ในการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA ที่เป็นความร่วมมือจาก 2 กระทรวงหลัก คือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ชี้ว่าปัจจุบันแม้มาตรการคลายล็อกดาวน์ที่ออกมาจะยังไม่เปิดโอกาสให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมด แต่การพูดคุยกับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
รมว.ท่องเที่ยวฯ เผยว่า ปัจจัยหลักที่จะดึงให้นักท่องเที่ยวกลับมานั้น นอกจากคุณภาพในฝั่งการท่องเที่ยวของไทยมีที่อยู่ตั้งแต่ก่อนเจอวิกฤตโรคระบาด ก็คือความปลอดภัยของสุขภาพ หรือเป็นการท่องเที่ยวบนความปรกติใหม่ จึงเป็นที่มาให้เกิดการบูรณาการงานร่วมกับ สธ.ในมิติของมาตรฐานความปลอดภัยทั้งผู้ให้บริการและฝั่งผู้ใช้บริการ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับ SHA นั้น จะเน้นส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการกับธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 10 ประเภท ได้แก่
1. ประเภทภัตตาคาร/ร้านอาหาร
2. ประเภทโรงแรม/ที่พักและสถานที่จัดประชุม
3. ประเภทนันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว
4. ประเภทยานพาหนะ
5. ประเภทบริษัทนำเที่ยว
6. ประเภทสุขภาพและความงาม
7. ประเภทห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า
8. ประเภทกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว
9. ประเภทการจัดกิจกรรม การจัดประชุม (MICE) โรงละคร โรงมหรสพ
10.ประเภทร้านค้าของที่ระลึกและร้านค้า อื่นๆ
โดยได้มีมาตรฐานเบื้องต้นจากกรมควบคุมโรคของทุกสถานประกอบการ มี 3 องค์ประกอบ คือ 1.สุขลักษณะอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีอยู่ในอาคาร 2.การจัดอุปกรณ์ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และ 3.การป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ในแต่ละธุรกิจก็จะมีมาตรการและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพิ่มเติมแตกต่างกันออกไป แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุดตลอดเส้นทางการท่องเที่ยว
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในช่วงท้ายว่า มาตรการต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ข้อบังคับที่บังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องทำตาม หากไม่ทำตามแล้วจะมีโทษตามมาแต่อย่างใด แต่เป็นความพยายามในการยกระดับการท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความสบายใจที่จะออกมาท่องเที่ยวและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัวซึ่งสุดท้ายประโยชน์ก็จะกลับไปตกอยู่ที่ตัวผู้ประกอบการเอง
สำหรับขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการในการขอรับตราสัญลักษณ์ SHA นั้น สามารถเริ่มทำได้จากการที่สถานประกอบการเข้าไปศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขในแต่ละธุรกิจได้ที่เว็บไซต์ของ ททท. และสามารถติดต่อไปได้ที่สมาพันธ์ที่เป็นพีนธมิตรต่างๆ เพื่อยื่นความประสงค์เข้ามา จากนั้นสมาพันธ์เหล่านั้นจะยื่นเรื่องเข้ามาให้ ททท.เป็นผู้ตรวจสอบ ก่อนจะประกาศผู้ผ่านมาตรฐาน SHA และหลังจากนั้นก็จะมีการสุ่มตรวจตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ได้รับตรานั้น
นายพิพัฒน์ ปิดท้ายถึงกรณีกระแสการกลับมาเปิดสนามมวยว่า แท้จริงแล้วอยากให้ทำความเข้าใจกับความยากลำบากที่เหล่านักกีฬาต้องเผชิญ เพราะว่านักกีฬาเหล่านี้ไม่ได้มีอาชีพอื่นมารองรับ และการจัดการแข่งขันก็อาจทำได้โดยยังไม่ต้องเปิดให้ผู้ชมเข้าไปดู ให้เป็นการแข่งในระบบปิดไป เพราะอย่างน้อยก็จะทำให้นักกีฬาได้มีงานทำ อย่างไรก็ตาม รมว.ท่องเที่ยวย้ำว่า ไม่ได้มีแค่นักกีฬามวยเท่านั้นที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ทุกฝ่ายก็ได้รับความเดือดร้อนกันหมด โดยส่วนถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้กลับมาเปิดเศรษฐกิจต่างๆ ให้มากขึ้น บนพื้นฐานของการยังรักษามาตรฐานความปลอดภัยเอาไว้