ไม่พบผลการค้นหา
สีจิ้นผิงจ่อปราบมหาเศรษฐี ชูนโยบายปรับฐานรายได้ กระจายความมั่งคั่ง จัดการกับความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ

สำนักข่าวซินหัว เผยแพร่บทความที่ระบุว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำจีนได้ให้คำมั่นสัญญาในนโยบายใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยแผนการณ์ที่เตรียมให้ลดช่องวางทางเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างระหว่างคนรวยกับคนจน เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมจีนกลายเป็นสังคมที่รวยกระจุกจนกระจายยิ่งกว่าที่เป็นอยู่

ตามรายงานของสื่อกระบอกเสียงจีนระบุว่า จากการประชุมเมื่ออังคารที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสีได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในการประชุมคณะกรรมการด้านการเงินและเศรษฐกิจกลางของพรรคคอมมิวนิตส์ว่า รัฐบาลควรควบคุมรายได้ที่สูงเกินไปของคนบางกลุ่ม และสนับสนุนให้กลุ่มที่มีฐานะรายได้สูง หรือวิสาหกิจเอกชนที่ร่ำรวยมีผลประกอบการเติบโต ต้องทำการ "คืนกำไรสู่สังคม" ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคม

ผู้นำจีนยังเรียกร้องให้คณะกรรมการด้านการเงินออกมาตรการที่ส่งเสริมให้ประชาชนจีนมี "ความเจริญและมั่งคั่งร่วมกัน" โดยให้นโยบายนี้เป็นวาระสำคัญต่อพรรคและการทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างจีนในอนาคตให้เป็นชาติที่ "พัฒนาอย่างเต็มที่ มั่งคั่ง และมีอำนาจ" ภายในปี 2592 ซึ่งจะตรงกับวาระครบรอบ 100 ปี ของการสถาปนาสาธาณรัฐประชาชนจีน

“ความรุ่งเรืองร่วมกันคือความเจริญรุ่งเรืองของทุกคน ไม่ใช่ความเจริญของคนเพียงไม่กี่คน”

ปธน.สีกล่าวระหว่างการประชุมด้านเศษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งการประชุมนี้จะถูกจัดขึ้นทุก 3 เดือนเพื่อกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม รายของซินหัวไม่ได้ลงรายละเอียดว่า รัฐบาลปักกิ่งมีแผนบรรลุเป้าหมายนี้อย่างไร ระบุเพียงว่ารัฐบาลอาจนำระบบภาษีหรือวิธีอื่นมาใช้เพื่อกระจายรายได้และสร้างความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายของภาษีเหล่านี้คือบรรดามหาเศรษฐีคนรวยทั้งหลายในจีน

จากข้อมูลการจัดอันดับมหาเศรษฐีโดยฟอร์บส์ประจำปี 2021 พบว่า จีนมีมหาเศรษฐีที่รวยระดับพันล้านดอลลาร์ (Billionaires) ไม่น้อยกว่า 600 คน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีกว่า 1,400 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราส่วนมหาเศรษฐี 1.853 ต่อประชากรล้านคน นักวิเคราะห์เชื่อว่า ที่ผู้นำจีนมีท่าทีดังกล่าวออกมา ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ของประชากรจีนที่เริ่มห่างมากขึ้น คนรวยก็รวยขึ้น คนรายได้ต่ำยังมีอีกไม่น้อยที่ไม่สามารถขึ้นพ้นเส้นความยากจน โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยประชากรกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุด 20% มีรายได้มากกว่ากลุ่มคนยากจนสูงถึงกว่า 10 เท่า โดยเฉพาะช่องว่างความมั่งคั่งระหว่างชาวจีนที่อาศัยแถบฝั่งตะวันออกของประเทศ กับชาวจีนที่ผู้แถบฝั่งตะวันตกของประเทศที่ยังมีช่องว่างด้านรายได้ที่สูงมาก กล่าวคือชาวจีนที่อาศัยและทำงานตามหัวเมืองใหญ่ฝั่งตะวันออกของประเทศ มีอัตรารายได้ต่อหัว สูงกว่าชาวจีนที่อาศัยในแถบตะวันตกของประเทศซึ่งโดยมากเป็นชนกลุ่นน้อย

เป็นที่น่าสังเกตว่าสีจิ้นผิง เริ่มให้ความสำคัญกับการกระจายความมั่งคั่งไปสู่เป้าหมายด้านเศรษฐกิจที่กว้างขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายปราบปรามกิจการในกลุ่มเทคโนโลยี การเงิน การศึกษา รวมถึงส่วนอื่นๆ อาทิ กรณีการแทรกแซงการเข้าซื้อขายหุ้นไอพีโอในตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ของแอนท์กรุ๊ป ในเครืออาลีบาบา เช่นเดียวกันการออกมาตรเพื่อควบคุมกิจการโรงเรียนกวดวิชาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา 

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2562 โดยศาสตราจารย์ โธมัส พิเกตตี้ แห่ง Paris School of Economics ชี้ว่า ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ในหมู่ประชาชนจีน 1.4 พันล้านคนได้เพิ่มขึ้นในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา 10% แรกของประชากรทั้งประเทศซึ่งเป็นกลุ่มคนร่ำรวย ครอบครองความมั่งคั่งของประเทศกว่า 41% ในปี 2558 เพิ่มขึ้นจาก 27% เมื่อปี 2521

ในปี 2564 นี้ รายได้เฉลี่ยต่อประชากรของชาวจีนในนครเซี่ยงไฮ้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่ 7,058 หยวนต่อเดืนอ สูงกว่า 4,021 หยวนสำหรับผู้ที่อยู่ในเมืองอื่นๆทั่วประเทศ และสูงกว่า 1,541 หยวนสำหรับผู้อยู่อาศัยในชนบท

รัฐบาลจีนอ้างว่าได้ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงในประเทศเมื่อปลายปีที่แล้ว นั่นถือเป็นก้าวแรกในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาระยะยาวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในวาระครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

ที่มา: CNBC , CNN, TheGuardian