ไม่พบผลการค้นหา
20 มีนาคม สหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันความสุขสากล แม้ความสุขเป็นนามธรรม แต่ก็มีความพยายามหาตัวชี้วัดและสำรวจมันจนได้ (ระดับหนึ่ง)

รายงานความสุขโลก (The World Happiness report) ปี 2024 รายงานการจัดอันดับความสุขของประเทศต่างๆ 143 ประเทศทั่วโลก 

ฟินแลนด์ครองแชมป์ 7 ปีซ้อนสำหรับคะแนนภาพรวมประเทศ อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ได้คะแนนน้อยที่สุด

นอกจากนี้รายงานยังรวมคะแนน 3 ปี (2021-2023) สำหรับ “กลุ่มหนุ่มสาว”( น้อยกว่า 30 ปี) ประเทศที่ครองแชมป์คือ ลิทัวเนีย ส่วน “กลุ่มสูงวัย” (มากกว่า 60 ปี) เดนมาร์กมาเป็นอันดับ 1

10 อันดับแรก ได้แก่ 

  • ฟินแลนด์
  • เดนมาร์ก
  • ไอซ์แลนด์
  • สวีเดน
  • อิสราเอล
  • เนเธอร์แลนด์
  • นอร์เวย์
  • สวิตเซอร์แลนด์
  • ออสเตรีย

10 อันดับท้าย ได้แก่ 

  • เยเมน
  • แซมเบีย
  • เอสวาตินี
  • มาลาวี
  • บอสวานา
  • ซิมบับเว
  • คองโก
  • เซียร์ราลีโอน
  • เลโซโท
  • เลบานอน
  • อัฟกานิสถาน

ประเทศในอาเซียน เรียงลำดับดังนี้

  • สิงคโปร์ อันดับ 30 (6.523 คะแนน)
  • ฟิลิปปินส์ อันดับ 53 (6.048 คะแนน)
  • เวียดนาม อันดับ 54 (6.043 คะแนน)
  • ไทย อันดับ 58 (5.976 คะแนน)
  • มาเลเซีย อันดับ 59 (5.975 คะแนน)
  • อินโดนีเซีย อันดับ 80 (5.568 คะแนน)
  • ลาว อันดับ 94 (5.39 คะแนน)
  • เมียนมา อันดับ 118 (4.354 คะแนน)
  • กัมพูชา อันดับ 119 (4.341 คะแนน)

แม้ว่าไทยจะอยู่อันดับ 58 ของโลก และเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน (รายงานไม่มีข้อมูลของบรูไน) แต่หากดูการจัดอันดับเฉลี่ย 3 ปีแบบแยกอายุจะพบว่า คนหนุ่มสาวของไทย มีคะแนนความสุขอยู่ในอันดับ 45 นำฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา

หันดูสิงคโปร์เต็งหนึ่งในอาเซียน ภาพรวมอยู่ที่อันดับ 30 ของโลก แต่หากดูกลุ่มหนุ่มสาว จะพบว่า ตกมาอยู่อันดับ 54 ต่ำกว่าไทย

อันดับความสุข

วัด ‘ความสุข’ ยังไง

รายงานนี้อ้างอิงการประเมินชีวิตของกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกจัดทำโดย Gallup World Poll เก็บข้อมูลในช่วง 3 ปีโดยให้กลุ่มตัวอย่างในแต่ละประเทศให้คะแนนชีวิตปัจจุบันของตนเองตั้งแต่ 0-10 คะแนนในด้านต่างๆ  

โดยมี 6 ตัวแปรหลักในการประเมิน

1.GDP ต่อหัว (GDP per capita)

2.การสนับสนุนทางสังคม (Social Support)

3.อายุไขเฉลี่ยที่มีสุขภาพดี (Healthy life expectancy)

4.เสรีภาพ (Freedom)

5.ความเอื้ออาทร (Generosity)

6.การทุจริต (Corruption)

สามตัวแปรแรกมีตัวเลขสถิติสะท้อนชัดอยู่แล้ว ส่วนสามตัวแปรหลังนั้นสะท้อนผ่านการตอบคำถามของกลุ่มตัวอย่าง

ในเรื่องเสรีภาพ โพลจะถามคำถามว่า “คุณพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจกับเสรีภาพในการเลือกว่าจะทำอะไรในชีวิต”

ในเรื่องความเอื้ออาทร โพลจะถามคำถามว่า “คุณได้บริจาคเงินการกุศลในช่วงเดือนที่ผ่านมาหรือไม่” 

ในเรื่องคอร์รัปชัน จะถามคำถามว่า “การคอร์รัปชันแพร่หลายในรัฐบาลหรือไม่” และ “การคอร์รัปชันแพร่หลายในภาคธุรกิจหรือไม่”  

นอกจากนี้โพลยังให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามเเกี่ยวกับ อารมณ์ด้านบวกผ่านคำถามว่าเมื่อวานนี้มีประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ อย่างไร เช่น การหัวเราะ ความเพลิดเพลิน การได้ทำสิ่งที่ตนเองสนใจ ส่วนอารมณ์ด้านลบทำผ่านคำถามถึงประสบการณ์เกี่ยวกับความกังวล ความเศร้า และความโกรธ 

รายงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Gallup World Poll , ศูนย์วิจัยของ Oxford เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2012 หลังจากประเทศภูฏานสนับสนุนมติที่ 65/309 “ความสุข: สู่แนวทางการพัฒนาแบบองค์รวม” ซึ่งรับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีการเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ “ให้ความสำคัญกับความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้นในการกำหนดวิธีการ บรรลุและวัดการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” และต่อมาสหประชาชาติก็ประกาศให้วันที่ 20 มีนาคมเป็นวันแห่งความสุขสากล