ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อนักเขียน วิจารณ์แวดวงนักเขียนไทย ความสัมพันธ์ในฐานะ 'ขา' ของระบอบเผด็จการในรอบสิบกว่าปี

6 ส.ค.2564 งานประชุมนานาชาติ 'วรรณกรรมไทยและอินโดนีเซียในยุคหวนคืนของอนุรักษ์นิยม' จัดโดย สำนักวิชาการรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐแห่งมาลัง อินโดนีเซีย

เดือนวาด พิมวนา นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2546 ซึ่งนิยามตนเป็นผู้เฝ้าดูแวดวงวรรณกรรมไทยอยู่ห่างๆ ได้พูดในหัวข้อ ‘องคาพยพที่ปรากฏชัดเจนของเผด็จการไทย’ สรุปความได้ดังนี้ :

ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ความชัดเจนประการหนึ่ง คือ ความล่มสลายลงเรื่อยๆ ของระบอบประชาธิปไตยไทย พร้อมๆ กับการปรากฏใบหน้า ตัวตนของเผด็จการไทย

แวดวงวรรณกรรมไทยดำรงตนเหมือนยังก้าวหน้า พัฒนาต่อเนื่อง โดยไม่ยินยอมรับรู้สภาพการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยที่ล่มสลายอยู่ตรงหน้า เมินเฉย กระทั่งยินยอมเป็นองคาพยพหนึ่งของระบอบเผด็จการ ส่วนระบอบประชาธิปไตย มีแต่วิญญาณที่สิงสู่ในประชาชน และส่งผลให้ประชาชนกลายเป็นศัตรูของรัฐบาลเผด็จการ

ระบอบประชาธิปไตยภายหลังการปฏิวัติปี 2475 ครบ 89 ปีในปี 2564 ความเป็นจริงประเทศไทยถูกลดทอนความเป็นประชาธิปไตยโดยรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอระบอบประชาธิปไตยจะเติบโต ก็ถูกตัดเหลือแต่ตอให้แตกหน่อใหม่ เพื่อให้ได้ชื่อว่า ยังเป็นระบอบประชาธิปไตย

ในอดีตเคยเชื่อว่า การทำรัฐประหารนั้น ยิ่งเวลาผ่านนานไปยิ่งทำได้ยาก เป็นสิ่งน่าละอาย ยอมรับไม่ได้ แต่สิ่งปรากฏจริงคือ รัฐประหารทำได้ง่าย ง่ายมาก และสำเร็จทุกครั้งในระยะหลัง บ่งบอกถึงศักยภาพของทหารไทย แม้จะคิดถูกว่ามันเป็นสิ่งน่าละอายยอมรับไม่ได้ แต่ก็คิดผิดอย่างสิ้นเชิงว่าผู้ทำจะละอายจนไม่กล้ากระทำ และหลังๆ มันสร้างความสมบูรณ์แบบให้เผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ จึงขอเรียก เผด็จการยุคหลังว่า "เผด็จการสมบูรณ์แบบ"

นับแต่เกิดรัฐประหารปี 2549 เป็นช่วงที่พาความคิดจิตใจตนเองเปิดรับสถานการณ์ทางการเมืองอย่างเต็มที่ และแปลกแยกกับแวดวงนักเขียนอย่างที่สุด จนเรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้าม แต่ก็ไม่เจ็บปวดเพราะอยู่นอกแวดวงอยู่แล้ว กระแสเสียงในแวดวงวรรณกรรมไทยช่วงนั้นไหลไปในทิศทางเดียวกันหมดคือ ‘เกลียดทักษิณ’ และมีการปลุกระดมประชาชนให้เกลียดชังรัฐบาลทักษิณอย่างรวดเร็ว ผลีผลาม

พวกเขาคิดว่ากำลังสานต่ออุดมการณ์เก่าของตนเองอยู่ อยากมีอารมณ์ร่วมทันทีหากมีสถานการณ์ให้ลุกขึ้นสู้ และคิดว่าการต่อต้านรัฐบาลทักษิณนั้นไม่ต่างจากการลุกฮือของประชาชน ในปี 2516 2519 2535 จึงเป็นเหตุให้ไม่มีปฏิกริยาต่อต้านการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ หรือถึงขั้นสนับสนุน โดยไม่ตะขิดตะขวงใจว่า การไม่ต่อต้านรัฐประหาร คือ การทำให้หลักการประชาธิปไตยหมดความหมาย ความคิดว่ารัฐประหารทำได้ หากกระทำต่อผู้นำที่คุณเกลียดชัง หรือเห็นว่าเป็นคนไม่ดี เป็นการเผยให้เห็นว่าหลักการประชาธิปไตยถูกโยนทิ้งแล้วด้วยอารมณ์ ความรัก-ความเกลียดชังต่อตัวบุคคล

แวดวงนักเขียนก็เหมือนแวดวงอื่น การไม่ต่อต้านรัฐประหาร เมินเฉย หรือกระทั่งสนับสนุนเผด็จการ สร้างพัฒนาการใหม่ให้เผด็จการแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เผด็จการที่มีประชาชนสนับสนุนต่างกับเผด็จการที่ไม่มีประชาชนสนับสนุนอย่างไร

เผด็จการก็มันเหมือนอสูรกายฟาสซิสต์ที่มีแต่หัว ตัว แขน และมือถืออาวุธ องคาพยพนี้ทำลายล้างระบอบเดิมได้ ฆ่าประชาชนได้ แต่ไม่มีศักยภาพจะเดิน เพราะไม่มีขา ต้องบังคับคนให้แบกหามไว้ ข่มขู่ให้หวาดกลัวและพากันเดินไป มันต่างกันมากกับการมี ‘ขาของตนเอง’ เดินได้เอง ประชาชนก็คือ ขาที่แข็งแรงของระบอบการปกครองทุกระบอบ ไม่เว้นแม้ระบอบเผด็จการ เพียงแต่ระบอบประชาธิปไตยให้เกียรติแก่ความเป็นมนุษย์ และให้สิทธิประชาชนเลือกหัวของตนเอง

 

โดยธรรมชาติ มันไม่ควรมีประชาชนที่สนับสนุนเผด็จการ ยอมเป็น ‘ขา’ ให้ ทั้งที่ตนก็เป็นเหยื่อ พวกเขาสนับสนุนการรัฐประหาร ส่วนที่ไม่สนับสนุนก็ใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว ส่วนที่ไม่กลัวก็สิ้นสภาพประชาชนกลายเป็นศัตรูของชาติ ถูกทำลายล้าง สถานการณ์บ้านเราเป็นเช่นนี้ ตนเองไม่เคยเห็นเผด็จการที่สมบูรณ์แบบเช่นนี้มาก่อน รัฐประหารแล้วมีความชอบธรรม มีใบอนุญาตด้วยการสนับสนุนโดยประชาชนที่มียีนส์เผด็จการในจิตวิญญาณ โดยเชื่อในพวกพ้องตนเอง เชื่อว่าเหล่าเผด็จการนั้นคือคนดี

เสียงสนับสนุนเผด็จการของประชาชนเหล่านั้น คือขาที่แข็งแรง ทำให้ระบอบเดินได้ เมื่อมีประชาชนสนับสนุนเผด็จการ ทำให้เติมเต็มสมบูรณ์แบบเท่าที่เมืองไทยจะมีมา เดินเองได้ ทำเรื่องเลวร้ายแค่ไหนก็มีคนชื่นชม สิ่งไม่อาจขวางได้เลยคือ การตรวจสอบจับผิดสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น กลไกตรวจสอบกลายเป็นองคาพยพหนึ่งของเผด็จการไปก่อนหน้า เสียงการตรวจสอบของประชาชนเป็นอันเดียวที่กำหนดทิศทางไม่ได้ แต่ความหวังสุดท้ายก็หลุดลอยไป การตรวจสอบนี้แม้ยังมีอยู่ แต่ ‘ขา’ ก็จะขยับปกป้องหัวทันที ทำให้การตรวจสอบถูกลดทอนความสำคัญ ความน่าเชื่อถือ กลายเป็นแค่เสียงของคนติดต่างจากอำนาจรัฐเท่านั้น

เขาสร้างประชาธิปไตยปลอม ออกกฎหมายบิดเบี้ยว แต่งตั้งพวกพ้อง ไม่ว่าจะเถื่อนหรือทรามเพียงใดก็ได้รับสนับสนุนจาก ‘ขา’ อยู่ดี สามารถขโมยเงินภาษีทุกวี่วัน ไร้หนทางแก้ไข เพราะเสียงประชาชนกลุ่มนั้นคือใบอนุญาตความชอบธรรม แต่เราไม่เคยถามว่า ถ้ามีคนมอบใบอนุญาตนั้นให้ แล้วประชาชนที่ต่อต้านจะมีสภาพเป็นเช่นไร

คำตอบคือ เป็นเช่นคนเสื้อแดงปี 2553 พวกเขาตายเกือบร้อยศพ การฆ่าที่เกิดจากการจงใจฆ่า ประชาชน ‘ขา’ ยังคงสนับสนุนหรือสะใจต่อปฏิบัติการนั้น และสิบปีผ่านมาไม่เกิดอะไรขึ้นกับเหตุการณ์นั้น เพราะยังเป็นเผด็จการภายใต้หน้ากากประชาธิปไตยปลอมๆ

 

