือเงินอุดหนุนดูแลเด็ก ซึ่งกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้รับ 1.7 หมื่นล้าน เป็นเงินที่ใช้จ่ายหรืออุดหนุนเด็กถึง 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือ 1 พันล้านบาท เป็นการดำเนินกิจกรรมด้านอื่นๆที่เกี่ยวกับเด็ก ถ้าท่านเห็นตัวเลขและสัดส่วนที่ปรับเพิ่มจะเห็นว่าเราไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะงบอบรมสัมมนา มีการตรวจสอบ และปรับลดในสถานการณ์โควิด – 19 เราทำเท่าที่จำเป็นก็มีการปรับลดมาแล้ว ดังนั้น ประเด็นที่ท่านเป็นห่วงสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการระบุไว้ในข้อสังเกต สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจะนำไปใช้ในการบริหารจัดการเรื่องงบประมาณต่อไป

จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมาก ด้วยคะแนนเห็นด้วย 243 ไม่เห็นด้วย 69 งดออกเสียง 1 และไม่ลงคะแนน 2