1.กองทุนน้ำมัน
เอาเงินมาอุดหนุนน้ำมันดีเซล 3 บาทกว่าต่อลิตรไต่ขึ้นไปเรื่อยถึง 5-6 บาท จนเงินกองทุนน้ำมันบัญชีน้ำมันนั้นลดฮวบใกล้หมด ขณะที่กองทุนน้ำมันอุดหนุนก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนเดือนละ 13,000 ล้านบาท ในขณะที่มีเงินไหลเข้ากองทุนแค่เดือนละ 5,000 ล้านบาท ทำให้ ณ วันที่ 6 มี.ค.2565 กองทุนน้ำมันเป็นหนี้รวม -23,986 ล้านบาท
แม้ครม.อนุมัติให้ขยายวงเงินเตรียมกู้เงินของกองทุนน้ำมันที่ชนเพดาน 40,000 ล้านบาท ให้กู้เพิ่มได้อีก 30,000 ล้านบาท แต่การกู้ก็ยังติดขัดเนื่องจากกองทุนกำลังเปลี่ยนสถานะจากนิติบุคคลสังกัดกระทรวงพลังงานเป็น องค์การมหาชน จึงต้องมีการรับรองงบการเงินให้เรียบร้อยก่อน คาดว่าจะกู้ได้ภายในเดือนมี.ค.นี้
2.ลดภาษีน้ำมัน
ระหว่างที่กองทุนน้ำมันเงินหมด ยังกู้ไม่ได้เต็มที่ รัฐบาลตัดสินใจตามคำเรียกร้องที่มีมานานแล้วทั่วสารทิศให้ลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 3 บาท โดยชัก 1 บาทเอาเข้ากองทุนน้ำมันจนถึง 31 มี.ค.นี้ โดยครม.กำหนดจะลดภาษีน้ำมันเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.2565 ทำให้ราคาดีเซลขณะนี้อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันเบนซินชนิดต่างๆ นั้นแตะ 40 บาทต่อลิตรแล้ว
กระทรวงการคลังระบุว่า การตรึงดีเซล 3 บาทต่อลิตร จะทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้จากภาษีน้ำมันดีเซล เดือนละ 5,700 ล้านบาท รวม 3 เดือน จะสูญเสียรายได้ราว 17,000 ล้านบาท
>ปี 2564 รายจ่ายทั้งหมดของรัฐอยู่ที่ 3.28 ล้านล้านบาท ขณะที่ประมาณการรายรับไว้ที่ 2.67 ล้านล้านบาท
>หน่วยงานที่จัดเก็บรายได้มากที่สุดคือ กรมสรรพกร สัดส่วน 60% รองลงมาคือ กรมสรรสามิต 23.6% กรมศุลกากร 3.6% ส่วนราชการอื่น 6.4% รัฐวิสาหกิจ 6%
>ภาษีน้ำมันเป็นรายได้จากการเสียภาษีจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมในประเทศและนำเข้า นับเป็นรายได้หลักของกรมสรรพสามิตเช่นกัน โดยในปี 2563 จัดเก็บภาษีน้ำมันได้ 202,427 ล้าน ปี 2564 ประมาณการว่าจะจัดเก็บได้ 234,197 ล้าน แต่หากดูข้อมูลกระทรวงการคล้งจะพบว่า จัดเก็บได้จริง 203,784 ล้าน ในปี 2565 มีการประมาณการว่าจะจัดเก็บได้ 225,597 ล้าน ก็ไม่มีทางเป็นไปได้
1. พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เห็นด้วยกับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล โดยยกตัวอย่างว่า ในยุคพรรคเพื่อไทยเก็บเพียงลิตรละครึ่งสตางค์เท่านั้น ขณะที่ตอนนี้แม้ลดไปแล้ว 3 บาท ก็ยังอยู่ที่ 3.20 บาท และให้กำหนดราคาน้ำมันที่โรงกลั่นตามต้นทุนที่แท้จริงเท่ากับราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ โดยต้องไม่มีค่าขนส่งซึ่งเป็นการเอาเปรียบประชาชน อีกทั้งปรับลดราคาส่วนผสมของพืชพลังงานทั้งราคาเอทานอลที่ผสมในแก๊สโซฮอล์ และ ราคาน้ำมันปาล์มที่ผสมในไบโอดีเซล อย่าให้สูงเกินไปมาก และเมื่อราคาน้ำมันลดลง ราคาสินค้าต่างๆ ก็จะปรับตัวลดลงตามไปด้วย
2. พชร นริพทะพันธุ์ กรรมการบริหารและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ระบุว่า รัฐควรโอนเงินคืนกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 20,087.42 ล้านบาท เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ดึงออกไปใช้เป็นรายได้แผ่นดิน ทางพรรคทวงถามมาหลายหนแล้ว แต่ยังไม่มีคำตอบ
3. เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส. จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ขอเสนอให้ลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาท นอกจากนี้ ราคาหน้าโรงกลั่น ที่อยู่ในโครงสร้างราคาน้ำมันในไทยนั้น มีความผิดปกติ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรแก้ไขได้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีอำนาจในการกำหนดราคาหน้าโรงกลั่น เพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชน ปัจจุบันกลั่นน้ำมันในประเทศรวมทั้งสิ้น 6 โรง กลั่นในประเทศไทย แต่ตั้งราคาหน้าโรงกลั่นเสมือนว่ากลั่นที่ประเทสสิงคโปร์ จึงใช้คำว่าราคาหน้าโรงกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์ แล้วยังบวกค่าขนส่งเสมือนนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์มาประเทศไทย มีราคาค่าประกันภัย และค่าการสูญเสียระหว่างทางจากสิงคโปร์มาไทย ซึ่งเป็นลาภลอย ถ้ากำหนดราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์เพียงอย่างเดียวยังถือว่ารับได้ แต่ลาภลอยเหล่านี้หากคิดเพียง 50 สตางค์ต่อลิตร ในหนึ่งวันประชาชนใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 100 ล้านลิตร รวม 1 ปีกว่า 1 หมื่นล้านบาท ลาภลอยที่ตกอยู่ในมือใครบ้าง ขอตั้งข้อสังเกตว่า 5 โรงกลั่นมีผู้ถือหุ้นเป็นกลุ่มคนเดียวกัน โดยกลุ่มคนนี้คือบริษัทพลังงานที่ รมว.พลังงาน คนปัจจุบัน
4. ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุให้ตรึงราคาดีเซลที่ 32-35 บาทจะดีกว่า การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันทุก 1 บาทต่อลิตร จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง 0.3-0.4% โดยไทยใช้น้ำมันประมาณ 70 ล้านลิตรต่อวัน ต้องใช้เงินชดเชยประมาณ 500 ล้านบาทต่อวัน หรือ 15,000 ล้านบาทต่อเดือน มองว่าหากรัฐบาลขยับเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซลจากลิตรละ 30 บาท เป็นลิตรละ 32-35 บาท จะช่วยลดภาระเงินกองทุนนำมันเชื้อเพลิง และช่วยลดภาระหนี้สาธารณะได้
5. ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.จากพรรคก้าวไกล เสนอว่า รัฐบาลต้องยอมรับกับประชาชนตรงไปตรงมา ว่าด้วยงบประมาณที่มี ‘รัฐถังแตก’ แล้ว ไม่มีเงินพออุดหนุนราคาน้ำมันต่อในระยะยาว และต้องเปลี่ยนจากการอุ้มราคาน้ำมันแบบเหมารวมทั้งประเทศ มาเป็นการอุดหนุนค่าครองชีพโดยตรงให้ประชาชน ซึ่งจะช่วยทั้งผู้ใช้เบนซินและดีเซล มุ่งเป้าคนรายได้น้อย โดยเติมเงินเพิ่มในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมกับต้องขยายสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะมีคนจนเพิ่มจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ควรนำเงินไปอุดหนุนตรงให้กับขนส่งสาธารณะและภาคโลจิสติกส์ เช่น กลุ่มรถบรรทุก เพื่อใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ศิริกัญญายังตั้งข้อสังเกตว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปมากกว่าเดือน พ.ค.รัฐบาลก็อาจจะต้องยืดมาตรการนี้ออกไปอีก เท่ากับจะมีเลือดไหลออกจากคลังเพิ่มอีกโดยที่จะกระทบกับเป้าการจัดเก็บรายได้และงบประมาณในที่สุด ต้องรอเพียงปาฏิหาริย์ว่าเศรษฐกิจปี 65 จะกลับมาฟื้นตัวดีแล้วเก็บภาษีอื่นได้เพิ่ม จึงจะไม่มีปัญหาตอนปิดหีบงบประมาณ แต่ความหวังก็ดูยิ่งริบหรี่จากสถานการณ์ค่าครองชีพในปัจจุบัน ปัจจุบันเงินคงคลังที่เหลืออยู่ไม่มากแล้ว ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 ลดลงเหลือราว 300,000 ล้านบาท หากสุดท้ายปิดหีบไม่ลง ก็คงต้องลดงบประมาณรายจ่ายลง รัฐบาลต้องตอบคำถามกับประชาชนให้ได้ว่าจะไปตัดงบส่วนไหนก่อน โครงการไหนจะโดนตัด โดนเลื่อน หรือต้องให้ไปรอลุ้นกันหน้างาน
ที่มา :
https://dataservices.mof.go.th/menu3?id=2
https://bbstore.bb.go.th/cms/1614570305_5370.pdf
https://www.offo.or.th/th/estimate/fuelfund-status
http://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/oil/oil-price