ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นประเพณีฤดูร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในบริเวณเทือกเขาแอลป์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จะต้อนวัวนับหมื่นตัวจากฟาร์มด้านล่างขึ้นไปกินหญ้าในทุ่งหญ้าบนภูเขา และต้อนลงมาในช่วงนี้ที่ฤดูร้อนกำลังจะจบลง
ในรูปเป็นวัวที่ได้รับบาดเจ็บกำลังบินสูง 1,950 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ใกล้บริเวณช่องเขาเคลาเซน (Klausen Pass) เกษตรกรที่สวิตเซอร์แลนด์ใช้เฮลิคอปเตอร์ในการขนส่งวัวที่ได้รับบาดเจ็บลงมาจากภูเขา และใช้ในกรณีที่รถยนต์เข้าถึงได้ยากหรือไม่สามารถเข้าถึงได้
ภาคเกษตรกรรมของสวิตเซอร์แลนด์มีขนาดเล็กมาก มีการจ้างงานเพียงแค่ 4% เท่านั้น และมีมูลค่าแค่ 1% ของ GDP ทั้งหมด โดยครึ่งหนึ่งเป็นการเลี้ยงปศุสัตว์ อย่างไรก็ตามเกษตรกรรมในสวิตเซอร์แลนด์มีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคในสวิตเซอร์แลนด์ให้คุณค่าเป็นอย่างมาก
ในช่วงปี 1990s หลังจาก 36% ของประเภทสัตว์ป่าสูญพันธุ์ และอีก 60% ของสัตว์ที่เหลืออยู่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ ปัญหาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพผลักดันให้รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์เริ่มปฏิรูปเกษตรกรรม วางบทบาทและหน้าที่ของภาคเกษตรกรรมให้ดูแลความมั่นคงทางอาหารของประเทศ โดยเปลี่ยนวิธีการให้เงินสนับสนุนเกษตรกร จากที่เคยให้เงินตามราคาตลาดและผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้ กลายมาเป็นให้เงินอุดหนุนโดยไม่ดูปริมาณผลผลิต หากแต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตและการทำเกษตรกรรมที่จะต้องเป็นการทำเกษตรอย่างยั่งยืน
นี่คือความพยายามของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ในการลดการแทรกแซงของตลาดและเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตั้งเป้าหมายให้ภาคเกษตรกรรมมีหน้าที่รักษาความมั่งคงทางอาหาร ทำการเกษตรแบบยั่งยืนโดยจะต้องรักษาดินให้อุดมสมบูรณ์และรักษาน้ำให้สะอาดดื่มได้ นอกจากนี้เกษตรกรยังมีหน้าที่ดูแลรักษาภูมิทัศน์ และพื้นที่ชนบทด้วย
เกษตรกรได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อทำตามเงื่อนไขการทำเกษตรที่จะบรรลุเป้าประสงค์ข้างต้นผ่านระบบจ่ายตรง (Direct Payment) เกษตรกรในแต่ละพื้นที่จะได้รับเงินอุดหนุนแตกต่างกันไปตามความยากลำบากของพื้นที่ในการทำเกษตร นอกจากสวัสดิภาพของสัตว์แล้ว ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกษตรกรจะต้องปฏิบัติตามเพื่อที่จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของพืชจะต้องมีปริมาณไนโตเจนและฟอสฟอรัสเป็นไปตามข้อกำหนด จะต้องดูแลรักษาดิน และรักษาระบบนิเวศรอบบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมของตัวเองให้ใกล้เคียงกับภาพตามธรรมชาติเดิมให้มากที่สุด เป็นต้น
เคยมีจุดหนึ่งที่เงินอุดหนุนของรัฐบาลมากเกือบเท่ารายได้ที่เกษตรกรได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตร จนตลาดแทบไม่ใช่แรงจูงใจของเกษตรกรอีกต่อไป ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามในการปรับนโยบายเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการเปิดให้มีการแข่งขันทางการตลาดมากขึ้น แต่ก็ยังรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืนทางอาหารไว้ด้วย
แม้ทุกวันนี้เงินสนับสนุนจะมีแนวโน้มลดลง แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว เงินสนับสนุนเกษตรกรรมของสวิตเซอร์แลนด์ก็ยังสูงกว่าอยู่ดี แต่ก็มีเงื่อนไขที่เกษตรกรจะต้องปฏิบัติตามที่เข้มงวดมากที่สุดเช่นกัน
....
รับชมคลิปวิวบิน: https://www.facebook.com/VoiceOnlineTH/videos/197653442431354
อ้างอิง:
https://www.oecd-ilibrary.org/sites/05024436-en/index.html?itemId=/content/component/05024436-en