ไม่พบผลการค้นหา
การแพร่ระบาดของโรคคือ เรื่องความมั่นคงในรูปแบบใหม่ เพราะกระทบสุขภาพประชาชนจำนวนมาก รวมถึงความปลอดภัย ขวัญกำลังใจของประชาชน แต่ประชาชนไทยจะเอา "ความเชื่อมั่น" ในข้อมูลข่าวสารจากไหนมาทำให้รู้สึกมั่นคง



การก่อการร้ายชีวภาพ (Bioterrorism)

ก่อนอื่นต้องขอเริ่มจากถามท่านผู้อ่านก่อนว่าเคยชมภาพยนตร์ซีรีย์เรื่อง Resident Evil ที่มิลลา โจโววิชแสดงนำหรือไม่ครับ? เรื่องนี้พัฒนามาจากซีรีย์เกมส์ของญี่ปุ่นชื่อ Biohazard โดยเนื้อเรื่องหลักอธิบายถึงองค์กรใหญ่ยักษ์ระดับโลกที่ทำการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ลับๆสร้างเชื้อโรคชนิดใหม่ขึ้นมา แล้วบังเอิ้นบังเอิญเชื้อโรคหลุดออกนอกห้องทดลอง ด้วยความชาญฉลาดของเชื้อโรค มันได้กลายพันธุ์และแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ติดเชื้อคนจำนวนมากและคร่าผู้คนจำนวนมาก มิหนำซ้ำเชื้อนี้ยังเปลี่ยนคนตายให้เป็นผีดิบมาไล่ล่ามนุษย์ต่ออีกจนอารยธรรมมนุษยชาติแทบสูญสิ้น

“ชีวิตคนเหมือนดั่งละคร” ถึงแม้ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นมันเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์เหมือนในหนังเรื่องนี้ แต่ประเด็นเรื่องการก่อการร้ายชีวภาพ และความมั่นคงชีวภาพก็กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 911 รวมถึงการยกระดับการก่อการร้ายจากระดับชาติเป็นการก่อการร้ายสากล ฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯมีการหวั่นเกรงว่า เชื้อโรคหรืออาวุธชีวภาพกลายเป็นเครื่องมือต่อสู้สำคัญของกลุ่มก่อการร้ายสากล เพราะมันมีราคาถูก พกพาหลีกหนีการตรวจจับได้ง่าย แพร่กระจายเป็นวงกว้าง และสร้างความสะพรึงกลัวให้กับประชาชนได้รวดเร็วกว่า อาวุธชนิดอื่น

Global Health Security Index

ถ้าท่านตามข่าวสุขภาพในช่วงปลายปีที่แล้วจะเคยได้ยินข่าวว่า ไทยได้รับจัดอันดับที่ 6 จาก 195 ประเทศทั่วโลกของ Global Health Security Index 2019 หลายๆคนอาจจะเข้าใจผิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบสุขภาพที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก อย่างไรก็ตามเมื่อท่านมองไปที่อันดับ 1 แล้วอาจจะต้องขมวดคิ้วอีกทีว่า ประเทศสหรัฐฯ เหรอที่ได้อันดับหนึ่งในการจัดอันดับครั้งนี้ ทั้งๆที่ระบบสุขภาพมีความเหลื่อมล้ำสูง ราคาแพง และไม่มีประสิทธิภาพ?

ใช่ครับสหรัฐฯได้อันดับหนึ่งในการจัดอันดับ แต่ถ้าไปอ่านรายละเอียดตัวชี้วัด ท่านจะไม่แปลกใจ เพราะ GHS Index เป็นตัวชี้วัดด้านความมั่นคงสุขภาพในมุมของการจัดการโรคระบาดหรือการก่อการร้ายชีวภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงให้ความสำคัญตลอดมา GHS เป็นการพัฒนาจาก protocol ขององค์กรอนามัยโลกชื่อ “ International Health Regulations 2005” โดยมีเนื้อหาหลักคือ การกำหนดระเบียบข้อบังคับสากลต่างๆของประเทศสมาชิกกรณีเกิดปัญหาโรคระบาดอุบัติขึ้นมา ซึ่งระเบียบต่างๆ เช่น การกำหนดนิยามคำศัพท์ทางเทคนิคต่างๆให้ตรงกัน หรือการทำระบบข้อมูลข่าวสารด้านโรคระบาดเป็นระบบสากลและสามารถนำส่งรายงานแจ้งเตือนต่อองค์กรอนามัยโลกรวมถึงประเทศอื่นๆได้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการควบคุมโลกต่อไป รวมถึงข้อเสนอแนะด้านมาตรการสาธารณสุขที่ประเทศสมาชิกพึงกระทำเมื่อเกิดความเสี่ยงโรคระบาดขึ้นมา เป็นต้น

