ไม่พบผลการค้นหา
โลกหมุนรอบตัวเองเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อ 19 ก.ค. 2563 ผู้เชี่ยวชาญชี้เพิ่ม ปีนี้เวลาจะเดินไวกว่าเดิมเฉลี่ย 0.05 มิลลิวินาที/วัน

จริงอยู่ที่มนุษยชาติต้องเหนื่อยรากเลือดในการก้าวข้ามปี 2563 ซึ่งเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ไม่หยุดหย่อน ไล่มาตั้งแต่ไฟป่าออสเตรเลีย ต่อด้วยการสังการพลตรี คาเซ็ม สุเลมานี หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของอิหร่าน และการปรากฏตัวของโควิด-19

สิ่งที่เกิดขึ้นในปีอธิกสุรทินซึ่งโลกมีวันเพิ่มขึ้นมาเป็น 366 วัน อาจทำให้ผู้คนรู้สึกว่าเวลาช่างเดินเชื่องช้าเหลือเกิน อย่างไรก็ดีนักวิทยาศาสตร์กลับเผยความจริงที่ต่างออกไป เมื่อนาฬิกาที่เที่ยงตรงที่สุดในโลกสะท้อนว่าดาวเคราะห์ดวงนี้หมุนเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซ้ำยังมีแนวโน้มที่จะเร่งความเร็วขึ้นไปอีก 


86,400 วินาที

ตามปกตินั้น โลกหมุนรอบตัวเองหนึ่งครั้งใช้เวลาประมาณ 86,400 วินาที (24 ชั่วโมง) ทว่าในวันที่ 19 ก.ค. 2563 โลกกลับใช้เวลาหมุนรอบตัวเองเร็วกว่าปกติราว 1.4602 มิลลิวินาที (หนึ่งในพันของหนึ่งวินาที) เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเทียบกับสถิติวันที่โลกหมุนรอบตัวเองไวที่สุดของปี 2548 ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ดาวเคราะห์ดวงนี้ยังทุบสถิติตัวเองไปถึง 28 ครั้ง

นับตั้งแต่ทศวรรษ 60 ที่มีการพัฒนา 'นาฬิกาอะตอม' (atomic clock) ซึ่งมีความเที่ยงตรงในการตรวจจับเวลา ระยะเวลาในการหมุนรอบตัวเองของโลกเสมือนปรับตัวช้าลงเรื่อยๆ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา จนนักวิทยาศาสตร์ต้องเพิ่ม 'อธิกวินาที' (การปรับเพิ่ม/ลด จำนวนวินาทีเพื่อรักษาระยะเวลามาตรฐานเอาไว้) มากถึง 27 วินาที โดยครั้งล่าสุดที่มีการปรับเพิ่มวินาทีนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2559 

เมื่ออยู่ดีๆ โลกกลับมาหมุนรอบตัวเองเร็วกว่าปกติเช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่วงการวิทยาศาสตร์/ดาราศาสตร์ ที่ควบคุมเวลาของโลกอาจต้องปรับลด 'อธิกวินาที' เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ ยิ่งเมื่อนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าในปี 2564 นี้ โลกจะหมุนรอบตัวเองเร็วขึ้นเฉลี่ยวันละ 0.05 มิลลิวินาที 

ปีเตอร์ วิบเบอร์เลย์ นักวิจัยอาวุโสจากห้องปฏิบัติการทางกายภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ผู้ศึกษาในประเด็นเวลาและความถี่ชี้ว่า เป็นความจริงอย่างแน่นอนที่โลกหมุนรอบตัวเองเร็วขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วง 50 ปีที่ผ่านมา 

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นกับการหมุนของโลกนั้น คนปกติแทบไม่สามารถรับรู้ความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในวงการการสื่อสารและระบบนำทางด้วยดาวเทียมสมัยใหม่มีเทคโนโลยีหลายประเภทที่อ้างอิงอยู่กับความเที่ยงตรงของเวลาเหล่านี้

อ้างอิง; phys.org, The Telegraph, space.com, time and date, Daily Mail