ไม่พบผลการค้นหา
"อนุทิน" ผลักดันเต็มที่ จัดหาเวชภัณฑ์ให้บุคลากรของสาธารณสุขให้สอดคล้องกับความต้องการ พร้อมเปิดช่องทางฟังเสียงสะท้อน หวังช่วยแก้ปัญหาคนหน้างาน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ว่า ต้องย้ำว่าแพทย์ พยาบาล และทุกภาคส่วนที่ต้องทำงานคัดกรอง ดูแล รักษา ผู้ติดเชื้อ ล้วนมีความเสี่ยง และเป็นกำลังสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ต้องดูแลสวัสดิภาพของคนเหล่านั้น ให้ดีที่สุด เท่าที่ศักยภาพจะมีได้ เราได้พิจารณาร่างประกาศเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ใจความสำคัญคือ สถานพยาบาลทุกแห่ง ต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรการแพทย์ และต้องออกข้อกำหนดแนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้บุคลากรทำงานด้วยความมั่นใจ 

ที่สำคัญ และระบุไว้ในข้อที่ 3 คือ การจัดหาหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 รวมไปถึงเวชภัณฑ์ ต้องสอดคล้องกับความต้องการใช้งาน พร้อมกันนั้น ต้องมีหลักประกัน ในการทำงานแก่บุคลากรการแพทย์ รวมไปถึงต้องมีช่องทางฟังเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ทางผู้มีอำนาจรับผิดชอบ ได้รับทราบถึงข้อเท็จจริง และเร่งนำไปแก้ไขต่อไป สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หากมีความเสี่ยง ต้องได้รับการตรวจอย่างรวดเร็ว หากติดเชื้อ ต้องได้รับการรักษาอย่างดี เช่นเดียวกับคนรอบข้าง หากมีความเสี่ยง ก็ต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกัน ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทั่วโลก ต้องใช้เวชภัณฑ์ ในจำนวนมหาศาล จึงเป็นงานหนักของภาครัฐ ในการจัดหาเวชภัณฑ์ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ขอย้ำว่า เราไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามทำทุกอย่างเพื่อจัดการปัญหาให้ได้โดยเร็ว และขอย้ำว่าเวชภัณฑ์จากกระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งไปให้คนหน้างานนั้น ได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้ว เพื่อความมั่นใจของคนทำงาน

องค์การอนามัยโลก ให้ความสำคัญกับบุคลากรการแพทย์มาก ด้วยเหตุผลว่า หากบุคลากรสาธารณสุขไม่ปลอดภัย ผู้ป่วยเอง ก็ย่อมไม่ปลอดภัยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การระบาดในทั่วโลก ทำให้อุปกรณ์ที่จำเป็น ทั้งชุด PPE หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 กลายเป็นสินค้าขาดแคลนระดับโลก ของไทยเองก็ต้องจัดสรรอย่างสุดความสามารถ ทั้งในส่วนที่ผลิตได้เอง และนำเข้ามา จำเป็นต้องวางแผนการจัดหาอย่างดี รวมไปถึงต้องวางแผนการใช้อย่างรัดกุมที่สุด

ส่วนข้อมูล ณ วันที่ 15 เม.ย. 2563 พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไปแล้ว 99 ราย หรือคิดเป็น ร้อยละ 3.75 ของผู้ป่วยทั้งหมด ในขณะที่ทั่วโลกพบบุคลากรการแพทย์ติดเชื้อไปแล้วทั้งสิ้นร้อยละ 4-9 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :