ไม่พบผลการค้นหา
อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. เชื่อยิ่งใช้กฎหมายปิดปากฝ่ายเห็นต่าง หวังสร้างบรรยากาศความกลัว ผู้คนยิ่งเสื่อมศรัทธากระบวนการยุติธรรม แนะเปิดพื้นที่ถกเถียงประเด็น ม.112

จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางเขน ดำเนินคดี ม.112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ต่อ 'อานนท์ นำภา' และพวก ซึ่งปรากฎชื่อของ 'ทราย-อินทรา เจริญปุระ' ดารานักแสดงชื่อดัง เป็นหนึ่งในผู้ถูกออกหมายเรียกร่วม กรณีชุมนุมบริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 11

ซึ่งการชุมนุมราษฎรในช่วงที่ผ่านมา 'ทราย' ถือว่ามีบทบาทสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้กลุ่มมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรมมาโดยตลอด ทว่า ในวันนั้น เธอไม่ได้ขึ้นปราศรัยแต่อย่างใด

'สาวตรี สุขศรี' อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ ให้ความเห็นกับ 'วอยซ์' ว่าการดำเนินคดี ม.112 ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองชัดเจน เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มักใช้ ม.116 ฐานยุยงปลุกปั่น ซึ่งต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 7 ปี กับตัวแกนนำหลายคน แต่ไม่สามารถหยุดกระแสการเคลื่อนไหวได้ จึงนำกฎหมาย ม.112 กลับมาด้วยการ 'ขยายเอาผิด' ต่่อแนวร่วมรายอื่นๆ เพื่อสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวให้กลับผู้ชุมนุม

สำหรับผลที่ตามมาของกระบวนการยุติธรรมต่อการใช้คดีร้ายแรงกับแนวร่วมหลายสิบคนนั้น อาจารย์จากนิติศาสตร์ มธ. ชี้ว่าผู้คนยิ่งจะเสื่อมศัทธาต่อกฎหมาย ม.112

สาวตรียังตั้งข้อสังเกตต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจมีความกังวลว่า หากไม่ดำเนินคดีจะถูกกล่าวหา 'ไม่จงรักภักดี' จากผู้สนับสนุน ม.112 จึงต้องรับเป็นคดีแม้ว่าจะไม่มีมูลความผิดเพียงพอ

"ช่วงหลังปี 2549-2557 มีการใช้คดี ม.112 เยอะมากกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งตอนนั้นยิ่งใช้คนยิ่งกลัว เพราะมีการใช้กันอย่างจริงจัง ต้องยอมรับว่ากระแสตอบรับ ม.112 ของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ไม่เหมือนกัน ในยุคนี้คงมีนโยบายให้นำกลับมาใช้เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวม็อบ" สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ ระบุ

ต่อคำถามว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์ยังสอดคล้องกับข้อถกเถียงเรื่องการใช้ ม.112 ในปัจจุบันหรือไม่ ส่วนตัว 'สาวตรี' มองว่าบริบทต่างกัน ยุคก่อนยังพอประนีประนอมกันได้ ว่าต้องมีกฎหมายคุ้มครองบุคคลพิเศษ แต่ควรแก้เป็นโทษหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป และเรื่องเสนอยกเลิก ม. 112 ก็ถูกพูดมานานแล้ว แต่ยังไม่มีกลุ่มไหนเสนอเป็นรูปธรรมเท่านั้น 

ทั้งนี้ยังเสริมอีกว่าการยกเลิก ม.112 นั้น ยังมีความลักลั่น เพราะยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด เนื่องจากต้องแก้กฎหมายอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้องกับคดีหมิ่นประมาท อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะยกเลิกหรือแก้ไข ต้องมีพื้นที่การถกเถียง เปิดโอกาสให้ทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน ม.112 เพื่อหาทางออกให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด

อ่านเพิ่มเติม