ข้อตกลงระยะยาวในการซื้อก๊าซธรรมชาติระหว่างเยอรมนีกับกาตาร์นี้ ถูกวิจารณ์ว่าจะยังไม่ช่วยยุติเม็ดเงินที่ไหลเข้าไปยังรัสเซีย หลังจากสหภาพยุโรปยังคงต้องเดินหน้าซื้อพลังงานจากรัสเซีย ถึงแม้จะมีความพยายามในการลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียในระยะยาวก็ตาม โดยมีการคำนวณว่าลำพังแค่การซื้อน้ำมันนั้น ยังมีเม็ดเงินไหลเข้ารัสเซียกว่า 285 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 9.5 พันล้านบาท) ต่อวัน
โรเบิร์ต ฮาเบ็ก รัฐมนตรีด้านพลังงานของเยอรมนีประกาศบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ณ เมืองโดฮาของกาตาร์ หลังการเจรจาดังกล่าวสามารถบรรลุได้ลงตัว “มันเป็นเรื่องที่ดีที่ผมจะกล่าวว่า เราได้บรรลุข้อตกลงอย่างแน่ชัดต่อการร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนทางพลังงานในระยะยาว” ฮาเบ็กกล่าวพร้อมกับตัวแทนจากบริษัทด้านพลังงานของเยอรมนี “บริษัทต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการเดินทางในครั้งนี้ ที่จะเข้าไปเจรจาเรื่องข้อตกลงกับทางฝั่งกาตาร์”
ฮาเบ็กในฐานะรัฐมนตรีด้านพลังงานของเยอรมนี ตัวแทนจากพรรคกรีนซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเยอรมนีถูกวิจารณ์มาตลอดหลายสัปดหา์ที่ผ่านมา จากการที่เยอรมนีไม่ยอมคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากทางรัสเซียอย่างเด็ดขาด ในขณะที่ โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนกล่าวว่า เยอรมนีให้ความสำคัญอยู่เพียงแค่สามสิ่งคือ “เศรษฐกิจ เศรษฐกิจ และเศรษฐกิจ”
เยอรมนีพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียจำนวนมากที่สุดในสหภาพยุโรป โดยคิดเป็นก๊าซธรรมชาติ 55% ถ่านหิน 25% และน้ำมันใส 34% ที่เยอรมนีนำเข้ามาจากรัสเซีย เพื่อช่วยหล่อเลี่ยงชีวิตของประชาชนในประเทศจำนวนนับร้อยล้านคนที่ต้องดำเนินชีวิตประจำวันจากพลังงานดังกล่าว ในขณะที่พลังงานเดียวกันนี้เป็นแหล่งทุนของรัสเซียในการทำสงครามรุกรานยูเครน
แบบสำรวจในเยอรมนีล่าสุดเปิดเผยว่า ประชาชนส่วนมากของเยอรมนีกล่าวว่าตนพร้อมเสียสละ โดยเฉพาะเรื่องค่าพลังงานก๊าซและน้ำมันที่จะพุ่งสูงขึ้น หากรัฐบาลเยอรมนีประกาศการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียเพื่อให้รัสเซียพบเข้ากับความพ่ายแพ้ในการทำสงครามกับยูเครน อย่างไรก็ดี รัฐบาลเยอรมนีปฏิเสธว่าตนไม่เชื่อผลสำรวจดังกล่าว พร้อมระบุว่าประชาชนอาจไม่เข้าใจว่าการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียจะส่งผลให้เกิดการว่างงานและความยากจนในเยอรมนีได้
กาตาร์คาดว่า ตนอาจจะส่งออกก๊าซของตนเองขึ้นกว่าเท่าตัวภายในปี 2568 ซึ่งอาจจะช่วยให้ยุโรปลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียให้กลายเป็นศูนย์ในระยะยาว อย่างไรก็ดี เยอรมนียังคงไม่มีท่อส่งก๊าซธรรมชาติ LNG ที่กาตาร์เป็นผู้ผลิต ในขณะที่รัฐบาลเยอรมนีเพิ่งอนุมัติการสร้างท่อส่งก๊าซบรุนส์บุทเทลและวิลเฮล์มชาเฟิน แต่ก็ยังคงจะต้องใช้เวลาในการสร้างกว่าอีก 3 ปี ทำให้เยอรมนีและยุโรปยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียต่อไป
ที่มา: