ไม่พบผลการค้นหา
ศาล รธน.ตีตกคำร้องวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. 'พิธา-ทวี' หลังออกแถลงการณ์ค้าน สธ.ย้าย 'นพ.สุภัทร' ประธานชมรมแพทย์ชนบท จาก รพ.จะนะ ไป รพ.สะบ้าย้อย ชี้เป็นการทำหน้าที่ ส.ส. เพื่อถ่วงดุลนิติบัญญัติ

วันที่ 21 ก.พ. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาเรื่องที่ 5/2566 กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 ถึงสมาชิกภาพของ ส.ส. จำนวน 2 ราย ภายหลัง ส.ส.พรรคภูมิใจไทยยื่นคำร้อง ได้แก่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณี ส.ส.จำนวน 57 คน ยื่นคำร้องว่า พิธา ออกแถลงการณ์ในนามหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุขในการโยกย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการโยกย้ายด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ ขอให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนคำสั่งดังกล่าวโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนนั้น เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 (3) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) หรือไม่

โดย ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 2 เสียง เห็นว่ามีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยเห็นว่า ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า พิธามีการกระทำอื่นใดอันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงในเรื่องการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข มูลกรณียังไม่ปรากฏว่าการกระทำของนายพิธาเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 (3)

อีกทั้งเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้หน้าที่และอำนาจของ ส.ส. ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ในการติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร ด้วยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของหน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐ มิได้มีการดำเนินการอื่นใดอันเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่ง ส.ส.กระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ อันทำให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง

ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-2566_2.jpg

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาชาติ ถูก ส.ส.จำนวน 57 คน ยื่นคำร้องว่า พ.ต.อ.ทวี ออกแถลงการณ์ในนามเลขาธิการพรรคประชาชาติ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุขในการโยกย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการโยกย้ายด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ ขอให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนคำสั่งดังกล่าวโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนนั้น เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 (3) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของ พ.ต.อ.ทวี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย โดยเห็นว่า ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า พ.ต.อ.ทวี มีการกระทำอื่นใดอันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงในเรื่องการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข มูลกรณียังไม่ปรากฏว่าการกระทำของ พ.ต.อ.ทวี เป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 (3) 

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้หน้าที่และอำนาจของ ส.ส. ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ในการติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร ด้วยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของหน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐ มิได้มีการดำเนินการอื่นใดอันเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่ง ส.ส.กระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ อันทำให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง

ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-2566_3.jpg