ไม่พบผลการค้นหา
ยิ่งรัฐบาลแต่ละประเทศทุ่มเงินช่วยเศรษฐกิจตนเองมากแค่ไหน โลกยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำของความรวยกับความจนมากขึ้น ประเมินกันว่า โรคระบาดรอบนี้รัฐบาลทั่วโลกทุ่มเงินรวมกันราว 258 ล้านล้านบาท แก้ปัญหา ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์แนะใช้นโยบายให้เหมาะกับสภาพการเงิน

วิกฤตโรคระบาดในปัจจุบันส่งให้รัฐบาลทั่วโลกต้องทุ่มเงินไปแล้วกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 258 ล้านล้านบาท ที่ชัดเจนแล้วว่าไม่เพียงพอในการโอบอุ้มเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เม็ดเงินดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจน 

ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยว่าประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนี และ อิตาลี ใช้งบไปแล้วอย่างต่ำร้อยละ 30 ของจีดีพี เพื่ออัดฉีดสภาพค่องเข้าระบบ ผ่านทั้งการแจกจ่ายเงินรวมไปถึงการเพิ่มสินเชื่อธุรกิจ ขณะที่ประเทศเปราะบางในแถบแอฟริกาหรือลาตินอเมริกามีงบใช้จ่ายไม่ถึงหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยซ้ำไป

'ชัว ฮัก บิน' นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จากสถาบันวิจัยเมย์แบงก์ กิมเอ็ง ในสิงคโปร์ ชี้ว่า นโยบายการคลังทั่วโลกที่ออกมาสนับสนุนเศรษฐกิจนั้นมีความแตกต่างกันออกไป เพราะขณะที่ 'บาซูก้า' ถูกใช้เป็นเรื่องปกติในประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ในประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่มีได้เต็มที่ ก็แค่ 'ปีนฉีดน้ำ'

ด้าน 'กิต้า โกปิเนธ' หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากไอเอ็มเอฟ ออกมาย้ำเตือนและแสดงความกังวลเกี่ยวกับช่องว่างในการปรับใช้นโยบายโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งแทบจะไม่มีพื้นที่ทางนโยบาย (policy space) เหลือมากแล้ว 

ไอเอ็มเอฟ - กิตา โกปิเนธ
  • 'กิต้า โกปิเนธ' หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากไอเอ็มเอฟ

ตัวเลขเม็ดเงินจากหนังสือค้ำประกันจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศสที่มีมูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9.6 ล้านล้านบาท และสเปนที่มีมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความสามารถของแต่ละประเทศที่จะใช้เงินดูแลเศรษฐกิจในสถานการณ์นี้

เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่ใช้งบมากกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 74 ล้านล้านบาท ไปกับนโยบายบาซูก้าหรือนโยบายอัดฉีดเศรษฐกิจของตนเอง แต่ประเทศแอฟริกาใต้กลับมีงบช่วยเศรษฐกิจภายในเพียงแค่ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 840,000 ล้านบาท เท่านั้น


คำแนะนำจาก 'ไอเอ็มเอฟ'

ในบทความจากเว็บไซต์ไอเอ็มเอฟที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการคลังและการแก้ปัญหาความเสียหายจากโควิด-19 มีคำแนะนำไว้ว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ควรบังคับใช้นโยบายการคลังโดยคำนึงถึง 3 ประเด็นต่อไปนี้

1. เน้นความช่วยเหลือไปที่ครัวเรือนให้เข้าถึงสินค้าและบริการพื้นฐานรวมไปถึงคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม และเพื่อป้องกันผลกระทบถาวรที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ รัฐบาลต้องสนับสนุนธุรกิจต่างๆ เพื่อลดการปลดคนงานและการล้มละลาย

2. ปรับใช้ทรัพยากรในหนทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในช่วงเวลาสั้นๆ และต้องแสดงรายงานการใช้จ่ายในปีงบประมาณต่อๆ ไป โดยย้ำว่า ผู้กำหนดนโยบายต้องใช้นโยบายให้ได้มากที่สุด แต่ต้องไม่ลืมที่จะเก็บหลักฐานต่างๆ เอาไว้เพื่อการตรวจสอบด้วย

3. รัฐบาลจำเป็นต้องประเมินถึงความเสี่ยงทางการคลังอย่างใกล้ชิดด้วย เนื่องจากไม่ใช่ทุกนโยบายจะมีผลกระทบโดยทันที 

พร้อมกันนี้ยังแนะนำหนทางในการปกป้องชีวิตประชาชน โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ว่า ตัวเลือกอย่างการแจกเงินประชาชนแล้วใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาตรวจสอบหรือการจัดเตรียมอาหารและยารักษาโรคเป็นสิ่งที่ทำได้ เช่นเดียวกับมิติเรื่องการผ่อนปรนภาษีในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก อาทิ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมโรงแรม หรือร้านอาหารต่างๆ ซึ่งจะช่วยเรื่องสภาพคล่องให้กับธุรกิจ

อ้างอิง; Bloomberg, IMF, Investopedia

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;