วันที่ 27 ต.ค. 2565 เกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ นักการเงินการคลัง อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลังและอดีตบอร์ดสภาการศึกษาฯ กล่าวถึงการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น และโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม ตามประกาศ ปี 2561 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ว่า ตนเชื่อมั่นว่าการควบรวมดังกล่าวจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีมาพัฒนามาตรฐานการศึกษาของประเทศไทย จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
"การออกเงื่อนไขของ กสทช.นั้น ผมมองว่าเป็นทั้งยาขม และความท้าทายต่อการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจของทรูและดีแทค แต่มั่นใจว่าทรูและดีแทคจะสามารถปรับยุทธศาสตร์เพื่อรองรับเงื่อนไขของ กสทช. ได้ในที่สุด ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยให้ก้าวไกล"
เกียรติชัยกล่าวว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกบอร์ดสภาการศึกษามา 5 ปี ตนได้ประจักษ์ถึงบทบาทอันสำคัญของเทคโนโลยีที่จะมาช่วยพัฒนามาตรฐานการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และยังคงยืนยันสนับสนุนการควบรวมครั้งนี้ ดังเช่นที่เคยเขียนเสนอความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับแผนการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค ถึงกสทช. ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา ตนเชื่ออย่างแรงกล้าว่าแผนการควบรวมระหว่าง 2 บริษัทโทรคมนาคมครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย และที่สำคัญด้วยสินค้าและบริการที่หลากหลายมากกว่าเดิมของทั้ง 2 บริษัทเทคโนโลยีนี้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจโทรคมนาคมจะสามารถนำเสนอโซลูชันที่รวดเร็วในราคาที่ย่อมเยาว์ให้แก่ภาคการศึกษาไทยที่ยังมีความเหลื่อมล้ำและยังเกิดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนในสังคมในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลการศึกษา เช่น ครูที่มีประสบการณ์และมีคุณสมบัติที่เหมาะสม หนังสือเรียน เทคโนโลยี ตลอดจนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ แก่โรงเรียน การควบรวมบริษัทโทรคมนาคมครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด "นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการศึกษา" ได้แก่ (1) หนังสือดิจิทัลและแท็บเล็ต (2) การพิมพ์ 3 มิติ (3) เทคโนโลยีโลกเสมือน (4) เกมมิฟิเคชั่น (5) เทคโนโลยีคลาวด์ (6) ปัญญาประดิษฐ์ และ (7) เทคโนโลยีโมบายล์
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าจากเงื่อนไขที่กสทช. กำหนดขึ้นมาสำหรับการควบรวมทรู-ดีแทค ถือว่าสร้างความท้าทายให้แก่โอเปอร์เรเตอร์เครือข่ายโมบายล์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 และ 3 ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ ให้ความสำคัญแก่ประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญนั้น ทั้งยังเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลง (Disrupt) กลยุทธ์ของทรูและดีแทคในอนาคตอีกด้วย เพราะการระบุเงื่อนไขที่ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปีนั้น จะส่งผลกระทบต่อแผนของทรูและดีแทคในการผนึกความแข็งแกร่งที่จะดึงดูดผู้ใช้งานที่มากขึ้น ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการควบรวม กลยุทธ์หลังการควบรวมกิจการอาจล่าช้าถึง 3 ปี ซึ่งจะทำให้ผู้แข่งขันใช้แคมเปญการตลาดใหม่มาแย่งชิงลูกค้าที่มีอยู่ ถือเป็นการการสกัดกั้นการสร้างแบรนด์ใหม่ เงื่อนไขข้อนี้ทำให้ ทรูและดีแทคยังไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้นำตลาดหลังการควบรวมในทันที
ในขณะเดียวกันข้อห้ามของ กสทช. ที่ไม่ให้บริษัทควบรวมปฏิเสธการจัดให้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับบริการโมบายล์อย่างราบรื่นนั้น จะเป็นภาระให้กับทั้งทรูและดีแทคที่ยังคงต้องจัดสรรบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน เงื่อนไขและมาตรการเฉพาะของกสทช.ส่งผลให้ทรูและดีแทคต้องเผชิญกับความท้าทาย และจำเป็นต้องปรับปรุงกลยุทธ์ทางธุรกิจ รวมถึงแผนการตลาดในปี 3 ปีข้างหน้าเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของ กสทช.
เกียรติชัย เชื่อมั่นด้วยว่าการควบรวมทรูและดีแทคครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่นำไปสู่การขยายขนาดธุรกิจ เพราะเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายการลงทุนที่สูง โดยปราศจากผลตอบแทนในการลงทุนที่ได้คืนกลับมาในทันที ซึ่งคล้ายกับแผนการควบรวมของบริษัท Celcom Axiata และ Digi ในมาเลเซีย ทั้งนี้จากข้อมูลของบริษัท GSMA Intelligent พบว่าฐานลูกค้าของดีแทค มีจำนวนลดลงในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จาก 28.4 ล้าน เหลือเพียง 19.3 ล้านคนในปลายเดือน ก.ย. และส่วนแบ่งทางการตลาดก็ลดลงเช่นเดียวกันจาก 34 %มาเป็นเพียง 20 % เช่นเดียวกันกับกำไรที่ลดลงต่อเนื่องถึง 5 ไตรมาส โดยจากรายงานของฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดว่าการควบรวมในประเทศไทยจะส่งผลให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX ) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) รวมถึงเสถียรภาพทางการเงินและกำไรในระยะยาว ส่งผลให้บริษัทใหม่ สามารถแข่งขันกับเอไอเอสซึ่งมีการเงินที่แข็งแกร่งเพื่อลงทุน 5G ทั้งนี้ในรายงานผลวิจัยระดับโลก HSBC คาดการว่าการผนึกกำลังครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ได้ 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึง 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดจนเพิ่มรายได้ ในมุมของกฎระเบียบ สถาบันการเงินเชื่อว่า การควบรวมครั้งนี้ จะเกิดสิ่งดี ๆ เนื่องจากทั้ง 2 บริษัท ไม่มีใครสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างเพียงพอเพื่อลงทุนด้านเครือข่าย
"ผมเชื่อว่า การที่กสทช. ได้ออกมาตรการเฉพาะจำนวนมากเหล่านี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมและดูแลการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคตามที่สังคมวิตกกังวล” เกียรติชัยกล่าว