ความจริงทุกประเทศ ประชาชนก็ล้วนคิดต่าง ซ้ายจัด ขวาจัด มีอยู่ทั่วไป รวมทั้งความคิดทางการเมืองแนวอื่น แต่ความคิดขวาจัด ซ้ายจัดก็เป็นความคิดหนึ่งที่ไม่ใช่ระบอบชี้นำประเทศ เป็นเพียงแนวคิดหรือวิสัยของบุคคลเท่านั้น และไม่มีปัญหาถ้ารวมอยู่ในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเปิดพื้นที่  สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยอาจทำให้บุคคลรู้สึกถึงแรงเสียดทานบ้าง เป็นปกติของการอยู่ร่วม แต่เหตุผลที่เราต้องอดทนต่อความเห็นที่ไม่เหมือนเราก็เพื่อไม่ต้องฆ่ากัน หันมารับฟังกันและกัน เคารพต่อระบอบกติการ่วมกัน แต่จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิง หากไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย และยิ่งพังพินาศหากประชาชนเห็นดีเห็นงามกับเผด็จการ เพราะจะไม่มีการฟังเสียงกัน และไร้มนุษยธรรมต่อประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ

ในศตวรรษของเรา ความเจ็บปวดที่สุดของประชาชนคือ การออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วถูกล้อมฆ่าโดยความจงใจของรัฐ ย้ำว่า "ความจงใจของรัฐ" ไม่ใช่ประมาทหรือผิดพลาดในหน้าที่ การเรีกร้องทวงถามความยุติธรรม หากมีกลุ่มคนที่คาดหวังได้ว่าจะเรียกร้องคามยุติธรรมให้เหยื่ออธรรม ไม่น่าแปลกใจที่นักเขียนจะเป็นความคาดหวังนั้น นี่ไม่ใช่ชี้สุ่มอย่างเลื่อนลอยว่าใครควรรู้สึก นักเขียนแต่ละคนมักประกาศตัวตนจุดยืนมาเนิ่นนานผ่านงานเขียน วรรณกรรมสร้างสรรค์และเมื่อมองดูภาพรวมงานเขียนสร้างสรรค์ของไทยเอียงซ้ายมากกว่าเอียงขวา ในแวดวงวิชาการดูจะมีจุดยืนอนุรักษ์นิยมจำนวนมากกว่า

แม้งานของนักเขียนจำนวนมาก จะเห็นด้วยกับประชาธิปไตย แต่มันก็เป็นเฉพาะในงานเขียน แต่ตัวบุคคลอาจสวนทาง แม้น่าประหลาดใจแต่เข้าใจได้ไม่ยาก ถึงเวลาต้องยอมรับว่า งานเขียนพิสูจน์เฉพาะตัวผลงาน ไม่ได้พิสูจน์ตัวตนคนเขียน แวดวงนักเขียนก็เหมือนแวดวงอื่น มีระบบอุปถัมภ์ฝังรากมาเนิ่นนาน การเมืองกระทบกับทุกแวดวง ระบบอุปถัมภ์ขนาดเล็กสอดรับกับระบบอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ของประเทศพอดิพอดี ดังนั้น ไม่ว่าจะเขียนงานอย่างไร พวกเขายินดีจะเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอุปถัมภ์ใหญ่ และกลายเป็น ‘ขา’ ของเผด็จการ

 

พวกเรารู้ดีว่านักเขียนไม่ได้กลายเป็น ‘ขา’ ทั้งหมด หลังเหตุการณ์ล้อมฆ่าประชาชนปี 2553 นักเขียนกลุ่มหนึ่งทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย ทวงความยุติธรรมให้ประชาชน พวกเขาเข้าใจสถานภาพตนเองและประกาศจุดยืนไม่เป็นส่วนหนึ่งของแวดวงนักเขียน ซึ่งต้องทำใจเพราะย่อมถูกมองเป็นศัตรูของรัฐ สิบปีที่ผ่านมาถึงวันนี้ ยังไม่มีใครได้รับควาเป็นธรรม และสถานการณ์ดูจะไหลไปสู่จุดต่ำลงเรื่อยๆ เหมือนว่า "เราควรจะสิ้นหวังกันได้แล้ว"

เมื่อต่อสู้ ประชาชนมักจะพ่ายแพ้เผด็จการทุกครั้ง แต่ก็แปลกและยากจะเข้าใจ ภายใต้เวลาที่เคลื่อนไปเรื่อยๆ ความหวังกลับงอกเงยตลอดเวลา และดำเนินสม่ำเสมอ คนรุ่นใหม่ที่ไม่ยินยอมเป็น ‘ขา’ ของฟาสซิสม์ได้เติบโตโดยไม่ได้นัดหมาย นักเขียนที่ไม่เป็น ‘ขา’ ของเผด็จการก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีอะไรน่ายินดีไปกว่าจำนวน ‘ขา’ ของฟาสซิตม์ที่ลดลงเรื่อยๆ ความหวังที่เคยสิ้นไปหลายต่อหลายครั้งจึงงอกเงยขึ้นเรื่อยๆ