ไม่พบผลการค้นหา
'นิกร' ฟังความเห็น สว. ต่อคำถามประชามติทำ รธน. ใหม่ เดือนหน้าเตรียมถก 'พริษฐ์-ก้าวไกล' คาดต้นปี 67 จ่อเสนอรัฐบาล มองคำถามควรง่าย-ชัดเจน ย้ำต้องมี สสร. เพื่อให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของ รธน.

วันที่ 30 ต.ค. ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  

โดย นิกร จำนง ประธานอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่า วันนี้ (30 ต.ค.) มาร่วมประชุมเพื่อนำคำถามที่ตั้งเป็นคำถามตุ๊กตาจำลอง มาให้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา และขอให้ร่วมกันตั้งคำถาม เพื่อไปถามสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด เนื่องจาก สว. มีส่วนในการลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้ทราบแนวทางว่า ถ้าส่งมาแล้วจะรับหรือไม่ 

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอเปิดสมัยประชุมสภา จะได้ส่งคำถามไปให้ จากนั้นจะรวบรวมสรุปออกมา และในวันที่ 2 พ.ย.จะหารือกับ พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน แต่ความเห็นของทั้งทางวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรน้ำหนักจะต่างกัน 

นิกร ระบุด้วยว่า อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องไปพูดคุยคือพรรคก้าวไกล เพราะพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับหลักการนี้ เพื่อฟังความเห็นตรงที่ไม่เห็นด้วยและหาแนวทางคลี่คลาย และในวันที่ 8 พ.ย. 2566 จะมีการรับฟังเยาวชนคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษา ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการทำเป็นโฟกัสกรุ๊ป โดยจะมี ภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ ร่วมรับฟังด้วย 

หลังจากนั้น จะเดินสายรับฟังความเห็นแต่ละภาค รับฟังเกษตรกรและชาวชนบทที่ภาคอีสาน จ.สกลนคร หลังจากนั้นจะภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ฟังความเห็นเมืองท่องเที่ยวและชาติพันธุ์ ตามด้วยไปภาคตะวันออกในมุมมองของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรรม สุดท้ายวันที่ 7 ธ.ค. 2566 จะลงไปฟังความเห็นพี่น้องชาวมุสลิมและเขตชายแดนที่ภาคใต้ ซึ่งเมื่อได้ความคิดเห็นครบทั้งหมดแล้วก็จะมีการสรุปในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค. และคงได้ข้อสรุปจากคณะใหญ่ในช่วงปลายสัปดาห์ และต้นปี 2567 ก็จะเสนอให้รัฐบาลได้


“สำหรับคำถามที่จะถามประชาชนต้องเป็นคำถามที่ง่ายๆ และชัดเจน แต่คำถามที่ว่าก็คงไม่ได้บอกว่าแก้มาตราไหน เพราะไม่ใช่หน้าที่ อย่างไรก็ตาม คำถามในมุมประชาชนจะถามว่าท่านจะแก้หรือไม่ แก้ในส่วนไหน จะได้เอาเหตุผลในการแก้รวบรวมตรงนี้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการ เป็นหน้าที่ของ สสร.ที่จะทำ ส่วนที่เป็นประเด็นที่ สสร.มาจากไหน ก็ไม่ใช่เรื่องที่คณะกรรมการชุดนี้จะตัดสินใจ เพราะเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการที่จะตั้งในวาระที่ 1 จะต้องเป็นคนคิด” นิกร กล่าว


ส่วนการพูดคุยกับ สว.ที่บางคนไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับและควรแก้บางมาตรานั้น นิกร กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองและฝ่ายรัฐบาลที่เลือกจะแก้ทั้งฉบับโดยเว้นหมวด 1 และ 2 เราอยากให้รัฐธรรมนูญชุดนี้เป็นของประชาชน การแก้เพียงรายมาตราไม่ได้มาจากประชาชน 


"การมี สสร.คือการให้มีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ นี่คือความแตกต่าง ไม่ใช่แก้ไม่ได้ เป็นรายมาตราก็แก้ได้ แต่ต้องการให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ เพราะหลักการไม่ใช่หลักการในตัวมาตรา แต่เป็นหลักของรัฐธรรมนูญที่ควรจะมาจากไหน ซึ่งส่วนนี้จะต้องทำความเข้าใจ เราไม่ใช่จะแก้ 200-300 มาตรา แต่ถ้าเราแก้หลายจุด มาตราจะเคลื่อน แต่ถ้าแก้เป็นรายมาตรา มาตราจะล็อก แก้ยาก" นิกร ระบุ