คราวนี้เรามาดูรายละเอียด GHS Index กัน ประเทศสมาชิกจะถูกถามคำถามทั้งหมด 140 คำถามและสร้างตัวชี้วัดออกมาทั้งหมด 34 ตัว และตัวชี้วัดย่อยอีก 85 ตัว ตัวชี้วัดเหล่านี้ถูกจัดกลุ่มออกมาเป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆได้แก่

1.      การป้องกันโรค มีระบบสาธารณสุขที่สามารถตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ทันท่วงทีหรือไม่ หรือ การแพร่ระบาดของการก่อการร้ายชีวภาพละความมั่นคง

2.      มีระบบการตรวจจับและรายงาน มีระบบและศักยภาพการตรวจจับการแพร่ระบาดของโรคได้แต่เนิ่นๆและสามารถส่งรายงานในระดับนานาชาติได้

3.      การตอบสนองต่อปัญหาอย่างรวดเร็ว มีความพร้อมและการเตรียมตัว มีแผนการที่เตรียมไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบเพื่อรับมือกรณีเกิดการแพร่ระบาดโรค

4.       ระบบสุขภาพ มีระบบสุขภาพที่มีความสามารถในการรักษาผู้ป่วย มีบุคลากรและเครื่องมือแพทย์ที่เพียงพอ และพร้อมในการรักษาผู้ป่วย

5.      การปฏิบัติตามข้อกำหนดสากล มีนโยบายในการปฏิบัติตามข้อกำหนดสากล IHR ขององค์กรอนามัยโลก

6.      สภาพแวดล้อมต่อความเสี่ยง เป็นการประเมินความเสี่ยงทางการเมืองและความมั่นคง เช่น ความสามารถในการเตรียมตัวหรือรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคม สาธารณูปโภคพื้นฐานมีเพียงพอหรือไม่ ในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับประเทศไทยได้คะแนนรวม 75.7/100 คะแนน โดยได้คะแนนด้านการป้องกันโรค 75.7 คะแนน ด้านระบบการตรวจจับและรายงาน 81 คะแนน ด้านการตอบสนองต่อปัญหาอย่างรวดเร็ว 78.6 คะแนน ด้านระบบสุขภาพ 70.5 คะแนน ด้านการปฏิบัติตามข้อกำหนดสากล 70.9 คะแนน โดยคะแนนในส่วนที่แย่คือ ความเสี่ยงต่างๆ ด้านเศรษฐกิจการเมืองในการแพร่ระบาดของโรคที่ได้คะแนนเพียง 56.4 คะแนน ซึ่งไทยได้คะแนนสูงจากกรณีการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดตะวันออกกลาง MERS ในปี 2015 ที่สามารถตรวจจับได้ก่อนและเข้าควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ทันท่วงที รวมถึงการมีสถาบันวิจัยการแพร่ระบาดโรคเขตร้อน และมีการทำงานอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้ รวมถึงการมีระบบสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้

จาก SARS 2003 ถึง Corona Virus 2020

การแพร่ระบาดของโรคคือ เรื่องความมั่นคงในรูปแบบใหม่ เพราะกระทบสุขภาพประชาชนจำนวนมาก รวมถึงความปลอดภัย ขวัญกำลังใจของประชาชน พฤติกรรมประชาชนตลอดจนความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม รัฐบาลในฐานะผู้มีอำนาจเต็ม มีเครื่องไม้เครื่องมือใน มีข้อมูลข่าวสารที่เพียบพร้อมกว่าประชาชน จึงต้องเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยากสำหรับรัฐก็คือ การต้องเข้าควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ไปพร้อมๆกับการให้ข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงกับประชาชนให้เกิดความตระหนักระมัดระวัง และควบคุมอารมณ์ของประชาชนไม่ให้วิตกกังวลเกิดความโกลาหลในสังคมเกินไป ซึ่งแน่นอนว่าการที่ประชาชนจะเชื่อข้อมูลข่าวสารที่รัฐบาลปล่อยออกมาให้นั้นมันขึ้นอยู่กับ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ของเหล่านี้มันเหมือนกับความรัก มันใช้กำลังบีบบังคับให้เชื่อกันไม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าพฤติกรรมที่ผ่านๆมาของรัฐบาลเป็นอย่างไร มีการเคารพสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีปิดกั้นเสรีภาพสื่อหรือไม่ หรือมีการชอบปล่อยข่าวจริงบ้างไม่จริงบ้างให้กับประชาชนหรือไม่

การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในไทยปี 2003 อยู่ในช่วงเวลาที่องค์กรอนามัยโลกร่างข้อกำหนดสากล IHR 2005 อย่างไรก็ตาม การมีสถาบันสุขภาพที่พัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรการแพทย์ของไทยที่มีความเสียสละ จึงเข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จ นอกจากนี้การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และระบบประชาธิปไตย สามารถช่วยให้ประชาชนสามารถสื่อสารความต้องการไปยังหน่วยราชการได้ทันท่วงที และรัฐบาลมีการตอบสนองต่อปัญหามากกว่ารัฐบาลทหารที่ปล่อยปะละเลยความทุกข์ยากของประชาชน ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานของรัฐรวมถึงข้อมูลข่าวสารที่รัฐเสนอต่อประชาชน การทำงานของรัฐบาลเลือกตั้งย่อมมีความโปร่งใสมากกว่ารัฐบาลทหาร

โซเชียลมีเดีย: โจทย์ยากกว่าปี 2003

มนุษย์ทุกคนย่อมรักชีวิตตัวเอง และต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาด Corona Virus อย่างไรก็ตามปัญหาที่หนักกว่าในครั้งนี้คือ การมีโซเชียลมีเดีย แน่นอนว่าโซเชียลมีเดียมีคุณประโยชน์มหาศาลในการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารต่างๆ แต่ก็มีโทษมหันต์เช่นเดียวกัน ถ้าคนหาข้อมูลข่าวสารไม่สามารถแยกแยะออกมาได้ว่า ข้อมูลใดข้อมูลเท็จ ข้อมูลใดเป็นจริง

โอกาสเผชิญข้อมูลเท็จและการแพร่กระจายข้อมูลผิดๆด้านสุขภาพ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก ความรู้เท่าทันสุขภาพของประชาชน (Health Literacy) ซึ่งบ่งชี้ถึงความสามารถในการแยกแยะออกได้ว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ข้อมูลใดเป็นข้อมูลเท็จ ประการสอง คือ ระบบที่รับรองความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งปกติแล้วในด้านสุขภาพก็จะเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือ องค์กรระหว่างประเทศที่น่าเชื่อถือ เช่น กระทรวงสาธารณสุข หรือ องค์กรอนามัยโลก อย่างไรก็ตามถ้าหน่วยงานที่น่าเชื่อถือเหล่านี้ไม่ทำงาน สิ่งที่จะพึ่งพาได้ก็ต้องเป็นประชาชนด้วยกันเอง ประชาสังคม สำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ

แต่ทว่าเทคโนโลยีสื่อสารปัจจุบันก็สามารถเปลี่ยนคนธรรมดาทั่วไปให้กลายเป็นแหล่งข่าวได้โดยแทบไม่ต้องเสียเงินลงทุน ข่าวเรื่องการแพร่ระบาดโรคที่กลายเป็นประเด็นสนใจของสังคม รวมถึงยอดไลค์และยอดแชร์ตามมา จึงกลายเป็นการสร้างสนามแข่งขันว่า ใครเป็นคนแพร่ข้อมูลได้ก่อนก็จะได้รับความนิยมก่อน โดยไม่มีเวลาในการเช็คข้อมูลความถูกต้องของข่าวสาร

ถ้าข้อมูลจากภาครัฐมีความน่าเคลือบแคลงสงสัย ในขณะที่แหล่งแพร่กระจายข่าวไม่มีการตรวจสอบแล้ว การเตรียมการรับมือการระบาดของโรคก็คงต้องเป็นเรื่อง “ทั้งชีวิตเราดูแล(กันเอง) ครับ”[1]


อ้างอิง

[1] ท่านผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารที่น่าเชื่อถือจาก องค์กรอนามัยโลก เช่น คำแนะนำการปฏิบัติตัวต่อการระบาดของ Corona Virus ตามลิงค์ https://www.who.int/health-topics/coronavirus

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog